ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกและบริการ ที่คาดว่าจะมีมูลค่าราว 4.4 ล้านล้านบาท และเติบโต 3-7% เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเมื่อพบว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างโชว์ผลงาน สร้างผลประกอบการใน 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2567 เติบโตถ้วนหน้าทั้งรายได้และกำไรสุทธิ เหนือความคาดหมายที่หลายบริษัทตั้งเป้าไว้ ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ที่ฉุดรั้งกำลังซื้อ และสถานการณ์การเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี แรงส่งที่ผลักดันให้ทั้งอุตสาหกรรมค้าปลีกมีการเติบโตได้ดีมาจาก 4 ปัจจัยได้แก่ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น โดยพบว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่า 17.5 ล้านคน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการค้าปลีกต่างมีการลงทุนเพื่อขยายสาขาเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์มากขึ้นด้วย และการจัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดขายในไตรมาส 2 นอกจากนี้ยังมีมาตรการของภาครัฐ “Easy - E receipt” ที่ออกมากระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เปิดเผยว่า ภาพรวมของซีอาร์ซีในครึ่งปีแรกพบว่ามีรายได้ 130,424 ล้านบาท เติบโต 6% กำไรสุทธิ 3,830 ล้านบาท เติบโต 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการเติบโตได้ดีตามยุทธศาสตร์ OMNI-Intelligence รวมทั้งการมีอีโคซิสเต็มที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการขยายพอร์ตโฟลิโอในกลุ่มธุรกิจหลักครอบคลุมทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และอิตาลี
สำหรับแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง บริษัทมุ่งเน้นการเสริมแกร่งกลุ่มธุรกิจสปอร์ต โดยเข้าสู่ธุรกิจ Performance Sports อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการเข้าไปซื้อธุรกิจ โดยถือหุ้นใหญ่เป็นสัดส่วน 75% ของ Rev E Edition รวมถึงพัฒนาธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่อง ผ่านการขยายสาขาใหม่และปรับโฉมสาขาเดิมประเทศไทย เตรียมรับมือกับไฮซีซั่นช่วงไตรมาส 4 และตลาดเวียดนามที่เติบโตต่อเนื่อง
อีกหนึ่งบิ๊กค้าปลีกที่มีผลงานโดดเด่นคือ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK ซึ่งพบว่า ในไตรมาส 2 มีรายได้รวม 2,664 ล้านบาท เติบโต 12% มีกำไรสุทธิ 781 ล้านบาท เติบโต 6% ส่งผลให้ในครึ่งปีแรก MBK สามารถทำรายได้รวม 5,411ล้านบาท เติบโต 17% มีกำไรสุทธิ 1,4770 ล้านบาท เติบโต 56% โดยรายได้หลักมาจาก กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า 1,562 ล้านบาท เติบโต 27% รองลงมาได้แก่ ธุรกิจอาหาร 1,220 ล้านบาท เติบโต 53% และธุรกิจการเงิน 1,131 ล้านบาท เติบโต 8%
ด้านนายวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า หลังจากที่เอ็มบีเค ปรับแนวคิดหันมาจับกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ทำให้วันนี้สัดส่วนลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เอ็มบีเคมีการปรับกลยุทธ์การทำตลาด โดยมุ่งเน้นการเจาะลึกถึงอินไซต์ลูกค้าที่มาใช้บริการว่าต้องการสินค้าและบริการอะไร และนำมาปรับ Tenant Mix ใหม่ เพิ่มสัดส่วนของร้านอาหาร และติวเตอร์ เพื่อให้รองรับทุกกลุ่มลูกค้า ทำให้ภาพของเอ็มบีเค เซ็นเตอร์วันนี้เปลี่ยนไป ไม่ใช่เป็นแค่ศูนย์การค้าเท่านั้น
