เปิดใจ 2 ไอดอล “รวยไม่หยุด กรุ๊ป” 8 ปี 9 แบรนด์ กำรายได้พันล้าน

08 พ.ย. 2567 | 22:05 น.

เปิดอาณาจักร F&B “รวยไม่หยุด กรุ๊ป” ไอดอลคนรุ่นใหม่ 8 ปีโตแบบนอน สต็อป จากร้านอาหารบุฟเฟ่ต์เกาหลี “nice two Meat u” สู่ 9 แบรนด์ รวม 41 สาขา พร้อมเดินหน้าพลิกโฉม “Juicy Bunny และ Fire Tiger” ปั้นแบรนด์ใหม่ ขยายฐานลูกค้าทุกกลุ่ม มั่นใจสิ้นปีกวาดรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท

หากย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน ไม่มีใครไม่รู้จัก “nice two Meat u” แฟรนไชส์ปิ้งย่างเกาหลีรายแรกๆ ในเมืองไทย ที่นักชิมต้องยอมต่อคิวยาว เพื่อให้ได้ลิ้มลองความอร่อย ไม่เพียงเท่านั้นยังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจีนให้เข้ามาจับจองที่นั่งในร้าน

ความสำเร็จของ nice two Meat u นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ตามมาด้วยแบรนด์ “Mil Toast House” ร้านขนมหวานที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก และ “Fire Tiger” ชานมเสือพ่นไฟ ที่โดนใจแม่จีนอย่างหนัก

นางสาวนันทนัช เอื้อศิริทรัพย์ และ นางสาวชุติมา เปรื่องเมธางกูร

เบื้องหลังความสำเร็จของทั้ง 3 แบรนด์เกิดจาก 2 นักบริหารรุ่นใหม่ อย่าง “ชุติมา เปรื่องเมธางกูร” ประธานบริหาร และ “นันทนัช เอื้อศิริทรัพย์” กรรมการผู้จัดการ ภายใต้บริษัท รวยไม่หยุด จำกัด ที่กลายเป็นไอดอลให้กับหลายๆคน จนวันนี้จากบริษัทรวยไม่หยุด ก้าวขึ้นมาเป็น “รวยไม่หยุด กรุ๊ป” กับ 9 แบรนด์ใน 3 บริษัท มีสาขารวมกันมากกว่า 41 สาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ 2 ผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่ยังคงเดินหน้าในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม หนึ่งในสมรภูมิรบที่ดุเดือด ร้อนแรง แม้แต่บิ๊กเนมหลายรายต้องล่าถอยไป

แต่ “รวยไม่หยุด กรุ๊ป” กลับขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะทันทีที่เจอหน้ากัน ก็พบว่า “รวยไม่หยุด กรุ๊ป” เตรียมเปิดตัวบุฟเฟต์เกาหลีแบรนด์ใหม่ “Dosan Korean Premium BBQ Buffet” ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ร้าน nice two Meat u

“ชุติมา” เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันรวยไม่หยุด กรุ๊ป มี 3 กลุ่มธุรกิจ เพื่อความชัดเจนในการบริหารจัดการ ได้แก่ 1. บริษัท รวยไม่หยุด จำกัด เน้นธุรกิจอาหารประเภทปิ้งย่าง มีทั้งหมด 3 แบรนด์ ได้แก่ nice two Meat u, HAPPY PIG และหมูกระทะคนรวย

 2. บริษัท รวยสบายสบาย จำกัด เน้นธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารเซ็ต มีทั้งหมด 3 แบรนด์ได้แก่ Fire Tiger, Juicy Bunny และ E Bomb และ 3. บริษัท รวยปังปัง จำกัด เน้นธุรกิจของหวาน มีทั้งหมด 3 แบรนด์ ได้แก่ Mil Toast House, SUNDUBUBU & Mil Toast Express และ Dosan Dalmatian

“ในช่วงท้ายปี มีแผนจะเปิดตัวบุฟเฟต์เกาหลีแบรนด์ใหม่ “Dosan Korean Premium BBQ Buffet” เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้นในย่านสยามและพื้นที่ใกล้เคียง”

“ชุติมา” ให้เหตุผลถึงการตัดสินใจเปิดบุฟเฟต์แบรนด์ใหม่นี้ว่า กลุ่มวัยรุ่นที่นิยมใช้เวลาว่างในย่านสยามมีมากขึ้น ทำให้เห็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้า และเลือกทำบุฟเฟต์ใหม่ที่เหมือนในย่านโดซานประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นย่านที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่น

โดยจุดเด่นของบุฟเฟต์ Dosan คือมีราคาที่หลากหลาย ตั้งแต่ราคาประหยัดเริ่มต้นที่ 200 - 300 บาท สำหรับเมนูหมู ไปจนถึงราคาที่สูงขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มออปชั่นเนื้อคุณภาพดี

