เศรษฐกิจโคม่า ค้าปลีก 4.4 ล้านล้าน ลุ้นวัคซีน “ดิจิทัลวอลเล็ต”

28 ส.ค. 2567 | 02:09 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2567 | 02:17 น.

ดัชนีความเชื่อมั่นไทยทรุดตัวจากพิษเศรษฐกิจ ฉุดค้าปลีก 4.4 ล้านล้านบาท พลาดเป้าหมาย คาดทั้งปีโตแค่ 2-5% “นักวิชาการ” ชี้ครึ่งปีแรกฟื้นตัวช้า ขยายตัวแค่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภาคกลาง “ผู้ประกอบการ” ย้ำเศรษฐกิจโคม่า ลุ้นวัคซีนดิจิทัลวอลเล็ต ช่วยกระตุ้นไตรมาสสุดท้าย

รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า GDP ในไตรมาส 2 ของปี 2567 มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 2.3 แต่สถานการณ์โดยภาพรวมของไตรมาส 3 และไตรมาส 4 อาจจะหนักกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ เพราะดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจค้าปลีกและการบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ในครึ่งปีหลังอาจจะซบเซากว่าครึ่งปีแรก

โดยตัวเลขของดัชนีความเชื่อมั่น (RSI) จาก 58.2 จุดในเดือนธันวาคม 2566 ลดลงมาอยู่ในระดับ 43.0 จุดในเดือนมิถุนายน 2567 การฟื้นตัวคงต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร เพราะผู้บริโภคยังกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและการเมือง

“อีสาน” น่าห่วงที่สุด

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีกและรองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โซนภาคกลาง ภาคตะวันออกและตะวันตก ที่มีปัจจัยบวกคือ มีโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรม สวนผลไม้ ถัดมาคือภาคเหนือที่ยังคงมีการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นพื้นที่ซึ่งฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่นๆ โดยเฉพาะร้านค้าจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และ SMEs ทำให้เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือน่ากังวลมากสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งในภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคตอนนี้ค่อนข้างเบาบาง

จากการสอบถามผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกของไทยในภาพรวมช่วงเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า 56% มีสต๊อกสินค้าสูงเกินความเหมาะสม และ 9% ที่มีสต๊อกสินค้าค้างนานเกินกว่า 1 ปี โดยปัจจัยที่ทำให้สต๊อกสินค้าสูงคือ คำสั่งซื้อน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 66% ตุนสินค้าไว้ล่วงหน้าเพราะกลัวต้นทุนสูง 17% ตุนสินค้าไว้เพราะคาดว่าคำสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้น 11% และมีอุปสรรคในการขนส่ง 6%

เศรษฐกิจโคม่า ค้าปลีก 4.4 ล้านล้าน ลุ้นวัคซีน “ดิจิทัลวอลเล็ต”

สินค้าอุปโภคบริโภคลดลงต่ำสุด

ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการควรเร่งทำในตอนนี้คือจัดโปรโมชั่นสินค้าเพื่อระบายสต๊อกที่เหลืออยู่ให้ได้ภายใน 3 เดือน ขณะเดียวกันยอดขายสินค้าทุกประเภทกลับมีแนวโน้มลดลง สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันลดลงต่ำสุดแล้ว ผู้บริโภคซื้อเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น สินค้าพรีเมี่ยมที่อยู่ในกลุ่มผู้บริโภคระดับรายได้ปานกลางก็มีแนวโน้มที่ลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ สินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างก็มียอดขายลดลง ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัว และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐล่าช้าโดยเฉพาะโครงการใหญ่

ดร.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ปกติการกระตุ้นเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลาย ทุกประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะใช้วัสดุอุปกรณ์และแรงงานภายในประเทศกว่า 90% แน่นอนว่าต้องมีกำลังซื้อจากผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังมีรถยนต์ที่กำลังซื้อหดตัวอย่างเห็นได้ชัด และประเทศไทยยังไม่มีปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้

