สกาล (SKAL) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เกิดจากการรวมตัวของผู้นำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับโลก เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 13,010 ราย และมีสาขาในกว่า 85 ประเทศทั่วโลก ในปีนี้ สกาล มองทิศทางด้านการท่องเที่ยวของไทยจะเป็นเช่นไร “เจมส์ เธอร์ลบี้” (James Thurlby) ประธานสมาคมสกาลสากลกรุงเทพฯ มีคำตอบ
ประธานสมาคมสกาลสากลกรุงเทพฯ กล่าวว่าปัจจุบันสมาคมสกาลสากลกรุงเทพฯ มีสมาชิก 77 ราย และ 45% เป็นผู้ที่มาจากธุรกิจโรงแรม ที่เหลือนอกนั้นเป็นธุรกิจภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับโรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งรวมทั้งบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว บริษัทจัดส่งซัพพลายต่างๆ ให้ผู้ประกอบการโรงแรม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีเครือข่ายธุรกิจต่างๆ มากมายที่เชื่อมโยงประสานกัน
ท่องเที่ยวไทยเนื้อหอม
แนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปี 2566 “เธอร์ลบี้” มองอนาคตในมุมบวก 100% เชื่อว่า ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะอยู่ในทิศทางทางที่ดีขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มเข้ามามากขึ้น และมียอดจองโรงแรม-ห้องพักเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
ช่วงที่เราต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นช่วงเวลาแห่งบททดสอบ เราต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน สำหรับสกาลเอง ก็ต้องจัดประชุมสมาชิกกันทางออนไลน์ แต่เราก็ผ่านโควิดกันมาได้ด้วยดี
สิ่งที่ผมเห็นตอนนี้ ก็คืออุตสาหกรรมด้านโรงแรม ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว ที่เรียกโดยรวมว่า Hospitality Industry ของไทยกำลังขยายตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติก็เริ่มกลับมาแล้วด้วย ในความคิดของผม ตลาดจีนเป็นตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวไทย
ผมจึงเชื่อว่า การเปิดประเทศของจีนจะช่วยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้อย่างมาก ดังนั้น การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนก็จะเป็นอีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนเชิงบวกสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่กำลังขยายตัวอยู่
อย่างไรก็ตามถึงแม้การฟื้นตัวนี้เกิดขึ้นในขณะนี้ แม้นักท่องเที่ยวจีนยังไม่ได้กลับเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ แต่ผมก็เห็นการท่องเที่ยวของไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างๆ เดินทางเข้ามาและยอดจองที่พักก็ขยายตัว
โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาพักผ่อนช่วงเทศกาลวันหยุด (holidaymaker) จากยุโรป เช่น อังกฤษ หรือแม้แต่จากตะวัน ออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รวมทั้งนักท่องเที่ยวภายในประเทศ คือคนไทยเองที่ออกท่องเที่ยวมากขึ้น
กัญชาเสรีช่วยดึงต่างชาติ
นอกจากการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ผมยังเห็นปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น การที่ไทยมีกฎหมายออกมารับรองการใช้ “กัญชา” อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวในระดับหนึ่ง
สะท้อนจากความคึกคักของตลาดที่เกี่ยวเนื่อง เช่นการผุดขึ้นของร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับกัญชา ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มในช่วงที่กฎหมายออกมาใหม่ๆ ตั้งแต่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
แม้จะเป็นการเปิดเสรีสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีสินค้ารวมทั้งร้านค้าออกมาขานรับกฎหมายนี้อย่างคึกคัก นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ขานรับในเชิงบวก ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องมีการบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง และต้องมีความชัดเจน
เช่นเดียวกับเรื่อง “การพนันเสรี” หรือ “การเปิดบ่อนกาสิโนอย่างถูกกฎหมาย” ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีการ นำเสนอขึ้นมานานแล้วในประเทศไทย และผมเองก็คิดว่าเรื่องนี้ในที่สุดก็คงจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ต้องมีข้อจำกัดที่รัดกุม ไม่ให้เกิดผล กระทบเชิงลบทางสังคม
ไทยไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวราคาถูกแล้ว
อย่างไรก็ตามท่ามกลางสัญญาณเชิงบวก ธุรกิจท่องเที่ยวปี 2566 ยังคงมีความท้าทายซึ่งเกิดจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผมยังมองว่าสิ่งที่จะเป็นปัญหา ใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่เพียงเฉพาะในไทย แต่เป็นปัญหาสำหรับการท่องเที่ยวทั่วโลกในปีนี้ คือราคาสินค้าและบริการ ตลอดจน “ค่าครองชีพ” ที่ถีบตัวสูงขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงเมื่อพวกเขาวางแผนท่องเที่ยว
เมื่อก่อนค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในไทยไม่แพงเลย ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่นักเดินทางสามารถท่องเที่ยวได้ถูกที่สุดในบรรดาประเทศจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอื่นๆ แต่ตอนนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ กำลังขยับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ฯลฯ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญ ราคาสินค้าต่างๆ ที่สูงขึ้นเป็นสิ่งเดียวที่ผม กังวลที่สุดในเวลานี้
เพราะหากจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน การมาเที่ยวไทยถือว่าไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวราคาประหยัดอีกต่อไป ยกตัวอย่างถ้าไปฟิลิปปินส์ ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวถูกกว่า
แต่ในท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับว่า นักท่องเที่ยวต้องการแหล่งท่องเที่ยวแบบไหน เพราะแม้เที่ยวไทยจะแพงกว่า แต่ก็มีครบครันทุกสิ่งและเที่ยวได้สนุก สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายในราคาที่จับต้องได้ เช่น เวียดนาม เมียนมา ลาว กัมพูชา ฯลฯ ถือว่าไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้
ทั้งผมเชื่อมั่นว่าปี 2566 จะเป็นปีที่การท่องเที่ยวไทยได้กลับมาสู่จุดที่ควรจะเป็น กลับมาแข็งแกร่งในระดับก่อนเกิดโควิดหรือแซงหน้าระดับที่เคยทำได้ก่อนยุคโควิดด้วยซํ้า ผมหมายถึงในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาเดินทางท่องเที่ยวในไทย
เมื่อนักท่องเที่ยวมาไทย พวกเขามองเห็นจุดเด่นในเรื่องสภาพอากาศที่เป็นประเทศร้อนชื้น สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี มีสถานที่ ท่องเที่ยวมากมาย คนไทยอัธยาศัยดี การเดินทางสะดวกสบาย สามารถเดินทางจากไทยต่อไปยังประเทศอื่นๆ ได้สะดวก
ท่ามกลางบริบทที่เป็นเชิงบวกเช่นนี้ ยังมีอีกหลายสิ่งที่ไทยสามารถทำให้ดีขึ้นได้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น อย่างการบังคับใส่หน้ากากอนามัยในบางสถานที่ อาจเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เพราะในหลายๆ ประเทศ นักท่องเที่ยวไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยแล้ว เว้นแต่ว่าเจ้าตัวอยากใส่ ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล
สุดท้ายแล้วผมมองว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังฟื้นตัวขึ้น แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการท่องเที่ยวไทย และที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือ การ ท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย (domestic tourism) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างมากเช่นกันนั่นเอง