เปิดใจ 2 ไอดอล “รวยไม่หยุด กรุ๊ป” 8 ปี 9 แบรนด์ กำรายได้พันล้าน

การเลือกทำเล “สยาม” เป็นเหมือนการชิมลางตลาด เพราะเตรียมแผนขยายสาขาต่อไปในพื้นที่นอกเมืองด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังบอกว่า จะขยายธุรกิจร้านปิ้งย่างอาหารเกาหลีในระดับพรีเมียมเพิ่มในปีหน้า โดยจะใช้ชื่อแบรนด์ใหม่ ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจากับห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเพื่อเปิดร้านด้วย

แม้จะขยายธุรกิจเพิ่มต่อเนื่อง สวนกระแสกับภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมร้านอาหารเมืองไทย แต่ “ชุติมา” ก็ยอมรับว่า ธุรกิจร้านอาหารไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

เหตุผลหลักมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น 1. ผู้ประกอบการหันมาเปิดร้านอาหารมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นตามไปด้วย 2. การกลับมาของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ธุรกิจร้านอาหารคึกคักมากขึ้น 3. สื่อโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการสร้างกระแสและดึงดูดลูกค้า ทำให้ร้านอาหารต้องพัฒนาและปรับตัวให้ทันต่อเทรนด์อยู่เสมอ

“แม้ว่าธุรกิจร้านอาหารจะมีแนวโน้มเติบโต แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา เพราะผู้บริโภคมักจะระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

และมีความต้องการอาหารใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้ร้านอาหารต้องพัฒนาเมนูอาหารให้มีความหลากหลายและน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา”

ขณะที่ “นันทนัช” อีกหนึ่งผู้บริหารคนสำคัญ เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันบริษัทขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เฉพาะแบรนด์ Fire Tiger เท่านั้น ซึ่งเป็นการขายสิทธิ์การดำเนินธุรกิจ (มาสเตอร์แฟรนไชส์) ให้กับผู้ประกอบการในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะเห็นความร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อมองหาโอกาสในการเข้าไปขยายการลงทุน รวมทั้งการนำแบรนด์ที่มีศักยภาพมาเปิดให้บริการในเมืองไทย โดยในปีนี้บริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อน

บริษัทมีเป้าหมายที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มลูกค้าทั่วไปไปจนถึงกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง โดยแบรนด์ใหม่ที่จะเปิดตัวนี้จะเน้นเจาะตลาดระดับบน ส่วนแบรนด์ nice two Meat u จะยังคงมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม

Fire Tiger

ขณะที่แบรนด์ HAPPY PIG และ Dosan จะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทั่วไป นอกจากนี้มีแผนจะเปิดร้าน “เกศเตี๋ยว original thai boat noodle” สาขาแรกที่สยามในช่วงปลายปีนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้า รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ส่วนในปีหน้า บริษัทมีแผนปรับภาพลักษณ์แบรนด์ “Juicy Bunny” ให้ดูโตขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงแบรนด์ “Fire Tiger” จะมีการปรับโฉมใหม่ให้ดูมีความสดใสมากขึ้น และอาจจะได้เห็นร้านโฉมใหม่ที่เอ็มควอเทียร์เป็นแห่งแรก

พร้อมกับการเปิดตัวแบรนด์เครื่องดื่มใหม่ ที่จะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ โดยจะนำเสนอเครื่องดื่มสไตล์ไทยๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ

Mil Toast House

ส่วนกลยุทธ์หลักของบริษัทเน้นเรื่องของ “โลเคชั่น” โดยมองจากกำลังซื้อและความต้องการของลูกค้าและค่อยขยายสาขาไปในพื้นที่นั้นๆ โดยตอนนี้เริ่มมองการเปิดสาขานอกเมืองมากขึ้น เพราะลูกค้าบางส่วนไม่อยากเข้ามาในเมือง เช่น เดอะมอลล์ไลฟ์สโตรงามวงศ์วาน แฟชั่นไอส์แลนด์ เป็นต้น

ด้านกิจกรรมการตลาด มีแผนจะจัดแคมเปญส่งท้ายปีและฉลองครบรอบ 8 ปีของ nice two Meat u โดยจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มแฟนคลับคู่จิ้น เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าชาวต่างชาติมาใช้บริการร้านอาหารมากขึ้น

แนวโน้มที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคชาวไทยมีความสนใจในการลองร้านอาหารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ความยั่งยืนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรให้ความสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น

ต้องยอมรับว่า วงการร้านอาหารกำลังมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และให้ความสำคัญกับทั้งด้านรสชาติ ความหลากหลาย และความยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,042 วันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567