ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 31ม.ค.2566 ที่โรงแรมเซ็นทารา โคราช นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาเป็นประธาน ในกิจกรรมลงนามความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาการจัดการโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน สินค้าและบริการ GI “เครื่องปั้นดินเผา”
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวของวิถีชุมชน สร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานรรต ใจสำราญ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 สถาบันทิวา (TVA Institute) รวมทั้งเครือข่าย 17 องค์กร เข้าร่วมอย่างพร้อมเพียง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โชติมา ไชยวงศ์เกียรติ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ มุ่งเน้นส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการท่องเที่ยว ที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์และวิถีชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านโลจิสติกส์การท่องเที่ยว
ซึ่งสามารถสร้างเศรษฐกิจภายในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งในภาคการท่องเที่ยว การผลิต การจัดจำหน่ายสินค้าชุมชน สู่ระดับภูมิภาค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเป็นอย่างดี ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย และสร้างรายได้มวลรวมที่เพิ่มมากขึ้นให้กับจังหวัดนครราชสีมาต่อไป
ทั้งนี้ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อ 1 มิ.ย.2561เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดไม่เคลือบที่เผาด้วยอุณหภูมิสูง เมื่อเผาแล้วมีสีเนื้อดินตามธรรมชาติ มันเงา เนื้อดินมีความแข็งแกร่งทนนาน เคาะมีเสียงดังกังวาน ไม่แตกร้าว ผลิตตามกรรมวิธีที่เป็นเอกลักษณ์สืบทอดกันมาของชาวบ้านตำบลท่าจะหลุง ท่าอ่าง และละลมใหม่พัฒนา ของอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา
ชุมชนด่านเกวียนเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของลุ่มแม่น้ำมูลในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจุดชุมนุมชนของกองเกวียนที่เดินทางระหว่างโคราช-เขมร(กัมพูชา) โดยชนชาติ"ข่า"เป็นคนกลุ่มแรกที่ตั้งชุมชนในบริเวณดังกล่าว แล้วขุดดินทำเครื่องปั้นดินเผาเพื่อบรรทุกเกวียนไปจำหน่ายในพื้นที่โดยรอบ
ประมาณปี 2500 อาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคโคราช (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) มาสำรวจพบความแปลกใหม่ของเนื้อดินเครื่องปั้นดินเผาบ้านด่านเกวียน จึงส่งเสริมออกแบบเครื่องปั้นดินเผาสู่รูปแบบใหม่ ๆ ต่อเนื่องมา กระทั่งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI)เพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ ตลอดจนพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน