นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จังหวัดตราด (กรอ.ตร.) ครั้งที่ 5/2565 ร่วมกับทีมเศรษฐกิจผู้ว่าราชการจังหวัดตราด โดยมีหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานด้านความมั่นคง ภาคประชาชน และภาคเอกชน รวมทั้งคณะที่ปรึกษาในแต่ละด้าน
ได้รับรายงานเกี่ยวการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดตราด ในปี 2564 และการคาดการณ์ในปี 2565 จากสำนักงานคลังจังหวัดตราด สำนักงานพาณิชย์จ.ตราด พบว่า แม้จังหวัดตราดจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีผลกระทบต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจก็ตาม แต่ก็ยังมีความเติบโตอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
โดยเศรษฐกิจของจังหวัดจราดในปี 2564 นั้น สำนักงานคลังจ.ตราดได้รายงานว่า จ.ตราดมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ(GPP) มีมูลค่า 44,722 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.3 ของ (GDP) ของประเทศ ชาวตราดมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณปีละ 162,508 บาท โดยในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (2560-2564) มีการขยายตัวร้อยละ 1.6 สูงกว่าการขยายตัวของประเทศ ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ส่วนอัตราเงินเฟ้อของจ.ตราด เฉลี่ยอยู่ในระดับร้อยละ 1.2
โครงสร้างทางทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ภาคการเกษตร 47 % ภาคบริการ 44 % ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม 9 % ซึ่งมีผู้มีงานทำ 171,731 คน จากจำนวนประชากร 275,198 คน (ผู้พักอาศัยอยู่จริง รวมที่ไม่ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่จ.ตราดด้วย)
“แต่จากประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจตราด ปี 2565 ที่คาดว่า GPP ขยายตัวขึ้นร้อยละ 4.4 จากด้านอุปทานและด้านอุปสงค์ โดยด้านอุปทาน ด้านเกษตรกรรมโตขึ้นร้อยละ 1.3 อุตสาหกรรมโตขึ้นร้อยละ 3.0 และด้านภาคบริการโตขึ้นร้อยละ 8.7
ส่วนด้านอุปสงค์ การบริโภคเอกชนโตขึ้นร้อยละ 1.9 การลงทุนเอกชนโตขึ้นร้อยละ 7.8 การใช้จ่ายภาครัฐโตขึ้นร้อยละ 0.7 และการค้าชายแดนโตขึ้นร้อยละ 1.9 ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีอัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ1.8” ผู้ว่าราชการจ.ตราดกล่าว
ผู้ว่าราชการจ.ตราดยังกล่าวอีกว่า ในอนาคตสนามบินตราด ที่บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของนั้น ได้นำเสนอแผนดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี อาทิ การขยายทางวิ่ง (Runway) จากความยาว 1,800 เมตร เป็น 2,120 เมตร เพื่อให้รองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากที่เคยรองรับเครื่องบิน ATR70 – 600 ให้สามารถรองรับเครื่องบิน Airbus A319 , Airbus A320 รวมทั้งการพัฒนาอาคารที่พักผู้โดยสาร หอบังคับการบิน ลานจอดอากาศยาน เป็นต้น ซี่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดตราดมากยิ่งขึ้นอีก
ขณะเดียวกัน จังหวัดตราดและภาคเอกชนของจ.ตราด กำลังดำเนินการผลักดันให้เปิดจุดผ่านแดนบ้านท่าเส้น มายังอ.เมือง จ.ตราด ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งจะเชื่อมกับจุดผ่านแดนถาวรบ้านทมอดา ของอ.เวียงเวล จ.โพธิสัต ประเทศกัมพูชา และการผลักดันให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ สามารถเข้า-ออกไปมาได้ และที่จุดผ่อนปรนบ้านมะม่วง อ.บ่อไร่ จ.ตราด ที่เชื่อมกับช่องเนิน 400 อ.สัมรูด จ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา ได้เช่นเดียวกับช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 และยกระดับเป็นด่านชายแดนถาวร
ปัจจุบัน จ.ตราดมีจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก ในอ.คลองใหญ่ มีมูลค่าการค้าขายระหว่าง 2 จังหวัด ในปี 2565 (10 เดือนแรก) มีมูลค่ารวม 28,203,187,936.38 ล้านบาท คาดว่าอีก 2 เดือนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกราว 4-5 พันล้านบาท ซึ่งมูลค่ารวมน่าจะถึง 3.2-3.3 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 31,278,239,349.42 ล้านบาท และปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 32,474,212,949.71 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจประเมินการเติบโตเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปี 2565 จะอยู่ที่ 3-3.5 %