วิชั่นนายก TEA คนใหม่ ดันเอ็กซิบิชั่นไทย ฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน

19 มิ.ย. 2566 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2566 | 08:43 น.

ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า (เอ็กซิบิชั่น) หลังโควิดเป็นอย่างไร และบทบาทของสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA ในการขับเคลื่อนธุรกิจเอ็กซิบิชั่น ภายใต้การนำของนายกสมาคมใหม่ จะเป็นเช่นไร “ปนิษฐา บุรี” มีคำตอบ

การจัดงานแสดงสินค้า (เอ็กซิบิชั่น) ก่อนโควิดทำรายได้เข้าประเทศสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ณ ไตรมาสแรกปี 2566 ฟื้นตัว 75% แล้ว เทรนด์ธุรกิจนี้หลังโควิดเป็นอย่างไร และบทบาทของสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA ในการขับเคลื่อนธุรกิจเอ็กซิบิชั่น 

ปนิษฐา บุรีนายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าแม้การจัดงานแสดงสินค้าในไทย จะได้รับผล กระทบจากโควิด ทำให้บางงานไม่สามารถจัดงานได้ เพราะมีคำสั่งให้ปิดศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์ประชุมในช่วงแรกๆ รวมถึงมาตรการควบคุมการจัดงาน เพื่อคุมการแพร่ระบาดของโควิด บางงานก็หันไปจัดทางออนไลน์แทน บางงานก็ต้องลดสเกลการจัดงานลง

ปนิษฐา บุรี

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยความที่ไทยมีการบริหารจัดการเรื่องโควิดที่ดี ก็ทำให้ในช่วงปี 63-64 ที่ผ่านมา ก็มีการจัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่จากที่เคยจัดงานที่จีน ที่ฮ่องกง ย้ายมาใช้ไทยเป็นสถานที่จัดงาน เช่น งาน Asia Fruit Logistica 2022 และ Jewelry & Gem ASEAN 2023 เป็นต้น ซึ่งในทุกวิกฤตก็มีโอกาสอยู่

ขณะที่ก่อนหน้านี้หลายคน มองว่าการจัดงานออนไลน์ ที่เคยจัดกันมาแล้วสมัยโควิดแพร่ระบาด ต่อไปการจัดงานแบบ Face to Face ก็อาจจะถูกลดบทบาทลง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะการเจรจาธุรกิจแบบ Face to Face โดยเทคโนโลยีออนไลน์ ที่ใช้ในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพียงตัวเสริมเพิ่มการต่อยอดทางธุรกิจ

เนื่องจากการจะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือเทคโนโลยีใหม่ๆผู้ร่วมงานก็ยังต้องการมาเดินงานแสดงสินค้า สัมผัสสินค้า และอุปกรณ์ต่างๆเพื่อเปรียบเทียบซัพพลายในตลาด ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน

ดังนั้นเมื่อโควิดคลี่คลายเราจึงเห็นการฟื้นตัวของการจัดงานแสดงสินค้า แต่อาจจะยังไม่กลับมาเท่าก่อนเกิดโควิด และสเกลการจัดงานบางงานก็ยังอาจจะเล็กลงกว่าเดิมอยู่ เพราะจำนวนผู้แสดงสินค้า หรือเอ็กซิบิเตอร์ยังไม่เท่าเดิม บางงานก็ต้องรอไทม์มิ่งอยู่ การลงทุนจัดงานก็ยังคงมีความระมัดระวัง

เพราะหลายคนยังบาดเจ็บจากโควิด แต่การจัดงานก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง ณ ปัจจุบัน (ม.ค.-มี.ค. 2566) ฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ 75% สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ กว่า 2,300 ล้านบาท ด้วยจำนวนผู้ร่วมงานต่างชาติ กว่า 50,235 ราย และคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะมีการจัดงานแสดงสินค้ารวมกว่า 145 งานที่จะเกิดขึ้น

มูลค่าธุรกิจเอ็กซิบิชั่นของไทย

สำหรับเทรนด์ของธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า จะเห็นว่ามีรูปแบบที่เปลี่ยนไป คือ ผู้แสดงสินค้าจะเลือกออกเฉพาะงานที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้อ (Buyers) ที่ใช่และชัดเจน มีการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาคุณภาพของงาน การให้ไพโอลิตี้ลูกค้ามากขึ้น

