อาจารย์ทิพวรรณ อภิวันท์วรัตน์ ที่ปรึกษาคณบดีคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถาบันฯจัดทำงานวิจัยหมากล้อม (โกะ) กับการพัฒนาการด้านภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ กรณีศึกษาก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาถึงอิทธิพลของหมากล้อมต่อการพัฒนาภาวะผู้นำเมื่อหมากล้อมถูกนำมาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาภาวะผู้นำ การวิเคราะห์สถานการณ์ การวางแผนล่วงหน้า และการตัดสินใจภายใต้ความกดดัน
การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหมากล้อมช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ทำให้ควบคุมอารมณ์ มีความอดทน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมและที่ทำงาน และยังมีประโยชน์ต่อการบริหารในการสร้างภาวะผู้นำเชิงบริหารภายใต้แนวคิด 4Q ได้แก่
IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางปัญญาเป็นพื้นฐานในการวางกลยุทธ์และตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ การเล่นหมากล้อมช่วยพัฒนาทักษะนี้โดยการฝึกให้คิดเชิงวิเคราะห์และคาดการณ์ล่วงหน้า
EQ (Emotional Quotient) หมากล้อมส่งเสริมการควบคุมอารมณ์และความเข้าใจผู้อื่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาวะผู้นำที่ดี ซึ่งการเล่นหมากล้อมเป็นวิธีการที่ดีในการฝึก EQ
MQ (Moral Quotient) ความฉลาดทางศีลธรรมและจริยธรรมเป็นสิ่งที่หมากล้อมเน้นผ่านความเคารพต่อคู่ต่อสู้และการเล่นที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำที่มีคุณธรรม
AQ (Adversity Quotient) ความสามารถในการรับมือกับความยากลำบากและอุปสรรค หมากล้อมช่วยเสริมสร้าง AQ โดยการฝึกให้ผู้เล่นรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัจจุบันหมากล้อม หรือโกะ ได้รับความนิยมแพร่หลายกว่า 50 ประเทศ ทั้งทวีปออสเตรเลียอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำกีฬาหมากล้อมหรือโกะ เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเมื่อกว่า 30 ปีก่อนจนปัจจุบันมีผู้เล่นกีฬาหมากล้อมกว่า 2 ล้านคน
ซึ่งแนวคิดที่ได้จากการเล่นหมากล้อมนี้ ถูกนำไปใช้เป็นหลักการบริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จนประสบความสำเร็จ และถูกถ่ายทอดไปยังทีมงานในส่วนอื่นๆ รวมถึงบุคคลทั่วไป ทั้งเด็ก เยาวชน และคนทำงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพทั้งด้านภาวะผู้นำ ความฉลาดทางอารมณ์ และการบริหารจัดการ”
อาจารย์ทิพวรรณ กล่าวอีกว่า หมากล้อมคือศาสตร์แห่งการบริหารและเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหมากล้อมสามารถช่วยเสริมสร้างความสามารถด้านการคิดเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
ในขณะเดียวกันยังพัฒนาทักษะทางสังคมและการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น การใช้หมากล้อมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์นี้ จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถนำทีมและองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
สิ่งสำคัญที่ได้จากการวิจัยพบว่า หมากล้อมยังสร้างสมดุล 3 ส่วน ได้แก่ “ชีวิตสมดุล” ซึ่งหมากล้อมสามารถนำมาใช้ในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน “คนสมดุล” การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเข้าใจและเคารพในมุมมองที่แตกต่าง และ “งานสมดุล” การวางแผนและจัดการในหมากล้อมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและสมดุล
“หมากล้อมถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการคิดเชิงกลยุทธ์ การวิเคราะห์สถานการณ์ และการสร้างความสัมพันธ์ ทำให้ผู้เล่นคำนึงถึง“การมองภาพรวม” จากการวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว, การวางกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์, การคิดอย่างละเอียดและรอบคอบ สามารถนำมาวิเคราะห์ปัญหา วางแผน และตัดสินใจ โดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว, การทำงานเป็นทีม
โดยเน้นการสร้างความร่วมมือและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายในองค์กร, การยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาด ทำให้พนักงานกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ และไม่กลัวที่จะทำผิดพลาด, การควบคุมอารมณ์และความกดดัน การควบคุมอารมณ์และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย, การพัฒนาความสามารถในการคาดการณ์ เป็นต้น”
อย่างไรก็ดีวันนี้ หมากล้อมกลายเป็นหนึ่งกิจกรรมที่เยาวชน วัยรุ่น และวัยทำงานให้ความนิยมเล่น ฝึกฝน และร่วมแข่งขันกัน เพื่อฝึกทักษะทั้งด้านการคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจมากขึ้นในอนาคต
หน้า 16 ฉบับที่ 4,025 วันที่ 8 - 11 กันยายน พ.ศ. 2567