Subway เป็นหนึ่งในแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดที่มีเครือข่ายร้านสาขามากที่สุดในโลก ในปี 2024 มีสาขากระจายตัวกว่า 36,000 แห่งในกว่า 100 ประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของแบรนด์ในการเป็นส่วนหนึ่งของ ธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant QSR)
แม้ว่าจะเคยมีจำนวนสาขาสูงสุดถึง 44,000 แห่งในปี 2015 แต่ Subway กลับต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตลาดที่อิ่มตัวและการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น จนส่งผลให้จำนวนสาขาลดลง
ในประเทศไทย Subway ยังคงพยายามปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพอาหารและการบริการ ท่ามกลางกระแสบนโซเชียลที่พูดถึงเรื่องคุณภาพและสถานะสาขาที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
Subway เริ่มต้นในปี 1965 ในฐานะร้านขายแซนด์วิชเล็กๆ ในเมืองบริดจ์พอร์ต รัฐคอนเนตทิคัต ก่อตั้งโดย เฟรด เดอลูกา และได้รับเงินทุนจาก ปีเตอร์ บัค เพื่อนของเขา เดิมทีร้านมีชื่อว่า "Pete's Super Submarines" และเปลี่ยนชื่อเป็น Subway ในปี 1972 ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 Subway ได้นำรูปแบบแฟรนไชส์มาใช้ ซึ่งปูทางไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ตลอดช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 Subway เติบโตอย่างรวดเร็ว มีสาขาถึง 10,000 สาขาในปี 1994 ในปี 2004 Subway ได้เปิดสาขาครบ 25,000 สาขา และในปี 2015 Subway ก็มีร้านอาหารทั่วโลกถึง 44,000 เเห่ง
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Subway ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น ความอิ่มตัวของตลาด การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลให้จำนวนร้านค้าลดลง ในปี 2024 Subway มีสาขาประมาณ 36,000 สาขาทั่วโลก ซึ่งลดลงอย่างมากจากจุดสูงสุดในปี 2015 แต่ยังคงรักษาสถานะผู้นำระดับโลกเอาไว้ได้
Subway ยังคงมีบทบาทที่แข็งแกร่งในสหรัฐ ซึ่งเป็นที่ที่ Subway ดำเนินกิจการร้านอาหารส่วนใหญ่ ในปี 2024 มีร้านประมาณ 20,000 ร้านทั่วสหรัฐ คิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนร้านทั้งหมดทั่วโลก
แคลิฟอร์เนียมีสาขามากที่สุดในรัฐต่างๆ โดยมีสาขามากกว่า 2,000 แห่ง ตามมาด้วยเท็กซัส นิวยอร์ก และฟลอริดา ในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐ ฮูสตัน ชิคาโก และลอสแองเจลิสต่างก็มีร้าน Subway มากกว่า 100 แห่ง
Subway มีฐานที่สำคัญในหลายประเทศ
แคนาดา Subway มีสาขาประมาณ 2,900 แห่ง ทำให้เป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐ สหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับที่สามด้วยสาขามากกว่า 2,100 แห่ง ตลาดที่โดดเด่นอื่นๆ ได้แก่ บราซิล (มีสาขาประมาณ 1,500 แห่ง) ออสเตรเลีย (มีสาขามากกว่า 1,200 แห่ง) และอินเดีย ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยสาขามากกว่า 800 แห่ง
แม้ว่า Subway จะมีสาขาอยู่ทั่วโลก แต่บางประเทศก็มี สาขาของ Subway ค่อนข้างน้อยตัวอย่างเช่น ในประเทศในยุโรป เช่น กรีซและเดนมาร์ก Subway มีร้านอาหารเพียงไม่กี่ร้าน นอกจากนี้ ประเทศหรือภูมิภาคเล็กๆ บางแห่ง เช่น หมู่เกาะมาร์แชลล์และลิกเตนสไตน์ มีร้าน Subway เพียงร้านละหนึ่งร้านเท่านั้น
Subway ในประเทศไทย
สำหรับ Subway เคยเข้ามาทำตลาดในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2546 ผ่านการเปลี่ยนมือผู้บริหารแฟรนไชส์มาแล้วหลายครั้ง
ปี 2565 Subway ในไทยอยู่ภายใต้การบริหารของ "อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป" ที่มีเป้าหมายจะพัฒนาแบรนด์ให้เป็น Top 3 ของธุรกิจอาหารบริการด่วน (QSR) ในตลาดที่มีมูลค่าถึง 47,700 ล้านบาท และวางแผนที่จะขยายสาขาให้ได้ 1,000 แห่งในอีก 10 ปีข้างหน้า
กระทั่งเมื่อต้นปี 2567 บริษัท โกลัค จำกัด GL บริษัทย่อยในเครือของ PTG (พีทีจี เอ็นเนอยี) ได้เข้ามาซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ Subway ในไทยด้วยเงินลงทุนกว่า 35 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2567 บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า บริษัท โกลัค จำกัด (GL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นผ่าน บริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด (GFA) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่
จำนวน 1 แห่ง เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร คือ บริษัท โกซับเวย์ จำกัด (GS)
ล่าสุด Subway Thailand ออกมาโพสต์เตือนผู้บริโภค เกี่ยวกับสาขาทั้งหมดที่ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ของ Subway อย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 51 แห่ง พร้อมรายชื่อสาขาที่ให้บริการ หลังจากที่ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับ "คุณภาพอาหาร" ในหลายๆ เรื่อง จากที่เมื่อก่อนมีมากกว่า 150 สาขา
Subway แผนเปิดร้านอาหารใหม่กว่า 10,000 แห่ง
ในช่วงสามปีที่ผ่านมา Subway ลงนามในข้อตกลงแฟรนไชส์หลักมากกว่า 20 ฉบับ ส่งผลให้มีการเปิดร้านอาหารในอนาคตมากกว่า 10,000 ร้าน และมีส่วนสนับสนุนการเปิดร้านอาหารใหม่กว่า 40% ของแบรนด์ในปีนี้ ข้อตกลงแฟรนไชส์หลัก 7 ฉบับจากทั้งหมด 20 ฉบับได้ลงนามในปี 2567 เป็นการเริ่มต้นธุรกิจในปารากวัยและมองโกเลียและขยายการดำเนินงานใน ฝรั่งเศส สาธารณรัฐเช็ก ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ บราซิล เอลซัลวาดอร์ และกัวเตมาลา คาดว่าข้อตกลงเหล่านี้จะส่งผลให้มีการเปิดร้านอาหารในอนาคตมากกว่า 2,000 ร้าน เเละอาจมีข้อตกลงเพิ่มเติมอีกก่อนสิ้นปีนี้
ความท้าทายและแนวโน้มในอนาคตของ Subway
ตั้งแต่ปี 2015 Subway ได้ปิดสาขามากกว่าเปิดสาขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความอิ่มตัวของตลาดและการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากแบรนด์อาหารจานด่วน เช่น Chipotle และ Panera Bread ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสำหรับตัวเลือกอาหารเพื่อสุขภาพและสดใหม่กว่าก็ส่งผลกระทบต่อ Subway เช่นกัน เนื่องจากสโลแกน "Eat Fresh" ของบริษัทพยายามดิ้นรนเพื่อให้ทันกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
การขยายตัวมากเกินไปเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ในสหรัฐฯ ความหนาแน่นของ Subway ในบางพื้นที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ร้านใหม่เข้ามาแย่งยอดขายจากร้านเดิม เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้แบรนด์จึงมุ่งที่การปรับปรุงเมนู ปรับปรุงรูปลักษณ์ของร้าน และเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า
อ้างอิงข้อมูล