เป็นกรณีศึกษาที่น่าจับตามอง เมื่อร้านฟาสต์ฟู้ดเบอร์เกอร์ชื่อดัง "ซับเวย์" (Subway) ถูกร้องเรียนเรื่องคุณภาพอาหาร และมาตรฐานการบริการ ลุกลามไปถึงปัญหาร้านสาขาที่เปิดให้บริการส่วนหนึ่งถูกยกเลิกสัญญาแฟรนไชส์ไปแล้ว แต่ยังคงเปิดให้บริการอยู่
นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ร่วมก่อตั้งชมรมแฟรนไชส์แห่งประเทศไทย และ สมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย กล่าวแสดงความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงประเด็นดังกล่าวว่า กรณีของ Subway มีความซับซ้อนของสัญญาแฟรนไชส์ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของแบรนด์นี้ในประเทศไทยโดยมีประเด็นหลักที่สำคัญดังนี้
1.ความซับซ้อนของสัญญา สัญญาแฟรนไชส์ของ Subway มีความซับซ้อนเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหลายครั้ง ทำให้เกิดสัญญาหลายฉบับที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ทั้งในส่วนของสัญญาระหว่าง Subway สำนักงานใหญ่กับ Subway Thailand และสัญญาระหว่าง Subway Thailand กับผู้ประกอบการแฟรนไชส์รายย่อย
2.การเปลี่ยนมือของมาสเตอร์แฟรนไชส์ ในไทยหลายครั้งส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในเรื่องของการสนับสนุนและการปฏิบัติตามสัญญา อาจมีการตีความสัญญาที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย
3.ความไม่เท่าเทียมกัน อาจมีความไม่เท่าเทียมกันในการปฏิบัติต่อแฟรนไชส์ย่อยแต่ละราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสนับสนุนและการแบ่งปันผลประโยชน์
4.ความจำเป็นในการตรวจสอบสัญญา เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเป็นธรรม ผู้ที่ได้รับผลกระทบควรตรวจสอบสัญญาแฟรนไชส์ของตนเองอย่างละเอียด และรวบรวมหลักฐานเพื่อใช้ในการเรียกร้องสิทธิ
กรณีของ Subway สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีสัญญาแฟรนไชส์ที่ชัดเจนและการมีระบบการสนับสนุนผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่ไม่เข้มแข็ง
นายสุภัค กล่าวว่าต่อ ธุรกิจแฟรนไชส์สามารถแบ่งออกเป็น 3 สเกล โดยสเกลแรกคือการลงทุนต่ำ มีการลงทุนเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นหรือประมาณ 500,000 บาท สเกลนี้มักมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากผู้ประกอบการใหม่ๆ มักขาดความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ
ส่วนผู้ประกอบการในกลุ่มกลางที่ลงทุนประมาณ 1-3 ล้านบาท มักขาดความรู้เกี่ยวกับการสร้างระบบแฟรนไชส์และการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสำเร็จในระยะยาว
สำหรับสเกลที่ลงทุนสูงกลุ่มนี้ประกอบด้วยบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียง เช่น เซเว่น, เชสเตอร์กิล และไมเนอร์ฟู้ดกรุ๊ป ซึ่งมีการสนับสนุนที่ดีและมีความน่าเชื่อถือสูง การวางแผนในการขยายสาขาเป็นสิ่งสำคัญที่มักถูกมองข้าม ซึ่งการเซ็นสัญญาแฟรนไชส์มักมีระยะเวลาที่กำหนด เช่น 3 ปี หรือมากกว่า และการวางแผนล่วงหน้าเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ
"จากประสบการณ์ในการเป็นอนุกรรมการของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ข้อบัญญัติและประกาศต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย โดยมีการกำหนดรายละเอียดและข้อกำหนดต่างๆ อย่างชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่รู้สึกว่าได้รับความไม่เป็นธรรมแนะนำให้ติดต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเพื่อขอความช่วยเหลือ คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่พิจารณาข้อร้องเรียนและดำเนินการเพื่อให้เกิดความยุติธรรมสูงสุด"