นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า สำหรับสถิติเที่ยวบินและผู้โดยสารในภาพรวมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 - 15 ก.พ. 2566 มีจำนวนเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 107,304 เที่ยวบิน และมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 17,350,179 คน ขณะที่จำนวนผู้โดยสารเที่ยวบินขาเข้าจากจีนจะแตะ 500,000 คน ภายในประมาณวันที่ 1 พ.ค. 2566 และคาดการณ์ว่าผู้โดยสารเที่ยวบินขาเข้าจากจีนอยู่ที่ 1,000,000 คน ภายในประมาณวันที่ 20 ส.ค. 2566
ทั้งนี้หลังจากจีนเปิดประเทศและให้บริษัทนำเที่ยวจัดกรุ๊ปทัวร์นำนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศได้ ในระหว่างวันที่ 8 ม.ค. -15 ก.พ. 2566 เที่ยวบินที่ทำการบินเข้ามาจีน (จีน ฮ่องกง มาเก๊า) มีจำนวน 751 เที่ยวบินเฉลี่ยวันละ 20 เที่ยวบิน และผู้โดยสารขาเข้าจากจีนมีจำนวน 161,502 คน เฉลี่ยวันละ 4,142 คน
นายกีรติ กล่าวว่า ปัจจุบันทอท.อยู่ระหว่างเตรียมการแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่งบริเวณพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยที่ผ่านมา ผู้โดยสารขาเข้า ใช้เวลาเฉลี่ย 30-50 นาที โดยประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) จัดเจ้าหน้าที่ให้บริการเต็มเคาน์เตอร์ 100% โดยเฉพาะเวลาผู้โดยสารหนาแน่นช่วง 15.00 น.-20.00 น. คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2566 ผู้โดยสารที่สุวรรณภูมิจะมีประมาณ 60 ล้านคน/ปี หรือกลับไปเท่ากับจำนวนผู้โดยสารเมื่อปี 2562
ส่วนแผนการเพิ่มขีดความสามารถของจุดตรวจหนังสือเดินทาง โดยอยู่ระหว่างเร่งทำแผน และนำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) ทอท. ในเดือนมี.ค. 2566 เพื่อขออนุมัติงบประมาณ ซึ่งจะแบ่งดำเนินการ เป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ติดตั้งเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ Auto channel เพื่อรองรับผู้โดยสารขาออกได้ทุกประเทศที่มีการใช้งาน E-Passport ทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้บริการผ่าน Auto channel ได้ สะดวกรวดเร็ว
ทั้งนี้จะใช้ระบบเทคโนโลยีที่สากลยอมรับ โดยใช้ใบหน้าร่วมกับลายนิ้วมือ ทำให้ในขณะที่ผู้โดยสารขาเข้า นอกจากผู้โดยสารชาวไทยแล้ว ประเทศไทยได้มีบันทึกข้อตกลงในการผ่านเข้าประเทศทำให้ผู้โดยสารกลุ่มนี้ สามารถใช้บริการ Auto channel ได้ อีกด้วยโดยจะจัดหา เพื่อทดแทนของเดิม 30 เครื่องและติดตั้งเพิ่มอีก 26 เครื่องรวมเป็น 56 เครื่องคาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการจัดหาพัสดุ ได้ประมาณ เดือน มิ.ย. 2566 และเริ่มทยอยทำการติดตั้งเครื่อง Auto channel ได้ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2566 ไปจนครบภายในเดือนส.ค. 2567 ทำให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารขาออก จาก 6,200 คน/ชั่วโมง เป็น 8,800 คน/ชั่วโมง และ สามารถรองรับผู้โดยสารขาเข้า จาก 11,000 คน/ชั่วโมง เป็น 13,300 คน/ชั่วโมง
ระยะที่ 2 เป็นการก่อสร้างพื้นที่ บริเวณพื้นที่ว่าง ที่อยู่ระหว่างอาคารผู้โดยสารกับ อาคาร Concourse D เพื่อเป็นโถงรองรับผู้โดยสารขาเข้า และผู้โดยสาร Visa on Arrival (VOA) มีพื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางเมตร โดยจะมีตม.บรืการรวม 63 ช่องทางแบ่งเป็น Auto channel จำนวน 32 เครื่อง และเคาน์เตอร์ตม.อีก 30 เคาน์เตอร์
ขณะเดียวกันการดำเนินการอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณ เช่นกัน ซึ่งในเฟส 2 จะมีงบจัดหาเครื่อง Auto channel และงบสำหรับการก่อสร้างเพื่อปรับปรุงพื้นที่ โดยจะเร่งจัดทำข้อกำหนดรายละเอียด (TOR) โดยจะสามารถเริ่มงานได้ประมาณ เดือน พ.ย. 2566 และจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2568 โดยเมื่อการดำเนินงานแล้วเสร็จ จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารขาเข้าได้อีกประมาณ 2,000 คน/ชั่วโมง และเพิ่มการรองรับในส่วนของผู้โดสาร Visa on Arrival (VOA) ได้อีก ประมาณ 400 คน/ชั่วโมง
ด้านการจัดพื้นที่และระบบตรวจหนังสือเดินทางในระยะที่ 2 เพื่อรองรับผู้โดยสาร ที่จะเพิ่มจากการเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ที่ขณะนี้การก่อสร้างและการทดสอบระบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการทำสอบเสมือนจริง ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนก.ย. 2566
นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท.กล่าวว่า สำหรับความพร้อมในการให้บริการผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสCOVID-19 คลี่คลายมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ต่อเนื่องจนกระทั่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2566 และได้อนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวจัดกรุ๊ปทัวร์นำนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2566 ส่งผลให้เกิดความแออัดคับคั่งของผู้โดยสารโดยเฉพาะในช่วงเวลาชั่วโมงเร่งด่วน (Peak Hour) นั้น
ที่ผ่านมาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีการแก้ปัญหาการให้บริการในหลายประเด็นกับหน่วยงานและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เช่นกรณีการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระล่าช้า โดย สถิติเที่ยวบินเมื่อเดือนธ.ค. 2565 มีจำนวน ที่มีบริการกระเป๋าล่าช้ามากกว่า 30 นาทีประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวัน ในเดือน ม.ค. 2566 ลดเหลือประมาณ 30 เที่ยวบินต่อวัน ปัจจุบันเดือนก.พ. 2566 ลดลงเหลือประมาณ 15-20 เที่ยวบินต่อวัน คิดเป็นประมาณ 7 % ของเที่ยวบินทั้งหมด
นายกิตติพงศ์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะกลางนั้น บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้น ทั้ง 2 ราย (บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัดหรือ BFS ) ได้เร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดประเทศ
ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาผู้ให้บริการภาคพื้นรายที่ 3 ซึ่ง ทอท. ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนพร้อมทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยให้กับ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อไป
นอกจากนี้ปัญหารถแท็กซี่สาธารณะขาดแคลน หลังจากเกิดโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการแท็กซี่กลับภูมิลำเนา และยังกลับมาดำเนินการไม่ครบจำนวนนั้น ได้เร่งแก้ปัญหาในการเพิ่มจำนวนแท็กซี่เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายและใช้เวลาในการรอคิวน้อยที่สุดซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรถแท็กซี่ฯ ในระบบเพิ่มขึ้นจากเดิม เป็น 3,909 คัน คาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนรถแท็กซี่ฯ เข้าระบบเพื่อรองรับการใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นได้ถึงจำนวน 4,500 คัน ช่วงเดือนเม.ย. 2566
อย่างไรก็ตามผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันSAWASDEE by AOT เพื่อดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ทสภ. และจองการใช้บริการรถ TAXI ได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการรถแท็กซี่ฯ