จุฬาฯ เปิดผลสุดยอดแบรนด์ทรงพลังปี 67 ชี้บิ๊กเนมแห่อัดงบการตลาดชิงแชร์

30 ส.ค. 2567 | 08:11 น.
อัพเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2567 | 08:42 น.

ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานมอบรางวัล “The Most Powerful Brands of Thailand 2024” หรือ "สุดยอดแบรนด์ทรงพลังของประเทศไทย 2024" ครอบคลุม 29 กลุ่มผลิตภัณฑ์

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บริษัทชั้นนำของไทยต่างเพิ่มงบประมาณในการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องในปี 67 เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

จุฬาฯ เปิดผลสุดยอดแบรนด์ทรงพลังปี 67 ชี้บิ๊กเนมแห่อัดงบการตลาดชิงแชร์

ข้อมูลจากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีนี้ใช้งบการตลาดประมาณ 5-10% ซึ่งน้อยลงกว่าปีก่อนหน้าอยู่ที่ 10% เป็นปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง พฤติกรผู้บริโภคหลากหลายขึ้น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแผลง เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการใช้งบการตลาด

จากการสำรวจ พบว่าปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทต่างๆ ต้องเพิ่มงบประมาณการตลาด ได้แก่

  • ปัจจัยเรื่องกำลังซื้อหดตัว หลายแบรนด์อัดแคมเปญกระตุ้นการตลาดต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด
  • พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น และมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
  • เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำการตลาดมากขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า และพัฒนากลยุทธ์การตลาดที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น
  • การแข่งขันที่รุนแรง บริษัทคู่แข่งต่างก็พยายามสร้างความแตกต่างและสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องเพิ่มงบประมาณในการทำการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและดึงดูดลูกค้าใหม่

ตัวอย่างแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันสูง พบว่าบริษัทต่างๆ ยอมทุ่มงบประมาณในการทำการตลาดอย่างเต็มที่ เพื่อให้แบรนด์ของตนเป็นที่รู้จักและจดจำของผู้บริโภคมากขึ้น

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่าหลายบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลของลูกค้ามาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยอาศัยข้อมูลจากช่องทางต่างๆ เช่น โซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ของบริษัท

การแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน ทำให้หลายบริษัทต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว ฉายภาพจากแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนาน ตบเท้ารีเฟรชแบรนด์ ปรับตัวเพราะคู่แข่งมีมากขึ้น

จุฬาฯ จัดงานมอบรางวัล “The Most Powerful Brands of Thailand 2024”

ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานมอบรางวัล “The Most Powerful Brands of Thailand 2024” หรือ "สุดยอดแบรนด์ทรงพลังของประเทศไทย 2024" ครอบคลุม 29 กลุ่มผลิตภัณฑ์ งานนี้ถือเป็นการสำรวจแบรนด์ครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร รักษาการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานมอบรางวัลให้กับผู้บริหารแบรนด์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด กล่าวว่า การจัดอันดับความแข็งแกร่งของแบรนด์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี ซึ่งในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 7 โดยนอกจากจะมีการประกาศรางวัลแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดใน 29 กลุ่มผลิตภัณฑ์แล้ว คณะผู้วิจัยยังได้ทำการวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้แบรนด์แข็งแกร่ง เพื่อนำมาเป็นองค์ความรู้ในการกำหนดกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอีกด้วย

รศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายเพิ่มเติมว่า การประเมินความแข็งแกร่งของแบรนด์จะพิจารณาครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ ความตระหนักในแบรนด์ (Awareness) ความชื่นชอบในแบรนด์ (Preference) การใช้ผลิตภัณฑ์ (Usage) และภาพลักษณ์ (Image) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความสำเร็จของแบรนด์ทั้งในแง่ Market Share, Mind Share และ Heart Share อย่างครบถ้วน

จุฬาฯ เปิดผลสุดยอดแบรนด์ทรงพลังปี 67 ชี้บิ๊กเนมแห่อัดงบการตลาดชิงแชร์

เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีความน่าเชื่อถือและถูกต้อง ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 24,000 ตัวอย่าง โดยแบ่งเป็นกลุ่มในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 12,000 ตัวอย่าง และใน 13 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศอีก 12,000 ตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้บริโภคชาวไทย อายุระหว่าง 18-69 ปี ที่มีความหลากหลายทางเพศและช่วงอายุ โดยทุกคนจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยตนเอง เพื่อให้การประเมินแบรนด์มีความถูกต้องและแม่นยำ

