การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยขณะนี้ มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง โดยเริ่มมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย แตะระดับ 1 ล้านคนต่อเดือนนับจากมีการยกเลิก Thailand Pass ต่อเนื่องกับการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุนเฉิน และประกาศให้โควิด จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นปัจจัยบวกในการสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการท่องเที่ยวของไทยในช่วงไฮซีซันนี้
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มยอดจองห้องพักล่วงหน้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.65) ซึ่งตรงกับช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นมา
สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินต่างๆในช่วงตารางบินฤดูหนาวนี้ที่มีตารางบินเข้าไทยมากขึ้น โดยคาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในไตรมาส 4 ปีนี้ จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 50-55% จากปัจจุบันอยู่ที่ 48%(ประเมินเฉพาะโรงแรมที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น) และอาจเห็นบางโรงแรมปรับสูงกว่า 80% โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่อยู่ในแหล่งธุรกิจ และรองรับลูกค้ากลุ่มนี้เป็นหลัก แต่โรงแรมระดับ 3 ดาวลงมา อัตราการเข้าพักก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวดีมากนัก
โดยในปีนี้รัฐตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 10 ล้านคน มีความเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใกล้จะแตะ 6 ล้านคนแล้ว และ 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ถ้าทำได้ที่ 1.5 ล้านคนต่อเดือน ก็มีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้ บวกกับประเทศอื่นๆ มีการปลดล็อกเปิดประเทศเพิ่มด้วย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น และการที่ไทยประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถือเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนเบื้องต้นด้วย
เพราะตลาดหลักที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงไฮซีซั่นนี้ คือ ยุโรป สแกนดิเนเวีย รัสเซียที่มีเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมของคนยุโรปตอนนี้เลิกสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้ว การประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ก็ถือว่าดีมาก เพราะต่อไปการจะสวมหรือไม่สวมหน้ากากอนามัย จะขึ้นอยู่กับการเลือกของแต่ละบุคคล ไม่ได้เป็นการบังคับอีกต่อไป
อย่างไรก็ตามในปีนี้ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 10 ล้านคนตามเป้าหมายของภาครัฐ เทียบกับปี 62 ที่เรามีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน ก็เท่ากับเราฟื้นตัวกลับขึ้นมาอยู่ในระดับ 1 ใน 4 เท่านั้น ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมหากเทียบกับก่อนเกิดโควิดในปี 62 ธุรกิจโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 70% ส่วนในปี 2563 ที่เกิดโควิด อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 30% เพราะยังมีต่างชาติเดินทางได้บ้างในช่วง 3 เดือนแรกของปี และในปี 2564 ได้รับผลกระทบจากโควิดไปเต็มๆ ทำให้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเหลือเพียง 9% เท่านั้น ปีนี้จึงถือว่าดีขึ้นมาก
ในส่วนของธุรกิจสายการบินต่างๆก็มีกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศเข้าไทยเพิ่มขึ้นในช่วงตารางบิน ฤดูหนาว ที่จะเริ่มในเดือนต.ค.นี้ (ต.ค.65-มี.ค.66) จากการเปิดประเทศของประเทศต่างๆ โดยในช่วงตารางฤดูหนาวนี้ จะมีเที่ยวบินเข้าไทยรวมกว่า 573,538 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 74.2% หากเทียบกับตารางบินฤดูร้อนช่วงเดือนก่อนหน้านี้ ที่มีเทียวบินเข้าไทย อยู่ที่ 329,288 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
เช่นเดียวกับสายการบินของไทยที่ทยอยกลับมาเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้
ไม่ว่าจะเป็นการบินไทย ที่มีแผนจะเปิดเส้นทางบินรวม 34 เส้นทางบินทั่วโลก บางกอกแอร์เวย์ส เตรียมเปิดเส้นทางบินจากกระบี่,สมุย,เฉินตู, ฉงชิ่ง เข้าสู่สมุย เนื่องจากเส้นทางบินเข้าสมุยได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนักท่องเที่ยว คาดว่าช่วงไฮซีซั่นนี้นักท่องเที่ยวจะกลับมาใช้บริการมากกว่า 70% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ปี2562) ซึ่งยอดจองบัตรโดยสารล่วงหน้าเส้นทางสมุยถึงสิ้นปี65 มีรวมกว่า 470,000 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 179% ไทยแอร์เอเชีย ก็มีแผนเปิดจุดใหม่เข้าสู่ญี่ปุ่น ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เพิ่มจุดบินใหม่สู่ซีดนีย์และเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เป็นต้น
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง UNWTO หรือองค์การท่องเที่ยวโลก ได้จัดอันดับการพื้นตัวทางการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทย ติดอันดับ 1 ด้านจำนวนการจองห้องพัก และเป็นอันดับ 2 ด้านความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวจาก 10 อันดับประเทศท่องเที่ยวโลก
ถือว่าเป็นความสำเร็จในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว หลังเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นไปตามแผนการเปิดประเทศของไทยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ไปจนถึงการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ การสนับสนุนนโยบายเรื่องวีซ่าของรัฐบาล การเปิดพรมแดนต้อนรับประเทศเพื่อนบ้าน และการทำตลาดเชิงรุกของททท.
โดยผมมั่นใจว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.5 ล้านคนต่อเดือน ทำให้ตลอดทั้งปีนี้มั่นใจว่าจะมีต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยตามเป้า 10 ล้านคน และมีคนไทยเที่ยวไทย 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมอยู่ที่ 1.28 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ
แต่อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่วางไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท เนื่องจากในปีนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยส่วนใหญ่จะเป็นตลาดระยะใกล้ นักท่องเที่ยวจากประเทศชายแดนเพื่อนบ้าน แต่ตลาดระยะไกลยังไม่มาก ทำให้การใช้จ่ายเฉลี่ยจึงไม่สูง ขณะที่ตลาดระยะไกลอย่างยุโรปมีแนวโน้มดีในช่วงไฮซีซันนี้
อีกทั้งสิ่งที่น่าจับตามองคือการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 16 ต.ค.นี้ นอกจากมีวาระการเสนอให้ สี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 แล้วก็ยังมีการจับต่อมองว่าจีนจะผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์หรือไม่
รวมถึงการที่ สี จิ้นผิง คอน เฟิร์มแล้วว่าจะเข้าร่วมประชุมเอเปคในไทย เดือนพ.ย.นี้ ทางภาคการท่องเที่ยวของไทยรอลุ้นว่าจะมีข่าวดีเรื่องการผ่อนคลายให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่
ถ้ามีการผ่อนคลายมองว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยในเดือน ธ.ค.นี้ 1.5 ล้านคน เพิ่มเติมเข้ามา และจะทำให้ในปี65 ไทยน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้เพิ่มอีกเป็น 11.5 ล้านคน ถ้าไม่ได้ก็ต้องลุ้นนักท่องเที่ยวจีนต่อในปีหน้า