ผู้สื่อข่าวรายว่า กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 30 ส.ค.2565 เห็นชอบในหลักการ แนวทางให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล และบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี คัดค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนหน้ามีมติ
ล่าสุด มีการเผยแพร่เอกสารสำเนาหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่กค.0312/11606 ลงวันที่ 30 ส.ค. 2565 เรื่องการให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการสนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้จัดเข้าวาระการประชุมวันเดียวกันนั้น ประกอบการพิจารณาของครม.ในวาระดังกล่าว
หนังสือความเห็นกระทรวงคลังดังกล่าว มีข้อทักท้วงและข้อสังเกตหลายประเด็น แต่ในที่สุดที่ประชุมครม.คราวดังกล่าว ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯเป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง ไปพิจารณาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งรับความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แล้วแจ้งผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบ ก่อนดำเนินการต่อไป
กระทรวงคลัง มีข้อสังเกตว่า เรื่องนี้เดิมนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561ให้คมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการโอนท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ ทย. 4 แห่ง(สนามบินชุมพร อุดรธานี ตาก และสกลนคร) ไปให้ ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบบริหาร แต่ต่อมาคณะกรรมการที่กระทรวงคมนาคมแต่งตั้ง มีมติเห็นชอบให้ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการสนามบินทั้ง 3 แห่งแทน(อุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์)
รวมทั้งเห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอต่อ ครม.เพื่อประกอบการพิขารณายังไม่เพียงพอ ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ยังไม่ปรากฏว่ามีข้อมูลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ สำหรับท่าอากาศยานของทั้ง 3 แห่ง เปรียบเทียบกับที่ทย.ดำเนินการ เช่น คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร แผนพัฒนา แผนการลงทุน คาดการรายได้-ค่าใช้จ่าย ผลตอบแทนทางการเงิน ผลกระทบการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของทย.และทอท. หรือแผนบริหารความเสี่ยงหากการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้า
ประเด็นการใช้ที่ราชพัสดุ ทอท.จะต้องบัญชีรายการทรัพย์สินในที่ราชพัสดุของแต่ละสนามบิน ให้กรมธนารักษ์ใช้ประกอบการพิจารณา ทั้งกลุ่มกิจกรรมเชิงพาณิชย์และไม่ใช่เชิงพาณิชย์ เขตปลอดอากร พื้นที่พัฒนาโครงการใหม่ เพื่อกำหนออัตราประโยชน์ตอบแทนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง ที่ทอท.จะจัดสร้างในอนาคต ทั้งนี้ การจะให้ทอท.เข้ามาบริหารจัดการสนามบิน กระทรวงคมนาคมต้องคืนที่ราชพัสดุ หรือให้ความยินยอมเป็นหนังสือให้กรมธนารักษ์นำที่ราชพัสดุไปจัดหาผลประโยชน์ได้ โดยทอท.ประสงค์ขอใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุต้องดำเนินการโดยการเช่า ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ราชพัสดุ ส่วนที่เป็นที่ป่าสงวนก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น
