จากสถานการณ์ของการท่องเที่ยวโลกฟื้นตัวและอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังการเปิดประเทศของประเทศต่างๆส่งผลให้ธุรกิจการบินโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง
IATA คาดปี2566 ธุรกิจการบินโลกกลับมาทำกำไร
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)คาดว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะกลับมาทำกำไรได้ใน ปี 2566 โดยคาดว่ากำไรอยู่ที่ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 4 พันล้านราย
เนื่องจากสายการบินต่างๆสามารถลดผลขาดทุนในปี2565 อันเกิดจากผลกระทบของโควิด-19ซึ่งในปีที่ผ่านมาคาดว่าอุตสาหกรรมการบินโลกขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ต้องสูญเสียรายได้ไปมากถึง 42.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2564 โดยในปี 2565 คาดว่าจะมีรายได้จากผู้โดยสารจะอยู่ที่ 438 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การกลับทำกำไรอีกครั้งในรอบ 3 ปีกว่า ถือเป็นทิศทางที่ดี ทำให้ธุรกิจการบินกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง แม้ว่า IATA คาดว่าอุตสาหกรรมการบินโลกจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิดภายในปี 2567 เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก
สายการบินใหม่ไทย-เทศแห่สยายปีก
การฟื้นตัวของธุรกิจการบินที่เกิดขึ้น ไม่เพียงจะทำให้สายการบินต่างๆ จะเร่งฟื้นธุรกิจด้วยการทยอยกลับมาเปิดเที่ยวบินให้กลับมาเท่าก่อนเกิดโควิดเท่านั้นแต่เราจะเห็นว่าในทางกลับกันก็มีผู้เล่นใหม่เข้าสู่ตลาดนี้เพิ่มขึ้นเข้ามาทดแทนบางสายการบินที่ล้มหายจากไปจากพิษโควิด-19 การตั้งสายการบินใหม่ในเวลา อาจกล่าวได้ว่าเป็น จังหวะที่เหมาะสม
เพราะสายการบินที่อยู่รอดวันนี้ ล้วนบาดเจ็บจากผล กระทบของโควิด-19 อยู่ และอยู่ในช่วงฟื้นตัว เฉพาะตำแหน่งนักบินและลูกเรือก็ยังว่างงานอยู่พอสมควร เนื่องจากสายการบินยังไม่กลับมาทำการบินได้เต็ม 100% เหมือนก่อนเกิดโควิด จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ต้องการลงสนาม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ
ไม่เพียงการจัดตั้งสายการบินใหม่ของไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สายการบิน P 80 ของ เจ้าสัวประยุทธ มหากิจศิริ “เรียลลี คูลแอร์ไลน์” ของ พาที สารสิน “แลนดาร์ช แอร์ไลน์” ของตัวแทนขายเครื่องบินเซสน่าในไทย “สยามซีเพลน” เครื่องบินสะเทิ้นนํ้าสะเทิ้นบก เท่านั้น แต่ในต่างประเทศก็มีการเตรียมจัดตั้งสายการบินใหม่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
ฮือฮาสุดน่าจะเป็น “ริยาดแอร์” ซึ่งจะเป็นสายการบินแห่งชาติสายที่ 2 ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุฯต้องการผลักดันให้เมืองริยาด ซึ่งเป็นเมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย เป็นศูนย์ กลางการเดินทางเชิงพาณิชย์และโลจิสติกส์ที่สำคัญ เป็นหนึ่งในกลยุทธการพึ่งพิงรายได้หลักที่มาจากนํ้ามัน
โดยคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการเติบโตของ GDP ได้กว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ โดยไม่ใช่รายได้จากการค้านํ้ามัน สร้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่งทั้งทางตรงและทางอ้อม
พร้อมดึงดูดนักท่องเที่ยว 100 ล้านคน ในปี 2573 และเร่งแผนแม่บทสนามบินแห่งใหม่ในริยาด ซึ่งสายการบินใหม่นี้ คาดว่าจะสั่งซื้อเครื่องบิน A350 เกือบ 40 ลำจากแอร์บัสขณะเดียวกันก็พยายามติดต่อกับโบอิ้งเพื่อขยายภาคการขนส่งของประเทศ
ริยาด แอร์ ตั้งเป้าเปิดบิน 100 จุดหมายปลายทาง ในปี 2573 การเปิดตัวของสายการบินริยาด ยังทำให้การแข่งขันในธุรกิจสายการบินของตะวันออกกลางยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มี5สายการบิน กาตาร์ มี 1 สายการบิน คูเวต มี 3 สายการบิน ซาอุดีอาระเบีย มี 2 รวมสายการบินรวมสาย การบินใหม่ที่จัดตั้งขึ้น
ขณะที่ในเอเชีย สายการบินใหม่ที่น่าจับตามอง คือ “แอร์เจแปน” สายการบินต้นทุนตํ่าน้องใหม่ในเครือ ANA เน้นให้บริการเส้นทางระยะกลางระหว่างประเทศ คาดว่าจะเริ่มเปิดเที่ยวบินแรกได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในเส้นทางบินสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้บริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787 ขนาด 324 ที่นั่ง
รวมถึง “แอร์เอเชีย กัมพูชา” ซึ่งแอร์เอเชียได้ลงนามร่วมลงทุนกับบริษัทศิวิลัย เอเชีย ให้บริการสายการบินต้นทุนตํ่า คาดวาจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2566 และ “มาย แอร์ไลน์” สายการบินใหม่ของมาเลเซีย ซึ่งวางตำแหน่งทาง การตลาดว่าเป็น Ultra-low-cost airline ที่จะเข้ามาแข่งขันกับสายการบิน โลวคอสต์เจ้าตลาดทั้งในมาเลเซียและในภูมิภาคอย่างแอร์เอเชียนั่นเอง
ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการบินโลก ที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังเผชิญมรสุมโควิดมาร่วม 3 ปีกว่า