แตกหัก! 7 บิ๊กสมาคมท่องเที่ยวแยกทางสทท. ตั้งสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย

23 มิ.ย. 2566 | 10:01 น.
อัพเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2566 | 23:46 น.

แตกหัก! 7 บิ๊กสมาคมท่องเที่ยวแยกทางลาออกจากสมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ หรือสทท. แล้ว รวมตัวตั้งสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย หรือ FETTA สะท้อนปัญหา ผลักดันการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวของประเทศ หลังแนวคิดทำงานไปกันไม่ได้

ล่าสุด 7 สมาคมท่องเที่ยวรายใหญ่จากส่วนกลาง ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือสทท.แล้ว ประกาศรวมตัวตั้งสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย  หรือ FETTA

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้ 7 สมาคมท่องเที่ยวรายใหญ่ของไทย จากส่วนกลาง ได้แก่ สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) สมาคมโรงแรมไทย (THA) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA)

สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (PGAT) และสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) ประกาศความร่วมมือกันตั้ง “สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย” หรือ FETTA เพื่อเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการสะท้อนปัญหา และผลักดันการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

 

หลังจากทั้ง 7 สมาคมท่องเที่ยวได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อที่จะผลักดันให้การทำงานด้านการท่องเที่ยวมีความคล่องตัว มีเอกภาพและอิสระในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย 

โดย “สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย” หรือ FETTA เป็นสมาพันธ์ที่มีอยู่แล้วเดิม แต่ที่ผ่านมาหายไป เพราะเอกชนท่องเที่ยวไปรวมตัวกันอยู่ในสทท. ดังนั้นเมื่อมีการลาออกจากสทท. ทั้ง 7 สมาคมก็มาร่วมกันฟื้น FETTA ขึ้นมาใหม่

ทั้งนี้“สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย” หรือ FETTA จะเป็นการรวมตัวของสมาคมต่างๆเบื้องต้น 7 สมาคมดังกล่าว โดยทุกคนจะเป็นทีมทำงาน ไม่ได้มีนายกหรือกรรมการ ไม่ได้จดทะเบียนในนามสมาคม แต่ทุกคนจะร่วมกันทำงาน เพื่อสะท้อนปัญหาที่แท้จริง แก่ภาครัฐ เพื่อ ผลักดันการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ โดยจะมีการแถลงข่าวในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 นี้

โดยทั้ง 7 สมาคมล้วนเป็นสมาคมใหญ่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย  ได้แก่

  •  สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) มีสมาชิกราว 1,800-1,900 คน
  • สมาคมโรงแรมไทย (THA)  สมาชิก 993 โรงแรม รวมจำนวนห้องพักกว่า 160,000 ห้อง คิดเป็น 30% ของโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศ
  • สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) 704 ราย
  • สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA)  925 ราย
  • สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.)  สมาชิก 175 ราย รถ 9,700 คัน
  • สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (PGAT) สมาชิกตลอดชีพ 1,640 คน รายปี 250 คน
  • สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) สมาชิกสามัญและวิสามัญ 210 ราย

แหล่งข่าว ยังกล่าวต่อว่า การที่ทั้ง 7 สมาคม เลือกที่จะลาออกจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สาเหตุมาจากการทำงานที่เข้ากันไม่ได้ ทั้งในเรื่องแนวคิด และการทำงานที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีตัวเชื่อมในการทำงานที่ประสานงานกันได้ดีระหว่างผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายเล็กกับสมาคมท่องเที่ยวรายใหญ่จากส่วนกลาง  

อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อีกด้วยที่สมาคมโรงแรมไทย ซึ่งเป็นสมาคมใหญ่ด้านการท่องเที่ยวของไทย กลับไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ส่วนบางสมาคมที่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารสทท.ก็มองว่ามีปัญหาติดขัดเรื่องของโครงสร้างในการทำงาน จึงเลือกที่จะไม่ไปต่อ

รวมถึงการแต่งตั้งตัวแทนของสทท.ไปนั่งเป็นบอร์ดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ซึ่งสมาคมใหญ่เหล่านี้ก็ตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ว่าเป็นตัวแทนภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวที่สมศักดิ์ศรีในการเข้าไปทำงานร่วมกับภาครัฐ ที่จะเข้าไปช่วยผลักดันการแก้ปัญหาที่แท้จริงของภาคการท่องเที่ยวไทยได้

อย่างไรก็ตามความขัดแย้งในการทำงานที่เกิดขึ้น เริ่มมาคุตั้งแต่เมื่อครั้งการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนาย ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ หรือ โกจง ได้นั่งประธานสทท.ต่ออีกสมัย ประจำปี 2566-2568 หลังได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นมีการแบ่งแยกทางความคิดชัดเจน

เนื่องจากสมาคมใหญ่จากส่วนกลาง รวมถึงอดีตประธานสทท.หลายท่าน แสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุน นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม (คุณโก้) ประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดัน “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และการผลักดันภูเก็ตเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Specialised Expo 2028 และมองว่าหากได้นายภูมิกิตติ์ มาเป็นประธานสทท.คนใหม่ จะส่งดีต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ

แต่ท้ายสุดเมื่อมีการโหวต นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ หรือ โกจง ได้รับเสียงสูงสุด ซึ่งรูปแบบการโหวตจะมาจาก 2 ส่วน คือ แบ่งตามประเภทเขตพื้นที่ และประเภทสาขาวิชา​ชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสียงมาจากผู้ประกอบการระดับภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ และผู้อาวุโสด้านการท่องเที่ยวจากส่วนกลางบางกลุ่ม ที่เป็นฐานเสียงของโกจงอยู่  และหลังจากโกจงได้รับเลือก ทุกฝ่ายก็ยอมรับ แต่ท้ายสุดเมื่อต้องทำงานร่วมกันก็ไปต่อกันไม่ได้ 7 สมาคมจึงได้ตัดสินใจลาออกจากสทท.

