สัญญาณบวก“การบินไทย” ออกจากแผนฟื้นฟู Q3 ปี 67 รับพนักงานเพิ่มอีก 2 พันคน

10 ส.ค. 2566 | 05:53 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2566 | 06:11 น.

“การบินไทย” คาดออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ไตรมาส 3 ปี 2567 เผย 5 เดือนแรกปีนี้ธุรกิจโตต่อเนื่อง อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร 82.2% โอนเครื่องบิน 20 ลำไทยสมายล์คาดแล้วเสร็จต้นปีหน้า รับมอบเครื่องบินอีก 11 ลำ รับพนักงานเพิ่ม 2 พันคนปลายปีนี้

การดำเนินธุรกิจของการบินไทยในช่วง 5 เดือนของปีนี้ การบินไทยรวมไทยสมายล์ มีส่วนแบ่งตลาดผู้ให้บริการขนส่งผู้โดยสารผ่านสนามบินสุวรรณภูมิมากที่สุด มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) 82.2% และจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ที่เตรียมจะแปลงหนี้เป็นทุน ปรับโครงสร้างทุน และปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มการบินไทย ที่จะโอนเครื่องบินและบุคคลากรของไทยสมายล์มารวมกับการบินไทย ทำให้แนวโน้มการบินไทยจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567

  •  คาดการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟู Q 3 ปี 67

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากแนวโน้มการดำเนินธุรกิจที่มีทิศทางที่ดี ทำให้มีแนวโน้มว่าการบินไทย จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ได้ไม่เกินช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 และจะสามารถนำบริษัทกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ต่อจากนั้นอีก 2-3 เดือน

ชาย เอี่ยมศิริ

โดยจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการออกจากแผน คือ การบินต้องมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้ตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนก่อนหน้าที่จะรายงานศาล และส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเป็นบวก

ทั้งนี้การบินไทยจะต้องแปลงหนี้เป็นทุนและการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมหรือการหาผู้ร่วมทุนใหม่ ก็ต้องเป็นช่วงเวลาที่สัมพันธ์กกันหรือไม่ห่างกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายรวมถึงเจ้าหนี้ไม่เสียประโยชน์ และการบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ และคงสถานะเป็นสายการบินแห่งชาติไว้เหมือนเดิม

สำหรับผลการดำเนินธุรกิจของการบินไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม 2566) มีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการบินไทยรวมไทยสมายล์ มีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 28.6% จัดว่าเป็นอันดับ 1 ที่มีสัดส่วนจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งผู้โดยสารผ่านสนามบินสุวรรณภูมิมากที่สุดจากจำนวน 111 สายการบินต่างชาติ ซึ่งทำการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ แสดงว่าราคาของการบินไทยอยู่ในช่วงที่แข่งขันได้

นอกจากนี้การบินไทยยังมีผลการดำเนินงานด้านผู้โดยสารสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) อยู่ที่ 82.2% มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารอยู่ในอันดับ 7 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สัญญาณบวก“การบินไทย” ออกจากแผนฟื้นฟู Q3 ปี 67  รับพนักงานเพิ่มอีก 2 พันคน

อีกทั้งในอนาคตอันใกล้นี้การบินไทยยังตั้งเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดในธุรกิจการบินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งควรจะอยู่ที่ 35-45% เพิ่มจากก่อนโควิดที่การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 37.1% หลังจากที่ผ่านมาการบินไทยตั้งใจจะคงมาร์เก็ตแชร์ไว้ไม่ให้สูงเกินไป โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาเราคงไว้ที่ 28-29% เท่านั้น

เพราะเรามีการปรับโครงสร้างของบริษัท ที่ในการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยต้องทำตัวเองให้แข็งแกร่งก่อน จึงมองว่าส่วนแบ่งตลาดไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สิ่งที่เรามองคือ Net result หรือผลกำไรจากการดำเนินการบิน เพื่อให้เราเข้มแข็ง ก่อนจะกลับมาเติบโตอย่างมีคุณภาพ

  • ยุบไทยสมายล์แล้วเสร็จต้นปีหน้า

รวมทั้งในขณะนี้การบินไทยยังอยู่ระหว่างทยอยปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มการบินไทย ที่จะโอนเครื่องบินและบุคคลากรของไทยสมายล์มาไว้ที่การบินไทย เพื่อจะนำฝูงบินลำตัวแคบ แอร์บัส A 320-200 จำนวน 20 ลำมาทำการบินโดยการบินไทยทั้งหมด โดยขณะนี้เริ่มทยอยเข้ามาแล้ว 4 ลำน่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2567  ซึ่งยังเหลือเครื่องบินที่จะต้องโอนเข้ามาอีก 16  ลำ

ปัจจุบันธุรกิจการบินมีการเปลี่ยนแปลงบริบทอยู่ตลอดเวลา โดยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันสายการบินไทยสมายล์ขาดทุนมาโดยตลอด ร่วม 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งผู้บริหารแผนก็มองว่าจะปล่อยต่อไปแบบนี้ไม่ได้ เพราะการบินไทยถือหุ้นอยู่ 100% ผลการขาดทุนก็ต้องมารวมกับการบินไทยอยู่ดี ดังนั้นการเอาทรัพย์สิน และคน มารวมไว้ที่การบินไทย ก็จะทำให้ธุรกิจมี Economies of scale ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีคุณภาพ

เนื่องจากไทยสมายล์ใช้เครื่องบินไม่ถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยข้อจำกัดที่มีใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศหรือ AOC คนละใบกับการบินไทย ทำให้การบินไปยังบางประเทศยังไม่ได้รับอนุญาต หรือจะใช้เครื่องบินข้าม AOC ก็ยังไม่ได้เลย และหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของการใช้เครื่องบินลำตัวแคบของสายการบินอื่นที่จะอยู่ที่ 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจำนวนเครื่องบินที่หายไปกว่า 3 ชั่วโมง คิดเป็น 30% ของต้นทุนที่จะลดลงได้

ดังนั้นถ้าการบินไทยนำเครื่องมาบริหารจัดการก็จะทำให้มีการใช้งานเครื่องบินเอ 320 ได้เพิ่มขึ้น เพราะต่อไปการบินไทยก็จะขายตั๋วรวดเดียวในเส้นทางบินจากต่างประเทศเข้ามาต่อเครื่องบินภายในประเทศที่ไทยสมายล์ทำการบิน โดยเดินทางต่อได้เลยไม่ต้องเช็คอินใหม่ เป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร และทำให้ Yield หรือผลตอบแทนในการขายที่ดีกว่าการขายตั๋วแยกกันอย่างทุกวันนี้

  • เพิ่มแอร์บัส A 350 จำนวน 11 ลำเสริมฝูงบิน

ในส่วนของจำนวนเครื่องบินการบินไทย มีเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการบินอยู่ที่ 47 ลำเป็นเครื่องบินลำตัวกว้างทั้งหมด และจะมีเครื่องบินลำตัวแคบของไทยสมายล์เข้ามารวมอีก 20 ลำ นอกจากนี้การบินไทยยังได้จัดหาเครื่องบินแอร์บัส A350-900 จำนวน 11 ลำ ในลักษณะการเช่าดำเนินการ ซึ่งในขณะนี้เข้ามาแล้ว 2 ลำ และกำลังจะเข้ามาอีก 9 ลำ ขณะที่เรื่องบินแอร์บัสเอ 330-300 และโบอิ้ง 777-200 ER เราก็นำเครื่องบินกลับมาใช้

สัญญาณบวก“การบินไทย” ออกจากแผนฟื้นฟู Q3 ปี 67  รับพนักงานเพิ่มอีก 2 พันคน สัญญาณบวก“การบินไทย” ออกจากแผนฟื้นฟู Q3 ปี 67  รับพนักงานเพิ่มอีก 2 พันคน

เพราะการจัดหาเครื่องบินในระยะนี้ทำได้ยากมาก เนื่องจากผู้ผลิตเครื่องบินและเวนเดอร์ ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ ซัพพลายเออร์ก็มีปัญหาทำให้ตลาดเครื่องบินตอนนี้มีการแย่งชิงกันสูงมาก ซึ่งการบินไทยก็จะทยอยเพิ่มเที่ยวบินต่อเนื่องตามเครื่องบินที่จะเข้ามา จากปัจจุบันที่ทำการบินอยู่ 57 จุดบิน ใน 19 ประเทศ   

  • จ่อเปิดรับสมัครพนักงานอีก 2 พันคนปลายปีนี้

ขณะเดียวกันจากธุรกิจที่ฟื้นตัว ทำให้การบินไทยเริ่มทยอยประกาศรับสมัครพนักงานต่อเนื่อง ซึ่งก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยมีพนักงานรวมเอ้าท์ซอร์ทมากถึง 3 หมื่นคน ปีที่ผ่านมาเหลืออยู่ที่ 1.5 หมื่นคนจากการปรับโครงสร้างองค์กร

ล่าสุดการบินไทยก็เพิ่งรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินราว 500 กว่าคนที่จะเข้ามาทำงานในปีนี้ ส่วนนักบินปัจจุบันเรามีนักบินที่อยู่กับเรากว่า 900 คน จากก่อนโควิดที่เคยอยู่ที่ 1,400 คน ซึ่งวันนี้ทั้ง 900 คนกลับมาทำการบินเป็นปกติแล้ว เพราะมองว่าถ้าธุรกิจฟื้นก็จะกลับมาทำการบินได้ทันที อีกทั้งในปลายปีนี้การบินไทยจะรับสมัครพนักงานเพิ่มอีกราว 2 พันกว่าคน

ทำให้ภายในปี 2566 การบินไทยจะมีพนักงานรวมเอ้าท์ซอร์ทเพิ่มเป็น 17,400 คน และทยอยรับต่อเนื่องเพื่อให้ภายในปี 2568 มีพนักงานรวมเอ้าท์ซอร์ทเพิ่มเป็น 19,500 คน วันนี้ต้องยอมรับว่าการบินไทยไม่มีปัญหาเรื่องของบุคลากรการบินและลูกเรือ แต่จะมีปัญหาการขาดแคลนพนักงานผู้ให้บริการภาคพื้น เนื่องจากขณะนี้เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว คนเหล่านี้เลือกที่จะไปทำอาชีพอื่นแทน นายชาย กล่าวทิ้งท้าย