จังหวัดเชียงราย เมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของภาคเหนือ และของประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากมนต์เสน่ห์ของสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรม วัดวาอาราม และธรรมชาติที่สวยสดงดงามแล้ว บรรยากาศในยามค่ำคืนก็ไม่น้อยหน้ากว่าจังหวัดใดอย่างแน่นอน และเมื่อพูดถึงสถานบริการประเภทผับ ชื่อของ “พาคลับ” เป็นที่รู้จักและยอดนิยมในหมู่นักเที่ยวมาตั้งแต่ยุค 90
สามารถพูดได้เลยว่าในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงรายหากต้องการเที่ยวผับ ชื่อหนึ่งที่จะผุดขึ้นในหัวของคนพื้นที่และนักท่องเที่ยว คือ“พาคลับ” นั่นเอง
แต่ล่าสุดผับเก่าแก่คู่เมืองเชียงรายแห่งนี้กำลังเจอวิกฤติครั้งใหญ่ และน่าจะเป็นวิกฤติหนักที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการมานานราว 30 ปี เพราะได้ถูกชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง ชงเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และห้ามเปิดสถานบริการในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี
หลังนำกำลังจู่โจมเข้าตรวจบัตรประชาชนนักเที่ยว แล้วพบบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีมากถึง 325 คน แถมประทางหนีไฟถูกล็อคแน่นหนา หากเกิดเหตุไฟไหม้ เกรงว่าจะเกิดโศกนาฎกรรมเช่นผับดังหลายแห่งที่ผ่านมา
ปฏิบัติการที่ต้องเรียกว่า “ปฏิบัติการสะท้านเมืองเชียงราย”ครั้งนี้เกิดขึ้น หลังจากมีผู้ปกครองเยาวชนวัยเรียนในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย ได้ร้องเรียนเข้าไปยังศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ว่า มีสถานบันเทิงหรือผับแห่งหนึ่งย่านราษฎรบำรุง ในเขตเทศบาลนครเชียงราย มีพฤติกรรมปล่อยให้ลูกหลานซึ่งกำลังอยู่ในวัยเรียนเข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก
โดยมีกรณีที่น่าสลดเกิดขึ้นมาเป็นอุทธาหรณ์แล้วหนหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 เวลาประมาณ 02.45 น. นักเรียนระดับชั้นมัธยมรายหนึ่ง ได้เข้าไปเที่ยวในผับดังกล่าว เนื่องจากมีอาการมึนเมาสุราทำให้ขากลับประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์แหกโค้งจนเด็กคนนั้นเสียชีวิต
รวมทั้งช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ผับขนาดใหญ่ มีนักเที่ยวบาดเจ็บและเสียชีวิตบ่อยครั้ง โดยสาเหตุหลักเนื่องจากมีทางเข้าออกทางเดียว และทางหนีไฟตามกฎหมายควบคุมการก่อสร้าง ก็มักจะถูกปิดตายล็อคด้วยกุญแจอย่างแน่นหนา
ปฏิบัติการของจังหวัดเชียงราย จึงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 1 กันยายน 2565 ชุด “สายลับจับเด็ก” ที่ถูกส่งไปโดยชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองจำนวนหนึ่ง ได้เข้าไปทำการสืบสวนสอบสวนในทางลับ จนพบว่าที่บริเวณด้านหน้าผับดังกล่าวมีรถจักรยานยนต์จอดเรียงรายอยู่หลายร้อยคัน เมื่อเข้าไปตรวจสอบภายในผับพบนักเที่ยวซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเยาวชน
โดยมีพฤติการณ์ที่น่าสนใจคือ บรรดานักเที่ยวทั้งหลายทยอยเข้าผับกันในเวลาหลังตี 1 เป็นต้นไป ขณะที่ดีเจของผับประกาศย้ำบ่อยๆ ว่าผับเปิดถึงตี 4 และภายหลังจากที่ผับปิดจากการสังเกตพบว่า นักเที่ยวส่วนใหญ่ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกไปด้วยอาการมึนเมาจนเป็นที่น่าหวาดเสียวแก่ผู้พบเห็น
เมื่อชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ค่ำคืนวันที่ 2 กันยายน 2565 ต่อเนื่องวันที่ 3 กันยายน 2565 เวลาประมาณ 02.15 น. เจ้าหน้าที่ชุดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เป็นหลัก จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจู่โจมเข้าไปทำการตรวจค้นผับ
โดยขณะที่เจ้าหน้าที่เดินทางไปถึงผับ บรรดานักเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนวัยเรียนจำนวนมาก ที่ชุมนุมกันเพื่อรอเข้าผับ พลันที่ได้เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจผับ ก็กลายสภาพเป็นดังผึ้งแตกรัง พากันขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีออกจากพื้นที่ไปเป็นจำนวนมาก
เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบภายในผับพบว่ามีนักเที่ยวกำลังดื่มกิน และเต้นรำกับเสียงเพลงที่ดังกระหึ่มอยู่อย่างสนุกสนาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจึงสั่งให้ทางร้านเปิดไฟ หยุดเล่นดนตรี และประกาศให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบัตรประชาชนของนักเที่ยว
ซึ่งผลการตรวจเป็นไปดังคาด พบว่านักเที่ยวเป็นบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวนมากถึง 325 คน ในจำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำสุดเพียง 16 ปี และยังมีผู้ไม่พกบัตรประชาชนอีกจำนวน 50 คน
นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจสอบทางหนีไฟภายในผับ พบว่าประตูทางหนีไฟทั้ง 3 จุด มีการล็อคกุญแจทุกด้าน ไม่สามารถเข้าออกได้ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ เกรงว่าจะไม่สามารถนำนักเที่ยวออกจากสถานที่ได้ทัน
มีรายงานว่า เบื้องต้นชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานบริการจำนวน 6 ข้อหา คือ
1.ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมิได้ทำงานในสถานบริการนั้น เข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ
2.เปิดทำการเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด
3.จำหน่ายสุราให้แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี
4.จำหน่ายสุราเกินกว่าเวลาที่กฎหมายบัญญัติ
5.โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม และ
6.ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร จำหน่ายสุราแก่เด็ก อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ข้อ 4 (1)-(4)
ทั้งนี้ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองชุดจับกุม จะได้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสถานบริการดังกล่าว และห้ามมิให้มีการเปิดสถานบริการในสถานที่ดังกล่าวอีกเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นกระขวนการและขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป
หากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีคำสั่งทางปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสถานบริการดังกล่าวและห้ามมิให้มีการเปิดสถานบริการในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี ตามที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง เสนอ นั่นเท่ากับว่าจะเป็นการปิดตำนาน “พาคลับ” ผับที่เคยเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของวัยรุ่นในจังหวัดเชียงรายซึ่งได้เปิดตัวและรุ่งเรืองสุดขีดในยุค 90 ลงอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่ พล.ต.ต.ชินวิช วิชันธนพัฒน์ ผบก.ภ.จว.เชียงราย ได้มีคำสั่ง ภ.เชียงราย ที่ 864/2565 ให้ พ.ต.อ.กิตติพงษ์ สุขวัฒนพันธ์ ผกก.สภ.เมืองเชียงราย ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ภ.จว.เชียงราย โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม มีผลทันทีจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า “พาคลับ”สถานบันเทิงเก่าแก่คู่เมืองเชียงราย ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงแรมอินคำ โรงแรมหรูขนาดใหญ่ของจังหวัดเชียงรายในยุค 90 ซึ่งในยุครุ่งเรืองอยู่ใต้การบริหารงานของนักลงทุนจากส่วนกลางนาม “นรินทร์ อรุณานนท์ชัย”
ภายในโรงแรมนอกจากจะมีพาคลับเป็นตัวชูโรงแล้ว ยังมีห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ ห้องอาหาร ห้องคาราโอเกะ นวดแผนโบราณ และห้องพักหลากหลายระดับราคา นอกจากนั้นใกล้ ๆ กันยังมีโรงแรมเรือนทิพย์โรงแรมขนาดกลาง เป็นโรงแรมในเครืออีกด้วย และเช่นกันภายในโรงแรมเรือนทิพย์ ก็มีผับขนาดกลางชื่อ “สเปิร์มผับ” ก็เป็นอีก 1 ผับยอดนิยมของนักเที่ยวในยุค 90
ว่ากันว่าทั้ง“พาคลับ” และ “สเปิร์มผับ” สร้างรายได้มหาศาล ให้กับนักลงทุนตระกูล “อรุณานนท์ชัย”ปัจจุบันธุรกิจในเครือโรงแรมอินคำอยู่ภายใต้การบริหารของรุ่นทายาท ““นรินทร์ อรุณานนท์ชัย”