ต่อเรื่องที่เกิดขึ้นนายอดิษฐ์  ชัยรัตนานนท์ คณะทำงาน  FETTA ระบุถึงกระแสข่าวดังกล่าวว่า ข่าวลาออกจาก สทท. ของ 7 สมาคมใหญ่ และ การเปิดตัว FETTA ที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นเพราะ 7 สมาคมใหญ่ในส่วนกลาง ต้องการความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการทำงานเชิงนโยบายที่ต้องการสื่อสารกับหน่วยงานภาครัฐ และ เอกชน โดยตรง 

อดิษฐ์  ชัยรัตนานนท์

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราพยายามทำงานร่วมกับ สทท. ในภาพใหญ่ แต่กลายเป็นภาพที่ถูกกางร่ม ในฐานะสมาชิก แต่ในเนื้อแท้ เราแทบไม่ได้มีบทบาท หรือ ความคิดของเราถูกนำไปใช้ในการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายอย่างแท้จริง 

แต่ความเป็นสมาชิกของเราถูกกลบด้วย เราคือ 1 ใน 13 สาขาวิชาชีพ ซึ่งความเป็นตัวตน และ น้ำหนักของความเป็น
ATTA ที่เป็นองค์กร นำเข้านักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 25% ของภาพใหญ่ ในช่วงปี 2019 มีภาพรวม 40 ล้านคน
สมาชิกแอตต้า ถือตลาด ประมาณ  10 ล้านคน มาหลังโควิดองค์กร และ สมาชิก ATTA ได้รับผลกระทบอย่างมาก 

เราต้องการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ฟื้นตัวจากโควิด ทั้งตัวองค์กร และ สมาชิก ดังนั้น การตัดสินออกมาดำเนินการภายใต้กรอบของเครือข่าย ว่าด้วย”FETTA” จึงเป็นคำตอบของการหารือของผู้นำองค์กรทั้ง 7 ที่ต้องการทำงานเพื่อฟื้นฟูภาพรวมร่วมกัน จากหลักการ

1. เราเป็นสมาคมที่มีพื้นฐานสมาชิกมี Competency Base อย่างชัดเจน มีระบบการบริหารจัดการองค์กรที่เข้มแข็ง และมีแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีผลงานชัดเจน ที่สำคัญคือ เรามีข้อมูลเชิงลึก และ บุคลากรที่มีความพร้อมในการทำงานทั้งในระดับจุลภาค และ มหภาค ตามสาขาวิชาชีพที่เราดำเนินการได้ดีอย่างแท้จริง 

2. การรวมตัว 7 สมาคมหลักที่มี ความสามารถเฉพาะทางเป็นที่ยอมรับ มีประวัติอันยาวนาน และ สามารถบูรณาการความร่วมมือกันทั้งในเชิงวิชาการ และ วิชาชีพ ภายใต้กรอบความเสมอภาคที่มีร่วมกัน ย่อมมีประสิทธิภาพ และ สามารถตอบความต้องการของสมาชิก รวมถึง การสนับสนุนการทำงานร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้โดยตรงมากกว่าจากการที่เป็น สมาชิก สทท.

3. จำนวนสมาชิก แอตต้า 1,800 กว่าองค์กร สมาคมโรงแรมไทย 993แห่ง 160,000 ห้อง 30%ของจำนวนโรงแรมที่จดทะเบียน
สมาคม TTAA 900 กว่าองค์กร สมาคมสทน 700 กว่าองค์กร สมาคม สธทท. 210 องค์กร สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ 1,640 ราย สมาคมรถ ( สปข. ) 1,640 คัน 

ทั้งหมดรวมกัน เรามี เราถือครองตลาดภาพใหญ่ไม่ต่ำกว่า 30% ของประเทศ มีแรงงาน หลายแสนคนที่ต้องดูแล
สร้างรายได้ให้กับประเทศ ปีละ หลายแสนล้านบาท 

ดังนั้น การที่เราขยับตนเองให้อยู่ในกรอบที่เล็กลง ย่อมมีความคล่องตัวมากขึ้น แม้นไม่สามารถเป็นตัวแทนของตัวแทนของภาคการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ได้ทั้งหมด 
ซึ่งในส่วนภูมิภาคเองก็มีบทบาทไม่แพ้กัน 

แต่ที่สำคัญเราเชื่อว่า การที่ 7 สมาคมใหญ่ส่วนกลาง เริ่มกลับมาเดินในแนวทางนี้ จะเป็นต้นแบบให้สมาคมอื่น ๆ ที่ต้องการประสิทธิภาพในการทำงาน และ รูปแบบเครือข่ายที่มีผลกระทบในเชิงบวกมากขึ้น ต้องการเวทีทำงานที่ต้องการทำงานเพื่อส่วนอย่างแท้จริง แต่เกิดพันธมิตรมากขึ้น และ ยั่งยืนอย่างแท้จริงมากกว่า เพราะเราคือ ภาคเครือข่ายของคนทำงานที่มีผลงานมากมายมาตลอดอายุงานของสมาคมที่สังคมจับต้องได้เสมอมา 

ดังนั้น การลาออกของ 7 สมาคม ไม่ได้ต้องการสร้างความแตกแยก หรือ ต้องการแข่งขันกับใคร แต่เราต้องการทำให้พวกเราเข้มแข็งมากกว่า และ ยั่งยืน อย่างแท้จริง เป็นเวทีของกลุ่มคนทำงานเพื่อส่วนรวม และ สมาชิกของเครือข่ายให้เป็นกลไก หรือ ฟันเฟืองของประเทศไทยที่ดีงามตลอดไป