เทรนด์การตลาด 2025 “Marketing Battle” สู้เพื่อความอยู่รอด

03 ม.ค. 2568 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2568 | 02:56 น.

นายกสมาคมการตลาดฯ ชี้ปี 2025 ปีแห่งความท้าทาย “Marketing Battle” จะกลับมา หลังผู้ประกอบการช่วงชิงเพื่อความอยู่รอด แนะใช้ Big Data – AI ต่อยอดเจาะลึกเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภค จับตา 4 กลุ่มสินค้ามาแรง “สายมู - สุขภาพและความงาม - คอนเสิร์ต – สัตว์เลี้ยง”

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปี 2025 ถือเป็นปีที่ท้าทาย หากบอกว่า ปี 2024 เป็นปีที่ยากลำบาก ปี 2025 ก็เช่นเดียวกัน เพราะมีความเปราะบางค่อนข้างสูง จากการที่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากหลายปัจจัย ทั้งจากการพัฒนาเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และการแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์การตลาดและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

“การตลาดที่จะเห็นในปี 2025 คือ “Marketing Battle” จะเห็น “สงครามการตลาด” ย้อนกลับไปในสมัยเก่าที่แต่ละแบรนด์ ต่างช่วงชิงเพื่อความอยู่รอด แบรนด์ที่เป็นผู้นําจะตั้งรับอย่างไร แม้คาดว่าจีดีพีในประเทศจะโตขึ้นจากปี 2024 เล็กน้อย ซึ่งได้อานิสงส์จากนโยบายรัฐที่ใส่เงินเข้าไปต่อเนื่องจากปลายปี

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ

แต่ปัญหากำลังซื้อ หนี้ครัวเรือน ยังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าดู รวมไปถึง Geopolitics ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็น Geo Economics ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทำให้เห็นการแข่งขันในเชิงรัฐศาสตร์ แต่จะจับมือกันในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ อีกสิ่งที่เห็นและส่งผลต่อการตลาดอย่างมีนัยสำคัญคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ยอมรับแบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้นและเร็วขึ้น”

ทั้งนี้จะเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น เช่น

การวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อขายเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าและพฤติกรรมการซื้อ และผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์การตลาดให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น การทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted Marketing) ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ AI ในการบริการลูกค้า เช่น Chatbots จะช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อคำถามและข้อสงสัยของลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความพึงพอใจและความภักดีของลูกค้า

อีกปัจจัยที่จะส่งผลต่อตลาดคือ ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา “การตลาดที่ยั่งยืน” จะกลายเป็นแนวทางที่สำคัญในปี 2025 โดยธุรกิจจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทำให้ต้องแอคทีฟขึ้น ต้องมุ่งสร้างแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบ เช่น การใช้วัสดุที่ยั่งยืนในการผลิตสินค้า หรือการมีส่วนร่วมในโครงการเพื่อสังคม พร้อมกับการสื่อสารให้ผู้บริโภคสร้างความเชื่อมั่นและความภักดีจากลูกค้า

สินค้าและบริการที่เป็นเทรนด์ในปี 2025 ไม่ว่าจะเป็น สายมู สินค้าสุขภาพและความงาม ความบันเทิง คอนเสิร์ต สัตว์เลี้ยง ล้วนเป็นเทรนด์ที่มาแรง ตรงข้ามกันสินค้าคงทนถาวร สินค้าอุปโภคบริโภค ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จะเหนื่อย การเปลี่ยนแปลงนี้ยังส่งผลต่อโลกออนไลน์ จาก Influencer ที่เคยได้รับกระแสนิยม ก็จะปรับเปลี่ยนเป็น Micro Influencer แทน เพราะความรู้สึกที่ถ่ายทอดจากบุคคลธรรมดาทั่วไป จะแตกต่างจากศิลปินดารา นอกจากนี้จะเห็นการ Collaboration ระหว่างแบรนด์ต่างๆ มากขึ้น

เทรนด์การตลาด 2025 “Marketing Battle” สู้เพื่อความอยู่รอด

ดร.บุรณิน กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ทำให้ยุทธศาสตร์ในการทำสงครามการตลาดต้องมีการวางแบบแผนอย่างแยบยล สิ่งที่จะเห็นในปี 2025 จึงมีทั้ง “ยุทธศาสตร์เชิงรุก” จากแบรนด์จีนที่หลั่งไหลเข้ามา ด้วยกลยุทธ์รุกเร็ว ต้นทุนต่ำ สินค้ามาก ซึ่งผลที่ตามมาคือ แบรนด์ที่ล้มหายไป ขณะที่แบรนด์ที่แข็งแรงจะอยู่รอด ซึ่งเป็นการตลาดยุคโบราณ จะเห็นการแข่งขันด้านราคา (Price War) กลับมาอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกันก็จะเป็น “ยุทธศาสตร์เชิงโอบล้อม” จากค่ายตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป ที่มีฐานในไทยบ้างแล้ว แต่จะหันไปลงทุนในเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อสร้างความแข็งแรงแทน และอีกยุทธศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นคือ “สงครามกองโจร” ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของ SME ไทย ในการใช้จังหวะนี้ช่วงชิงและสร้างการเติบโต ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องมีการกำหนดเซ็กเม้นท์ที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่น ขยับตัวไว และต้องมีความแตกต่าง

สรุปโดยภาพรวมในปี 2025 การเอาตัวรอดของผู้ประกอบการ ทำให้นักการตลาดต้องทำงานหนักขึ้น ต้องมีการวางยุทธศาสตร์ ต้องกล้าที่จะตัดกิ่งก้าน เพื่อให้สามารถเติบโตไปได้ นอกจากนี้ต้องประสานความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเอกชนกับเอกชน เพื่อให้เดินหน้าต่อได้

ซึ่งสิ่งที่จะเห็นในปี 2025 จะเป็นการเติบโตแบบออแกนิค เห็นไดนามิค ไพร์ซซิ่ง ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทัน และเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภค ผ่านการนำ Big Data และ AI เข้ามาใช้ การรุกเดินหน้าจะต้องปรับเปลี่ยนจาก Mass เป็น Niche Market เลือกตลาดแคบๆ แต่ต้องเป็นผู้นำ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงจะเดินได้อย่างแข็งแรง

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,058 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2568