การขายเครื่องบินเก่าของการบินไทยออกจากฝูงบินเป็นหนึ่งในการขายทรัพย์สินรอง ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งล่าสุดการบินไทยได้ทยอยขายเครื่องบินมหากาพย์แอร์บัสเอ340 ได้สำเร็จแล้ว หลังจากจอดทิ้งอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภามานานกว่า 13 ปีแล้ว จากที่เคยนำมาบินในเส้นทางบินตรง (นอนสต็อป) กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก และเส้นทางกรุงเทพฯ-ลอสแอนเจลิส ที่เปิดบริการได้เพียง 3 ปี ตัวเลขการขาดทุนเส้นทางนี้ก็ทะลุไปถึง 7,000 ล้านบาท จนต้องยกเลิกเส้นทางบินดังกล่าวไปเมื่อปี 2551
ทั้งนี้ที่ผ่านมาการบินไทยมีเครื่องบินแอร์บัสตระกูล เอ 340 อยู่ทั้งหมด 10 ลำ ซึ่งเป็นการสั่งซื้อในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยทักษิณ 1 เมื่อปี 2546 ซึ่งอยู่ในแผนจัดหาเครื่องบินปี 2545-2547 จำนวน 39 ลำ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ในยุคนายทนง พิทยะ เป็นประธานบอร์ดการบินไทย
โดยหลังการปลดระวางเครื่องบินรุ่นนี้ กองทัพอากาศได้ ซื้อแอร์บัสเอ 340-500 ไปจำนวน 1 ลำในอดีต ส่งผลการบินไทยคงเหลือเครื่องบินเอ 340 ในฝูงบินรวม 9 ลำได้แก่ เครื่องบินแอร์บัสเอ-500 จำนวน 4 ลำ และแอร์บัสเอ 340-600 จำนวน 6 ลำ
ที่ผ่านมาการบินไทยมีความพยายามในการขายเครื่องบินรุ่นนี้มาโดยตลอด และล่าสุดเพิ่งจะขายเครื่องบินเอ340 ได้สำเร็จเมื่อการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
นายเชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในขณะนี้การบินไทยได้ขายเครื่องบินแอร์บัสเอ340 ได้แล้วจำนวน 5 ลำ ได้แก่ แอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ แบบแอร์บัส A340-600 จำนวน 4 ลำ โดยเป็นผู้ซื้อรายเดียว ได้ทำสัญญาแล้ว มูลค่าประมาณ 350 ล้านบาท
สูงกว่าราคาประเมิน ซึ่งได้ทำเรื่องเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาอนุญาตโอนจำหน่ายเครื่องบินรุ่นดังกล่าว ส่วนเครื่องบินรุ่นดังกล่าวอีก 4 ลำที่ยังเหลือ คือ แอร์บัสเอ340-500 จำนวน 2 ลำ และแอร์บัสเอ340-600 จำนวน 2 ลำยังอยู่ระหว่างการเจรจาขายอยู่เช่นกัน
การขายเครื่องบินแอร์บัสเอ340 ในครั้งนี้เป็นการขายเครื่องบินปลดระวางล็อตล่าสุด จากที่ก่อนหน้านี้การบินไทยได้ขายเครื่องบินไปแล้ว 11 ลำ ได้แก่โบอิ้ง 737-400 จำนวน 1 ลำและโบอิ้ง 747-400 อีก 10 ลำ มูลค่าราว 2,000 กว่าล้านบาท
การที่การบินไทยสามารถขายเครื่องบินปลดระวางต่างๆ เหล่านี้ได้สำเร็จ โดยเฉพาะเครื่องบินแอร์บัสเอ340 ที่ขึ้นชื่อว่าขายยาก หลังพยายามขายมานาน เป็นเพราะการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้เราสามารถเปิดเผยข้อมูลของเครื่องบินได้อย่างละเอียด เปิดกว้างให้คนที่สนใจเสนอตัวเข้ามาและเข้าถึงข้อมูลได้ มีความโปร่งใส ซึ่งจากที่เราทำมาก็มีคนสนใจซื้อเครื่องบินทุกแบบเป็นจำนวนมาก
โดยเราประกาศขายทางเว็บไซต์ www.thaiaircrafttrading.com และส่ง email ถึงผู้ที่อาจสนใจมากกว่า 500 ราย ซึ่งไม่เหมือนในอดีตที่การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจก็จะมีข้อจำกัดเรื่องของกฏระเบียบต่างๆ ทำให้โอกาสในการขายเครื่องบินแทบจะไม่มีทางขายได้เลย ทำให้การบินไทยต้องแบกภาระการด้อยค่าเครื่องบินมาเป็นเวลานาน
นอกจากนี้การบินไทย ยังมีเครื่องบินปลดระวาง อยู่อีก 14 ลำ ที่อยู่ในแผนการขาย ได้แก่ โบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ โบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ และแอร์บัสเอ380 จำนวน 2 ลำ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถขายได้ทั้งหมด จากประสบการณ์ในการขายที่เรามี เรารู้ว่าตลาดผู้ซื้ออยู่ตรงไหน และวิธีการขายที่มีความโปร่งใสจากที่เคยดำเนินการมาแล้ว
ไม่เพียงแต่การขายเครื่องบินที่ปลดระวางเท่านั้น ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ยังได้เตรียมจะเช่าเครื่องบินแอร์บัสเอ350-900 จำนวน 2 ลำ เพื่อนำมาให้บริการรองรับการขยายเครือข่ายการบินในช่วงไตรมาส 1 ของปีหน้าด้วย เนื่องจากหลังการเปิดประเทศ ทำให้การบินไทยสามารถกลับมาเปิดทำการบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้น
รวมทั้งมีการปรับแผนการใช้เครื่องบินใหม่ โดยในการแก้ไขแผนฟื้นฟูใหม่จะนำเครื่องบินจำนวน 5 ลำได้แก่ โบอิ้ง 777-200 ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัสเอ 330-300 จำนวน 3 ลำ ที่ตามแผนจะปลดระวางนำกลับมาทำการบินใหม่ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ด้วย
ทั้งนี้ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2565 การบินไทยมีเครื่องบินทั้งหมด 61 ลำ หากหักเครื่องบินแอร์บัสเอ 320-200 ที่ให้สายการบินไทยสมายล์ใช้ทำการบินอยู่ 20 ลำออกไป การบินไทยก็จะมีเครื่องบินที่ใช้ในการทำการบินอยู่ที่ 41 ลำ ได้แก่ แอร์บัสเอ350-900 จำนวน 12 ลำ โบอิ้ง 777-200ER 4 ลำ โบอิ้ง 777-300ER 17 ลำและโบอิ้ง 787 จำนวน 8 ลำ