รศ.ม.ล.สาวิกา อุณหนันท์ รองประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) และหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบัน แบรนด์ที่แข็งแกร่งและยั่งยืน ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การสร้างชื่อเสียงหรือการมอบคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

รศ.ม.ล.สาวิกา ยังกล่าวว่า การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อยกระดับขีดความสามารถของแบรนด์ให้ทันสมัยและตอบสนองต่อสังคม ถือเป็นพันธกิจหลักของภาควิชาการตลาดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อธุรกิจและสังคมที่ยั่งยืน ในการวิจัยครั้งนี้

คณะวิจัยยังได้ทำการสำรวจค่านิยมและกระบวนการตัดสินใจซื้อของกลุ่มตัวอย่าง ทำให้สามารถจำแนกกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยออกเป็น 7 เจน (Generations) ซึ่งมีพฤติกรรมและการตัดสินใจซื้อที่แตกต่างจากการแบ่งกลุ่ม Generation ในอดีต และสะท้อนถึงบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ทำงานด้านการตลาดในการวางกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับผู้บริโภคแต่ละช่วงวัยในบริบทของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

มัดรวมสุดยอดแบรนด์ทรงพลัง The Most Powerful Brands of Thailand 2024 

จุฬาฯ เปิดผลสุดยอดแบรนด์ทรงพลังปี 67 ชี้บิ๊กเนมแห่อัดงบการตลาดชิงแชร์

ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลและครัวเรือน (Personal Care & Household Products)

  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย (Body Wash)  ลักส์   บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
  • ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม (Hair Care)   ซันซิล   บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
  • ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (Fabric Wash )  บรีส  บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
  • ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก (Oral Care)  คอลเกต  บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด
  • ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกาย (Facial & Skin Care)  นีเวีย  บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) จำกัด

ยานยนต์ (Automotives)

  • รถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial Vehicle)  โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ / รีโว่  บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคล (Passenger Car)  โตโยต้า ยาริส  บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
  • รถจักรยานยนต์ (Motorcycle)   ฮอนด้า  บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด

ผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยี (Technology Products & Services)

  • แล็ปท็อป/โน้ตบุ๊ก (Laptop/Notebook)  เอเซอร์  บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด
  • โทรศัพท์มือถือ (Mobile Phone)  ซัมซุง  บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด
  • แพลตฟอร์มส่งอาหาร (Food Delivery Platform)  แกร็บ ฟู้ด  บริษัท แกร็บ ประเทศไทย จำกัด
  • เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เฟซบุ๊ก บริษัท เมต้า แพลตฟอร์ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริการทีวีสตรีมมิ่ง (TV Streaming)  เน็ตฟลิกซ์ บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • ช้อปปิ้งออนไลน์ (Online Shopping)  ลาซาด้า  บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย)

อาหารและขนมขบเคี้ยว (Food & Snacks)

  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (Instant Noodle)  มาม่า บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
  • อาหารกระป๋อง (Canned Food)  สามแม่ครัว  บริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด
  • ผลิตภัณฑ์จากนม (Milk)  โฟร์โมสต์  บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
  • ขนมขบเคี้ยว (Snacks) เลย์ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด
  • เครื่องปรุงรส (Seasoning)  รสดี  บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด

เครื่องดื่ม (Beverages)

  • เครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink)  เอ็ม-150  บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
  • กาแฟ (Coffee)  เนสกาแฟ  บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
  • น้ำผลไม้ (Juice)  ยูนิฟ  บริษัท ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล (Functional Drink)   ซี-วิท   บริษัท เฮ้าส์ โอสถสภา ฟู้ดส์ จำกัด           

ร้านอาหารและบริการทางการเงิน (Restaurant, Financial Services & Property)

  • ธนาคาร (Bank)  ธนาคารไทยพาณิชย์  บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  • ประกันชีวิต (Life Insurance)  เอไอเอ  บริษัท เอไอเอ จำกัด
  • ประกันภัยรถยนต์ (Car Insurance)  วิริยะประกันภัย  บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • ร้านกาแฟ (Coffee Shop)  คาเฟ่ อเมซอน  บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด
  • เชนร้านอาหาร (Chain Restaurants)  เอ็มเค  บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  • อสังหาริมทรัพย์ (ที่อยู่อาศัย) (Property (Resident)  พฤกษา  บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)