นายประทีป สันติวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงมีโรงงาน 3 แห่ง อยู่ในพื้นที่ใกล้กับเกษตรกรผู้ผลิตจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดอยุธยา และจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งโรงงานสกัดมีกำลังการผลิตรวมกว่า 1,550 ตันรำข้าว/วัน ผลิตน้ำมันรำข้าวดิบได้ 8.8 หมื่นตัน/ปี ส่วนโรงกลั่นมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 350 ตันน้ำมันดิบ/วัน ผลิตน้ำมันสำเร็จรูปได้มากถึง 6 หมื่นตัน/ปี และจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีกในอนาคต
บริษัทเตรียมลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานแห่งที่ 4 ในจังหวัดนครสวรรค์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2568 เพื่อเป็นศูนย์รับซื้อวัตถุดิบ เพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการวัตถุดิบ พร้อมแผนการลงทุนในการพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนพัฒนาด้าน ESG ตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดน้ำมันรำข้าวของประเทศไทย
ขณะที่มูลค่าตลาดรวมของผลิตภัณฑ์น้ำมันพืชปัจจุบันประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ตลาดน้ำมันรำข้าวประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท และกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงมีมาร์เก็ตแชร์คิดเป็น 85% หรือประมาณ 1,100 ล้านบาท
"ตลอด 47 ปีที่ผ่านมา เราเติบโตอย่างมั่นคงและมีกำไรมาตลอด และยังคงการผลิตจากรำข้าวไทย 100% ในปี 2567 คาดว่าจะมีผลประกอบการประมาณ 8,300 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจน้ำมันรำข้าว 35% ธุรกิจอาหารสัตว์ 65% ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณ 3-5% ส่งขายในประเทศประมาณ 64% ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศประมาณ 36% ภายใน 6 ปี หรือในปี 2573 ได้เตรียมแผนงานและตั้งเป้ายอดขายไว้ 10,000 ล้านบาท ด้วยการเพิ่มอัตราการเติบโต ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตและวัตถุดิบ"
นายประทีป กล่าวว่า ตลาดน้ำมันพืชจากปาล์ม ถั่วเหลือ โดยรวมถือว่าเติบโตขึ้นแต่ไม่มากนัก ส่วนน้ำมันรำข้าวในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาตลาดเติบโตขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี แต่เติบโตช้าลงโดยมีปัจจัยมาจากโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงยังถือว่าเป็นผู้นำในตลาดของประเทศไทยจากทั้งหมด 18 แบรนด์ และพยายามรักษาฐานลูกค้ากลุ่มเดิม เพิ่มสัดส่วนกลุ่มที่เพิ่งมีรายได้ หรือกลุ่มสร้างครอบครัว ตลอดจนคนที่มีไลฟ์สไตล์รักสุขภาพให้มากขึ้น ซึ่งอัตราการเติบโตของลูกค้ากลุ่มครัวเรือนถือว่าเพิ่มขึ้นสูงมาก ส่วนตลาดการส่งออกหลักๆ คือเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อเมริกา
สำหรับกลยุทธ์การบริหารจัดการของกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงมีอยู่ 4 ส่วนคือ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสร้าง Network พูดคุยกับคนในวงการธุรกิจเดียวกันมากขึ้น และสุดท้ายคือเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ปลูกป่า ใช้พลังงานโซล่าเซลล์มากขึ้น ตั้งเป้าให้ถึง 20% ในปี 2537 จากปัจจุบันใช้อยู่เพียง 6-8%
"เรียกได้ว่าตลาดน้ำมันมีความหลากหลาย โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ และส่วนที่ทำให้ตลาดน้ำมันรำข้าวเติบโตขึ้นคือคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การกระจายสินค้าไปยังกลุ่มออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่ในปีหน้ากลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงตั้งเป้ารายได้ไว้ 8,000 ล้านบาท ต่ำกว่าปีนี้ เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องค่าเงินบาทในการส่งออกและการแข่งขันสูงด้วย อีกทั้งเรื่องวัตถุดิบขาดแคลนที่จะทำให้เกิดการแย่งชิงกันมากขึ้น"