“จะเห็นได้ว่าค้าปลีกและการบริการในครึ่งแรกของปี 2567 ฟื้นตัวช้าแบบกระจุกตัว กลุ่มค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้า แฟชั่นความงาม ไลฟ์สไตล์ ขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับค้าปลีกกลุ่มอื่นๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อในเมืองและซูเปอร์มาร์เก็ตที่สาขาตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคกลางจะขยายตัวได้เล็กน้อย ส่วนที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอย่างภาคเหนือและภาคใต้จะทรงตัว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงเล็กน้อย กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต กลุ่มค้าส่งค้าปลีกภูธร ยังคงเผชิญความยากลำบากอยู่

ลุ้นทั้งปีโต 2 - 5%

ส่วนในครึ่งปีหลังผู้ประกอบการต้องรู้ถึงสถานการณ์ของธุรกิจค้าปลีก และระมัดระวังเรื่องเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลงเพราะดอกเบี้ยก็จะไม่ลดลงด้วย กำลังซื้อจะยังไม่ฟื้นตัวและยังลดลง ถัดมาคือต้นทุนในการทำธุรกิจที่ยังปรับขึ้นสูงขึ้นต่อเนื่อง ยังมีผลกระทบจากการปรับค่าแรง 400 บาท/วัน รวมถึงงบประมาณภาครัฐเข้าสู่ระบบช้า และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ยังไม่ชัดเจน

“คาดการณ์ว่าในช่วงต้นปี 2567 ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท เติบโตราว 3 - 7 % แต่จนถึงวันนี้ คาดว่าครึ่งปีหลังจะเติบโตเพียง 2 - 5% โดยกลุ่ม Store-base retailing จะมีมูลค่าใกล้เคียงกับช่วงโรคระบาดโควิด-19 ส่วน Non-store retailing หรือร้านค้าออนไลน์ยังคงเติบโตได้ดี และที่เติบโตจะเป็นสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า ส่วนที่ไม่เติบโตเลยคืออาหาร ของกินของใช้ โดยสรุปภาคการค้าปลีกค้าส่งและบริการปี 2567 จะค่อยฟื้นตัวอย่างช้าๆ กรุงเทพฯและปริมณฑลจะเติบโตสูงที่สุด ต่างจังหวัดจะติดลบหรือทรงตัวเท่านั้น”

ลุ้นวัคซีน “ดิจิทัลวอลเล็ตหมื่นบาท”

ด้านนายวชิรวิชญ์ ศิริไชย นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และผู้บริหารบริษัท ศรีสมัย ซุปเปอร์สโตร์ จำกัด อ.เมือง จ.นราธิวาส กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งในตอนนี้ยังไม่มีปัจจัยบวก ผู้ประกอบการก็คาดหวังไม่อยากให้ธุรกิจทรุดตัวไปมากกว่านี้และจะหารือกันเพื่อจัดโครงการ “Local Low Cost” อีกครั้งในช่วงปลายปี แต่อาจจะต้องรอดูความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่จะเป็นความหวังของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายด้วย คาดว่าว่ารัฐบาลน่าจะมีโครงการกระตุ้นรออยู่แล้ว ขอแค่เร่งให้เร็วขึ้นจะช่วยได้มาก เพราะช่วงท้ายปีจะมีการท่องเที่ยวไฮซีซั่นเข้ามาช่วยผลักดันให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ขณะที่นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจไทยในตอนนี้เข้าขั้นโคม่า หากรัฐบาลยังไม่ทำอะไรเลยจะทรุดกันหมดทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ถือว่าเป็นโครงการที่ดีแต่ควรใช้ช่องทางเดิมที่เคยมีอยู่แล้วมาดำเนินการ ไม่ควรปรับเปลี่ยนให้เกิดความล่าช้าไปมากกว่านี้ เพราะอย่างน้อยจะช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบในครึ่งปีหลังและกระเตื้องเศรษฐกิจได้ช่วงระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากเงิน 1 หมื่นบาทถูกนำไปใช้จ่ายหมุนเวียนภายในประเทศจะช่วยกระจายรายได้อย่างทั่วถึง แต่หากถูกนำไปซื้อสินค้าข้ามประเทศหรือสินค้าจากจีนจะไม่เกิดประโยชน์อะไร ซึ่งรัฐบาลควรควบคุมมาตรฐานสินค้าอย่างเข้มงวดตอนนี้ด้วย