นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาการจัดงานหนังสือได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ไม่เคยมีปีไหนจริงจังเท่ากับปีนี้ที่ภาครัฐมีแนวทางการสนับสนุนอย่างชัดเจน อย่างงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ได้ให้ทุนสนับสนุนราว 5.5 ล้านบาท สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมและกิจกรรม เชิญนักเขียนต่างชาติมาแลกเปลี่ยนเคล็ดลับวิธีการเขียนให้กับนักเขียนไทย และพบกับนักอ่านคนไทย ทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน
จากสถิติของหอสมุดแห่งชาติปี 2566 หากเทียบหนังสือเล่มของไทยกับหนังสือเล่มจากต่างประเทศ การตีพิมพ์ในประเทศไทยจะเป็น 1:2 สัดส่วนหนังสือต่างที่มาจากต่างประเทศจะมากกว่าหนังสือไทย ยกตัวอย่างกลุ่มนิยายและวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด ตัวเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ หรือ ISBN ในไทย พบว่ามีหนังสือแปลประมาณ 6,400 เล่ม หนังสือไทยเพียง 3,200 เล่ม แต่ข้อมูลจาก MEB แพลตฟอร์ม E-Book ของประเทศไทยที่มีมาร์เก็ตแชร์กว่า 65% พบว่านิยายออนไลน์ที่ได้รับการตีพิมพ์มีอยู่ประมาณ 3.6 หมื่นเล่ม เป็นนิยายไทย 2.2 หมื่นเล่ม ส่วนนิยายแปลจากต่างประเทศมีน้อยกว่า อาจสังเกตได้ว่านิยายแปลเสียค่าลิขสิทธิ์สูงจึงจะต้องตีพิมพ์เป็นเล่มและมักขายในราคาสูงกว่านิยายไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีปรากฏการณ์กลุ่มลูกค้าจากจีนและญี่ปุ่น เข้ามาซื้อนิยายไทยและของที่ระลึกเกี่ยวกับนิยายจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แม้จะอ่านไม่ออกแต่ได้ของประกอบเรื่องราวหนังสือลูกค้าก็พึงพอใจ ทำให้ตลาดหนังสือไทยขยายไปได้อีกไกลในระดับเอเชีย
“หนังสือไทยออกไปสู่ตลาดต่างประเทศนานแล้วเพียงแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง แต่หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐให้การสนับสนุนมากขึ้น ทั้งโรดโชว์ ออกบูธที่ต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการแมตชิ่งระหว่างสำนักพิมพ์ไทยและต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมหนังสือไทยมีโอกาสเติบโต แม้จะไม่เติบโตแบบก้าวกระโดดแต่ภาพในปี 2567 ยังคงเติบโตไปเรื่อยๆ นอกจากนี้คนไทยทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัยยังอ่านหนังสือมากขึ้น เฉลี่ย 113 นาที/วัน/คน โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 18-24 ปี ที่มีสัดส่วนอยู่ 49% แม้ปัจจุบันจะอ่านอยู่กับมือถือมากกว่าหนังสือเล่ม ทว่าหนังสือเล่มก็ไม่มีวันตาย”
นายสุวิช กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 10- 20 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฉีกแนวสุดโต่งในธีม “ผี” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “อ่านกันยันโลกหน้า” มีจุดประสงค์เพื่อผลักดันความสยองขวัญของผีไทยผ่านหนังสือ ให้เข้ากับเทศกาลช่วงปลายปีและอุตสาหกรรมหนังผีไทยที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ เรียกได้ว่าตรงกับ 1 ใน 11 ซอฟต์พาวเวอร์ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ Key Visual การออกแบบโปสเตอร์จาก 400 ผลงาน จนได้รางวัลชนะเลิศเป็น “ผีกระสือ” ที่ตรงโจทย์และกลายมาเป็นมาสคอตในงาน
ปกติการจัดงานหนังสือของไทยจะมีอยู่ 2 งาน/ปี คือ 1. สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ งานใหญ่ในช่วงต้นปีที่มีบูธจากต่างประเทศเข้าร่วมด้วย 2. งานมหกรรมหนังสือระดับชาติช่วงปลายปี ที่จัดขึ้นเพื่อคนไทยเป็นส่วนใหญ่ 100% ไม่มีบูธจากต่างชาติ และในปี 2567 วันแรกของการเปิดงานงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ถือว่าคึกคักกว่าสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการประเมินด้วยสายตาน่าจะมีผู้ร่วมงานกว่า 8 หมื่นคน ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกมากกว่าทุกครั้ง ด้วยความวาไรตี้ สนุกสนาน คล้ายเฟสติวัล คาดหวังไว้ว่าตลอดช่วงการจัดงานน่าจะมีคนเข้าร่วมมากกว่า 1.8 ล้านคน และมียอดขายสะพัดกว่า 480 ล้านบาท
“คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปี รวมทั้งจำนวนสมาชิกสำนักพิมพ์ก็เติบโตขึ้นด้วย ทำให้อุตสาหกรรมหนังสือไทยปีนี้ขยายตัวไปยังต่างประเทศมากขึ้น มีสำนักพิมพ์หรือองค์กรต่างชาติอยากเข้ามาพูดคุยเรื่องธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังสือไทยเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือการจัดงานหนังสือทั้ง 2 งานของปีนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้วย ซึ่งตอนนี้งานหนังสือของเราใหญ่ที่สุดในระดับอาเซียน แต่ในเอเชียเราเป็นรองแค่ไต้หวันและปักกิ่งของจีนเท่านั้น”