นายนำพล รุ่งสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัทแฟร์แฟร์ จำกัด และผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด หรือกรีนบัส ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ เปิดเผยว่า กรีนบัส จับมือกับ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดให้บริการ City Transfer บริการรับ-ส่ง ผู้โดยสารแอร์เอเชีย 2 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 กรุงเทพ-เชียงใหม่ พร้อมรถจากสนามบินเชียงใหม่ สู่สถานีขนส่งจังหวัดลำปาง
เส้นทางที่ 2 กรุงเทพ-น่าน พร้อมรถจากสนามบินน่านสู่สถานีขนส่งจังหวัดแพร่ เป็นการเชื่อมต่อการเดินทางและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ที่จะเดินทางจากเมืองหลักไปยังเมืองรอง โดยเริ่มให้บริการเมื่อ 1 กันยายน ที่ผ่านมา โดยการจับมือกับสายการบิน ตอนนี้มี 2 สายการบินคือ มีแอร์เอเชีย กับบางกอกแอร์เวย์ ให้บริการเส้นทางเหมือนกัน คือ เชียงใหม่-ลำปาง,ลำปาง-เชียงใหม่
นายนำพล กล่าวว่า โครงการให้การบริการ City Transfer ได้หารือกับหลายสายการบิน เนื่องจากการเดินทางจากเมืองหลักไปเมืองรอง ยังขาดรถโดยสารสาธารณะเชื่อมต่อ จังหวัดที่อยู่รอบสนามบิน การเชื่อมต่อยังไม่ถึงกัน ทำให้การเดินทางลำบาก เพราะฉะนั้นทั้งกรีนบัสและสายการบินเห็นตรงกันว่า ถ้าจับมือข้ามโหมตกันจะทำให้ลูกค้าที่จะเดินทางต่อไปอีกจังหวัดสะดวกมากขึ้น รวมทั้งจะขยายความร่วมมือในการให้บริการผู้โดยสารสายการบินระหว่างประเทศด้วย
ส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมีค่าใช้จ่ายเรื่องที่จอดให้ลูกค้าแอร์เอเชีย เพื่อความสะดวกของผู้โดยสารและในอนาคตอาจลงทุนตัวรถเพิ่ม ถ้าปริมาณความต้องการผู้โดยสารมาก อาจจะต้องทำรถมินิบัส และรถตู้เพิ่มอีก 1-2 คันต่อเส้นทาง
สำหรับเส้นทางใหม่ที่ร่วมมือกับแอร์เอเชีย เพิ่งเปิดขายเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา เริ่มวิ่งวันที่ 1 กันยายน นี้ ถ้ามีปริมาณความต้องการผู้โดยสารมาก อาจต้องทำรถมินิบัส และรถตู้เพิ่มอีก 1-2 คันต่อเส้นทาง อยู่ที่ปริมาณผู้โดยสาร รถตู้หนึ่งคันราคา 1 ล้านกว่าบาท อาจต้องใช้ประมาณ 2-3 คัน คาดว่าจะมีผู้โดยสารกลุ่มที่ลงเครื่องบินแอร์เอเซีย ประมาณ 5-10% โดยจะเห็นผลในปี 2567
สำหรับการให้บริการรถโดยสารของกรีนบัส ปัจจุบันมีรถวิ่งในพื้นประมาณ 90 คัน จาก127 คัน เป็นเส้นทางภาคเหนือทั้งหมด เส้นทางเดินรถตามใบอนุญาตมี 25 เส้นทาง แต่เดินทางจริงประมาณ 23 เส้นทาง ยังไม่เต็ม 100%
โดยเส้นทางเหนือ-ใต้ แม่สาย- ภูเก็ต, เชียงใหม่-ภูเก็ต ได้รับการตอบรับที่ดี เต็มทุกเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 ชั่วโมง มีจุดพักตลอดเส้นทาง ส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยว ที่ชอบนั่งรถเล่น ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และกลุ่มแรงงาน
ส่วนปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการกรีนบัส ปัจจุบันต่อเที่ยวประมาณ 85% ส่วนใหญ่ภาคเหนือจะเป็นนักศึกษา ข้าราชการ และนักท่องเที่ยว ส่วนบริการข้ามภาค จะเป็นผู้ที่ใช้แรงงานกับนักท่องเที่ยว
นายนำพล กล่าวว่า ตอนนี้กรีนบัสมีแผนที่จะลงทุนรถเพิ่มรถไฟฟ้า ในเดือนมีนาคม ปีหน้า โดยจะมีรถไฟฟ้า 1 คัน ทดลองวิ่งตามเส้นทางว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าดูแล้วเหมาะสม คิดต้นทุนแล้วหากคุ้มค่า มีแผนจะเปลี่ยนรถที่วิ่งสายภาคเหนือทั้งหมด เป็นรถ EV จำนวน 40 ที่นั่ง ราคาคันละ7-8 ล้านบาท ยังไม่รวมสถานีชาร์ตไฟ และโซล่าร์ฟาร์ม ที่เชียงใหม่และเชียงราย
นอกจากนี้ กรีนบัส เตรียมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยมีบริษัทลูก ได้แก่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด, บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด, บริษัท โชครุ่งทวีทัวร์ จำกัด และบริษัท แฟร์แฟร์ จำกัด
ขณะที่ช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งหมด จะไม่ได้ขายเฉพาะรถทัวร์ของกรีนบัสอย่างเดียว จะขายรถทัวร์ทุกบริษัท รวมไปถึงแพ็กเกจทัวร์ ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม รถเช่าและอาจจะถึงอีคอมเมิร์ซ( E-Commerce ) ทางด้าน OTA (ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์)
นภาพร ขัติยะ /รายงาน