วิชั่นนายก TEA คนใหม่ ดันเอ็กซิบิชั่นไทย ฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน

อีกหนึ่งสิ่งที่เราเห็นการเปลี่ยน ชัดเจน คือ ในช่วงโควิดปี 2562 มีการควบรวมและเข้าซื้อกิจการของออแกไนเซอร์ระดับโลก อาทิ ยูบีเอ็ม ซื้อกิจการ ออลเวิลด์ เอ็กซิบิชั่น, อินฟอร์มาซื้อยูบีเอ็ม ขึ้นแท่นเบอร์ 1 เอ็กซิบิเตอร์ของโลก

ประกอบกับเอ็กซิบิเตอร์รายใหญ่ของโลก ต่างให้ความสำคัญกับระเบียบโลก โดยเฉพาะ UN SDG (เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ) ทำให้การจัดงานจะให้ความสำคัญกับการออกแบบ การใช้วัสดุที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (Sustainability Exhibitions)

อาทิ การลดขยะและการสูญเสียการ Recycle รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและทำตามไปกับระเบียบโลก และ ศึกษา ทำความเข้าใจ เพื่อสามารถไปถึงมาตรฐานที่ตั้งไว้ ซึ่งสมาคมเองก็ต้องแนะนำเทรนด์นี้เพื่อหวังให้ผู้จัดงานต่างๆนำความต้องการนี้เป็นโจทย์ในการพัฒนางานที่มีอยู่

ส่วนเป้าหมายในการบริหาร TEA เราวางเป้าว่าจะผลักดันให้ไทยก้าวสู่ Regenerative Exhibitions (งานแสดงสินค้าฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน) ภาย ในปี 2573 โดยจะผลักดัน 2 เรื่องหลัก ได้แก่

1. ความยั่งยืนของธุรกิจ คือ การผลักดันงานนานาชาติ ย้ายมาจัดที่ไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการแสดงสินค้า นวัตกรรม และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้น

2. ความยั่งยืนทางทรัพยากร เช่น การใช้ทรัพยากรทดแทนในการก่อสร้าง การลดปริมาณขยะหลังการจัดงาน การสื่อสารเพื่อให้มีความเข้าใจ ที่ต้องเป็นความร่วมมือกันทั้งระบบที่เกี่ยวข้อง (ซัพพลายเชน) กลยุทธที่จะนำไปสู่เป้าหมายนี้ได้ เราจะต้องหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อทำในเรื่องของ Standard Development พัฒนาธุรกิจนี้เพื่อให้ทันกับนวัตกรรม กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

รวมถึงการผลักดันคุณภาพของบุคคลากรในธุรกิจนี้ ซึ่งหลายคนหายออกไปจากอาชีพนี้ในช่วงโควิด เราต้องสร้างความเชื่อมั่นดึงเขากลับมา รวมถึงผลิตบุคคลากรรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์ธุรกิจนี้ มีมาตรฐานการจัดงานที่พร้อมทำงานได้จริง ครอบคลุม 4 กลุ่มหลัก คือ ผู้จัดงานแสดงสินค้า (Organizers) สถานที่จัดงาน (Venues) ผู้ประกอบการสินค้าและบริการงานแสดงสินค้า (Services Providers) และ ผู้รับจัดการขนส่งสินค้า(Freight Forwarders)

รวมไปถึงการบูรณาการความร่วมมือในทุกภาคส่วน เน้นสร้างพันธมิตรและทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ การหารือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) สะท้อนมุมมองในการแก้ไข pain point หรือกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการจัดงาน ต่อยอดภาพลักษณ์ สร้างการรับรู้ไทย Destination of MICE Industry อย่างยั่งยืน

การหารือกับสภาหอการค้าไทย ส่งเสริมเรื่องการผลักดันให้เกิดการกระจายงานจัด แสดงสินค้านานาชาติ ไปยังจังหวัดต่างๆ ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ธุรกิจการจัดแสดงสินค้า โดยเฉพาะการดึงงานนานาชาติเข้ามาจัดงานในไทย

การเข้ามาร่วมงานของชาวต่างชาติในกลุ่มนี้ จะมีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 5 เท่า พัก โรงแรมระดับ 4-5 ดาว เพราะการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่บริษัทต่างๆเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นายกสมาคม TEA กล่าวทิ้งท้าย