บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าทำธุรกรรมการลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA คิดเป็นเงินลงทุนจำนวน 4,725 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 45 ของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจการพัฒนาและบริหารสนามบินในโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีทุนจดทะเบียนและทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วจำนวน 4,500 ล้านบาท
เนื่องจากบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมเงินทุนให้มีความพร้อมต่อการดำเนินงานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จึงได้มีหนังสือแจ้งการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากจำนวน 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 10,500 ล้านบาท
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UTA เผยว่า UTA อยู่ระหว่างปรับแผนพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากโควิด-19 ซึ่งขยายเฟสการพัฒนาจาก 4 เฟส เป็น 6 เฟส โดยปรับเฟสแรกจากรองรับที่ 15.9 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 เฟสแรก ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
จากนั้นมีการทดสอบระบบคาดว่าเปิดให้บริการได้ในปี 2570 และเมื่อมีจำนวนผู้โดยสารถึงระดับ 80% ของขีดการรองรับ จะเริ่มก่อสร้างเฟส 2 โดยหารือกับอีอีซี และที่ปรึกษา สัญญาสัมปทาน 50 ปีในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภารองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี
ตามแผนงานการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน แบ่งเป็น 3 ส่วน
โดยส่วนแรก ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่
1.การบินและผู้โดยสาร และองค์ประกอบของสนามบิน
2. Airport City โดยมีแนวคิดการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ ที่อยู่อาศัย สันทนาการ การท่องเที่ยว
3. ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Logistic Center) เพื่อตอบโจทย์การขนส่งสินค้าในภูมิภาคโดยเป็นศูนย์รวมและกระจายของขนส่ง 4 โหมดครบวงจร ทั้งทางอากาศ ทางราง ทางถนน และทางนํ้า หรือ Multimodel Transport
ส่วนที่สอง เป็นการเตรียมความพร้อมด้านการก่อสร้างและด้าน Operation ซึ่งที่ผ่านมา UTA ได้มีการออกแบบเพื่อเตรียมก่อสร้างและวางคอนเซ็ปต์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยประสานกับอีอีซี กองทัพเรือ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ให้เรียบร้อย
รวมถึงแนวคิดการพัฒนาทางธุรกิจที่จะก่อสร้างเมืองการบินใน 1-2 ปีนี้ แต่ตอบโจทย์ใน 5-10 ปีข้างหน้า ที่สามารถดึงดูดการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการด้าน Operation จัดเตรียมด้านบุคลากรในการให้บริการสนามบิน
ส่วนที่สาม เป็นความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งอีอีซี กองทัพเรือ และผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาสนามบิน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่จะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่าหรือเพิ่มมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกัน
โดย UTA ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาผู้บริหารสนามบินระดับโลก 3 ราย ประกอบด้วย นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดูแลด้านการบริหารจัดการสนามบิน, มิวนิค อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์พอร์ต ช่วยด้านการวางผังพัฒนาสนามบิน, ฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดูแลด้านคาร์โก้ โลจิสติกส์ ซึ่งแผนการลงทุนมีหมดแล้วรอแค่การส่งมอบพื้นที่เท่านั้น