นอกจากนี้ก็ได้แสดงความกังวล อันเนื่องมาจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ได้เกิดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิค 19 ทำให้ ทอท.มีผลประกอบการขาดทุน ประกอบกับ ในปี 2565 นี้ มีแผนการลงทุนในโครงการขยาดใหญ่หลายโครงการ อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในสนามบินทั้ง 3 แห่งได้ในอนาคต และจะส่งผลกระทบต่อการชำระเงินของ ทอท. จึงควรมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
ผลต่อเนื่องอีกประการคือ บัญชีเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน ซึ่งนำมาใช้จ่ายในการบริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของทย.ทุกแห่ง ซึ่งต้องใช้ประมาณปีละ 500 ล้านบาท แต่ช่วงการระบาดโควิด-19 ที่การเดินทางทางอากาศลดลงมาก ปัจจุบันมียอดคงค้างเพียง 99 ล้านบาทเศษ โดยที่รายได้นำส่งเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานในภาวะปกติ ได้จากสนามบินกระบี่ถึง 55.7 % และสนามบินอุดรธานี 14.2 % รวมเป็นเกือบ 70 % หากโอนการบริหารสนามบินดังกล่าวไปให้ทอท. จะกระทบบัญชีเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานในสัดส่วนสูง อาจเป็นภาระงบประมาณของรัฐในอนาคต
นายวีระพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคอีสานตอนบน 1 กล่าวว่า ในฐานะนักธุรกิจในพื้นที่ ยืนยันคัดค้านการมอบหมายทอท.มาบริหารจัดการสนามบินของทย.3 แห่ง รวมทั้งสนามบินอุดรธานีเช่นเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ยังไม่มีสายการบินระหว่างประเทศมาใช้บริการ แต่สนามบินอุดรธานีมีศักยภาพ เป็นสนามบินใหญ่สุดของอีสาน และสร้างรายได้สูงในลำดับต้นแห่งหนึ่งของประเทศ โดยทย.มีแผนพัฒนาศักยภาพเพิ่มต่อเนื่อง เพื่อให้รับผู้โดยสารให้ได้ 7.3 ล้านคนต่อปี ในปี 2570 แต่มาสะดุดจากนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่มีแนวทางจะให้ทอท.เข้ามาบริหารดังกลาว
อีกทั้งทอท.เป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบธุรกิจเพื่อมุ่งหวังกำไร จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และมีความไม่ชัดเจนในกระบวนการต่าง ๆ จึงมีจุดยืนเดิมในฐานะนักธุรกิจในพื้นที่ ไม่เห็นด้วยกับการมอบให้ทอท.เข้ามาบริหารสนามบินอุดรธานี และอีก 2 จังหวัด
นายวีระพงษ์ กล่าวอีกว่า รู้สึกเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เพราะเอกชนย่อมที่จะทำธุรกิจเพื่อหวังกำไรเป็นหลัก และในช่วงโควิค-19 ที่ผ่านมา วงการธุรกิจได้รับผลกระทบด้านสภาพคล่องด้วยกันทุกแห่ง ซึ่ง ทอท.ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่ง การที่จะเข้ามาบริหารสนามบินอุดรธานี ก็มีเพียงคำพูดฝ่ายเดียว ในลักษณะวาดฝันให้ชาวจังหวัดอุดรธานี ว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ใครสามารถรับรองได้ว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างที่ ทอท.พูด หรือไม่อย่างไร จึง ต้องมีความชัดเจนชี้แจงต่อพื้นที่ได้มากกว่านี้
อีกทั้งสนามบินทั่วประเทศ ถือเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดหาให้ เช่นเดียวกับสถานีรถโดยสาร บขส. เมื่อเอกชนขอเข้ามาบริหาร จะต้องจัดการให้เป็นไปตามกฏหมาย หรือ พรบ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 จะต้องทำการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่ ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่จะมุ่งเอาแต่สนามบินที่มีผลประกอบการที่ดี เช่น สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ ที่ทำรายได้หล่อเลี้ยงทย.อยู่ถึง 60-70 % ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริหารงบประมาณในอนาคตของ ทย.
นอกจากนี้แล้วมีเหตุผลอะไร ที่ต้องพ่วงเอาสนามบินบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสนามบินขนาดเล็ก และมีผลประกอบการไม่ดี เข้าไปในการดำเนินการครั้งนี้ด้วย ประเด็นจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้คมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งถ่ายโอนสนามบินใน 4 จังหวัด เพื่อให้พื้นที่จังหวัดเกิดการเติบโต แต่จู่ ๆ ก็มาเปลี่ยนเอา 3 สนามบินดังกล่าว ก็จึงเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น หรือมีใครที่มีอำนาจเกินจากนายกรัฐมนตรีมาสั่งการให้เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ เห็นด้วยว่าควรต้องตั้งคณะทำงานตรวจสอบติดตามดารดำเนินการของ ทอท.ในทุก ๆ ด้าน เช่น การเก็บค่าเช่าพื้นที่ ที่ ทอท.เก็บในราคาสูงกว่า ทย.หลายเท่าตัว มีเหตุผลอะไร เหมาะสมหรือไม่ ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบอะไร อย่างไรในการใช้บริการ อย่าให้เกิดการผูกขาดเช่นทุกวันนี้ และน่าที่จะเปิดประมูลประกวดราคา ให้โอกาสแก่รายอื่น ๆ มีโอกาสในการแข่งขันด้วย นายวีระพงษ์ฯกล่าว
ขณะที่นายชัยฤทธิ์ เขาวงศ์ทอง สมาชิกสภาจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า การกระทำของคมนาคมกับ ทอท. น่าจะมีเลศนัย และทำไปโดยไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ไม่เคยได้รับทราบมาก่อนเลย ตามปกติแล้วประเทศไทยก็มีกฏหมายการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการของรัฐจะต้องมีการประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ให้ได้รับรู้
จึงขอถามไปยังคมนาคมและ ทอท.ว่า ในเมื่อ ทอท.เป็นบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมีแผนลงทุน มีผลกำไร ขาดทุน ทำไมไม่รับโอนสนามบินจาก ทย. ไปบริหารเองทุกแห่ง ทำไมจะต้องเลือกเอาเฉพาะสนามบินที่มีผลประกอบการที่ดี และการเอาสนามบินบุรีรัมย์พ่วงเข้ามาด้วย ด้วยเหตุผลอะไร ทั้ง ๆ ที่เป็นสนามบินขนาดเล็ก แถมตั้งอยู่ห่างไกลจากย่านเศรษฐกิจของจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย มีเหตุผลทางการเมืองอยู่ด้วยหรือเปล่า
การกระทำของ ทอท. จะขอเข้ามาดูแลและบริหารจัดการสนามบิน แต่ไปคัดเอาเฉพาะสนามบินที่มีผลประกอบการที่ดี มีความพร้อม มีศักยภาพ มีสิ่งสาธารณูปโภคพร้อมสรรพแล้ว โดยที่ ทอท.ไม่ต้องลงทุนพัฒนาอะไรมากนัก ก็สามารถทำรายได้เข้ากระเป๋าได้แล้ว โดยเฉพาะสนามบินอุดรธานีและกระบี่ เป็นสนามบินที่มีผลประกอบที่ดี เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงสนามบินอื่น ๆ ที่สังกัด ทย.ในปัจจุบัน จึงต้องเร่งจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา ให้รีบมาสำรวจทำประชาพิจารณ์ขอความคิดเห็นจากพื้นที่ตามกฎหมาย
นายชัยฤทธิ์ชี้อีกว่า มีหลายประเด็นที่เป็นพิรุธ อาทิ การที่คมนาคมมีแนวทางจะให้ทอท.ไปบริหารจัดการ 3 สนามบิน คือที่อุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่ ต่างไปจากข้อสั่งการขอนายกฯก่อนหน้านั้น ที่ให้ดำเนินการที่สนามบินชุมพร อุดรธานี ตาก และสกลนคร โดยไม่มีเหตุผลชัดเจน
"ยังมีข้อน่าสงสัยและน่าสังเกตอีกหลายประเด็น ที่คมนาคม และ ทอท.ต้องชี้แจงกับสาธารณะให้ได้ชัดเจน เช่น การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุ ที่ต้องทำตามกฏหมายที่ราชพัสดุ ปี 2564 แผนการพัฒนา และแผนการลงทุนใน 3 สนามบินที่จะได้รับโอน ว่ามีรายละเอียดอย่างไร หากไม่สามารถทำตามแผนได้ จะส่งผลกระทบกับ ทย.ในอนาคตอย่างไร ทอท.จะทำอย่างไร เพราะในช่วงโควิค-19 ที่ผ่านมา ก็กระทบต่อผลประกอบการ ทอท. ขณะที่มีแผนลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ มีความพร้อมจะลงทุน 3 สนามบินที่จะเข้ามารับผิดชอบได้อย่างไร"นายชัยฤทธิ์กล่าวย้ำ