นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า โครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ และสำรวจ ออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณทะเลชายฝั่งอันดามัน มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
เมื่อกรมเจ้าท่าได้ออกมาแจ้งว่า ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำการศึกษา วางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน โดยต้องคัดเลือกบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอันดามันที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ได้แก่ภูเก็ต กระบี่ พังงา และระนอง ต้อง ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และสังคม
พร้อมทั้งประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบก่อสร้างท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่แบบครบวงจร และจัดทำรายงานผลการศึกษา และวิเคราะห์ให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่
นายนิตย์ กล่าวต่อว่า ข่าวดังกล่าวสร้างความสนใจ และสร้างบรรยากาศที่ดีต่อพื้นที่อันดามัน โดยเฉพาะ จังหวัดระนองที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญคือการเป็นเมืองท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก ซึ่งโครงการท่าเรือเรือสำราญขนาดใหญ่จะส่งผลดีต่อแผนการขับเคลื่อนและพัฒนายุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งยังส่งผลดีต่อภาคธุรกิจต่างๆ อีกมากมายในฝั่งอันดามัน
จากสถิติพบว่าในช่วงปี 2552-2562 การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 17.8 ล้านคนในปี 2552 เพิ่มเป็น 29.7 ล้านคนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 12 ล้านคนในช่วงเวลา 10 ปี มีการสร้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่ง มีการจ่ายเงินเดือนและค่าแรงกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญ อีกทั้งนักท่องเที่ยวเรือสำราญยังมีการใช้จ่ายบนเรือประมาณ 400 เหรียญดอลล่าห์ต่อวันต่อคน
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 3,148 ม. มีศักยภาพในการเป็นเมืองท่าต้นทางของเรือสำราญ แต่ประเทศไทยกลับมีเมืองท่าสำคัญเพียง 3 แห่ง คือภูเก็ต แหลมฉบัง และเกาะสมุย เท่านั้น ที่ผ่านมามีเรือสำราญที่เข้ามาในประเทศไทยจำนวนกว่า 120 เที่ยว มีจำนวนผู้โดยสารบนเรือเฉลี่ย 3,000 คน มีรายจ่ายเฉลี่ยวันละ 6,000 บาทต่อคนทำให้ประเทศไทยมีรายได้ในธุรกิจการท่องเที่ยวต่อเนื่องจากเรือสำราญประมาณ 2.2 พันล้านบาทต่อปี
บริเวณชายฝั่งอันดามันมีเรือสำราญที่นำนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวตลอดทั้งปี แต่ยังคงขาดท่าเทียบเรือหลักที่รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้ ดังนั้นหากมีการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญได้อย่างเต็มระบบ จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอย ค่าที่พัก ค่าอาหาร ของชำร่วย ของฝาก ของอุปโภคบริโภค สร้างรายได้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
บุญเลื่อน พรหมประทานกุล : รายงาน