“วันนี้เอ็มบีเค เซ็นเตอร์มีร้านค้ากลับมาเปิดให้บริการแล้ว 98% ขณะที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 8.5 หมื่นคนต่อวัน มากกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยพบว่ากลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่เพิ่มขึ้นมีทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ อาทิ จีน ยุโรป และตะวันออก”
อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าในช่วง 5 เดือนนับจากนี้ธุรกิจค้าปลีกยังมีการเติบโต จากปัจจัยรอบด้าน โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะส่งอานิสงส์ต่อศูนย์การค้า โรงแรม และสนามกอล์ฟ ขณะที่ธุรกิจโลคัล เช่น อสังหาริมทรัพย์อาจจะยังทรงตัว ซึ่งการจะลงทุนเพิ่มต้องรอจังหวะ และศึกษาอย่างระมัดระวัง ซึ่งแผนธุรกิจในแต่ละปีบริษัทจะเตรียมงบราว 2,000 ล้านบาทสำหรับการลงทุนโดยรวมซึ่งในปีนี้ก็เช่นกัน
สอดรับกับบมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ที่ระบุว่า การเติบโตในไตรมาส 2 ได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโต โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 17.5 ล้านคน ในครึ่งแรกของปี รวมทั้งการเปิดตัวโครงการใหม่ Mixed-use Development ซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัท และการเพิ่มของพื้นที่เช่าที่มากขึ้นในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์วิลล์, เซ็นทรัล นครสวรรค์ และเซ็นทรัล นครปฐม รวมถึงรายได้จากธุรกิจที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
“แผนธุรกิจในอนาคตบริษัทยังคงผลักดันแผนการขยายธุรกิจต่อเนื่องโดยตั้งเป้าหมาย 5 ปีจะมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี (ปี 2567 – 2571) และวางเป้าหมายที่จะมีเพิ่มพื้นที่ค้าปลีกเฉลี่ยปีละ 1 แสนตร.ม. ผ่านการลงทุนในโครงการเซ็นทรัล กระบี่ ด้วยงบลงทุนกว่า 2,300 ล้านบาท เปิดบริการในปี 2568 ,โรงแรมในจังหวัดระยอง เปิดบริการในปี 2567 และโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับดุสิตธานี ด้วยงบลงทุนกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท โดยจะทยอยเปิดให้บริการปี 2567 เป็นต้นไป” นางสาวนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงิน บัญชีและบริหารความเสี่ยง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าว
ขณะที่กลุ่มค้าปลีกในเครือซีพี อย่าง “ซีพี ออลล์” (CPALL) และ “ซีพี แอ็กซ์ตร้า” (CPAXT) ต่างก็ทำผลงานดี มีรายได้และกำไรเติบโต โดยซีพีออลล์ ผู้บริหาร “เซเว่น อีเลฟเว่น” มีรายได้รวม 489,333 ล้านบาท เติบโต 7.7% กำไรสุทธิ 12,559 ล้านบาท เติบโต 46.7% ซึ่งภายในสิ้นปีจะขยายสาขาเพิ่มรวม 700 สาขา ทั้งในไทย กัมพูชา และสปป.ลาว ขณะที่ในปีนี้จะใช้งบลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 - 4,000 ล้านบาท ปรับปรุงร้านเดิม 2,900 - 3,500 ล้านบาท, ลงทุนในโครงการใหม่,บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000 - 4,100 ล้านบาท, สินทรัพย์ถาวรและระบบสารสนเทศ 1,300 - 1,400 ล้านบาท
ส่วนซีพี แอ็กซ์ตร้า ผู้บริหาร “แม็คโคร” และ “โลตัส” ในครึ่งหลังของปี 2567 มีแผนขยายสาขา “แม็คโคร” ในประเทศไทยเพิ่ม 8 สาขา และในต่างประเทศ 2 สาขา (โดยในประเทศเปิดไปแล้ว 4 สาขา ส่วนในต่างประเทศเปิดไปแล้ว 1 สาขา) ขณะที่ “โลตัส” จะขยายสาขาขนาดใหญ่ 1 สาขาและ Supermarket 4 สาขา (ไทย 3 สาขา และมาเลเซีย 1 สาขา) รวมถึง Mini Go fresh เปิดเพิ่ม 100 สาขา
ความน่าสนใจของธุรกิจค้าปลีก ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังซบเซา เศรษฐกิจที่ยังผันผวน ยังต้องจับตาดูว่าบิ๊กเนมจะยังเดินหน้าแผนลงทุนตามที่วางเป้าหมายไว้หรือไม่