การนำทีมของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ไปเยือนภูเก็ตและพังงา เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ห่างกันราว 1 เดือน จากที่เคยลงพื้นที่ไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 25-26 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนถึงการเร่งรัดติดตามโครงการต่างๆ ร่วมแสนล้านบาทที่จะเกิดขึ้น เพื่อยกระดับภูเก็ตให้เป็นเมืองระดับโลก กระตุ้นการท่องเที่ยว และเป็นศูนย์กลางการ กระจายความเจริญสู่จังหวัดรอบกลุ่มอันดามัน
การยกระดับภูเก็ตให้เป็นเมืองระดับโลก ตามแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ปี 2566-2570 มีจุดโฟกัสชัดเจนว่า ภูเก็ตจะต้องไม่พึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก เหมือนในอดีตเพียงด้านเดียวเท่านั้น เนื่องจากก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14.5 ล้านคน สร้างรายได้ 4.22 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 รอง จากกรุงเทพฯ มีมูลค่าเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต หรือ GDP ถึง 2.51 แสนล้านบาท
แต่เมื่อเกิดโควิด ทำให้ภูเก็ตวิกฤตหนัก เพราะรายได้จากส่วนใหญ่ของภูเก็ต มาจากภาคการท่องเที่ยวสูงถึง 97% แม้ว่าหลังโควิดการท่องเที่ยวภูเก็ตจะฟื้นตัวเร็ว และคาดกว่าจะกลับมาฟื้นตัว 100% ในปี 2567 แต่ด้วยบทเรียนจากโควิดที่เกิดขึ้น
ทำให้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของภูเก็ตในช่วง 5 ปีนี้ ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม โดยจะมุ่งพัฒนาให้ภูเก็ตมีเศรษฐกิจที่หลายสาขามากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนอกจากการท่องเที่ยวแล้ว ยังมองถึงการสร้างรายได้ใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงและ ทำให้ภูเก็ตมีการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน
ทั้งนี้แผน 5 ปีจากนี้มีจุดโฟกัส 7 เป้าหมาย การสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับภูเก็ต ได้แก่
1. การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางอาหารของโลก (City of Gastronomy)
2. การเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ระดับโลก (Medical & Wellness Hub)
3. การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism)
4. การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ (International Education Hub)
5. การเป็นเมืองที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากดิจิทัลเทคโนโลยี (Smart City)
6. การเป็นเมืองศูนย์กลางของการท่องเที่ยวทางทะเล (Marina Hub)
7. เป็นศูนย์กลางของการแปรรูปและค้าขายปลาทูน่าในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้จังหวัดภูเก็ตยังสามารถ สร้างมูลค่าเพิ่มได้จากการเป็นเมือง MICE City ด้วย
โดยเฉพาะการยกระดับภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน สร้างให้เป็น “World Class Wellness Tourism” ภายใต้โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน (Andaman international Health and wellness center หรือ AIWC) ที่มี 3 หน่วยงานหลักเป็นแม่งานในการขับเคลื่อน ได้แก่ วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต และศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล สงขลานครินทร์
ที่่ผ่านมาครม.ได้อนุมัติงบประมาณโครงการภาพรวม 5.1 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 65 และอนุมัติงบประมาณกิจกรรมโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 3.1 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 66 ซึ่งแม้จะได้รับอนุมัติงบมาแล้วตั้งแต่ปี 65 แต่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็ยังไม่ได้เม็ดเงินลงมา จึงอยากเร่งรัดให้รัฐบาลชุดนี้เร่งรัดการจัดสรรงบประมาณ สำหรับดำเนินโครงการในช่วง 5 ปีนี้
อาทิ การผลิตบุคลากรทาง การแพทย์และสาธารณสุขระดับสูง การรักษาผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อน ไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นคนต่อปี ศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล ที่จะสามารถรองรับการตรวจ ดูแลรักษาคนไทยและต่างชาติไม่น้อยกว่า 1.7 แสนคนต่อปี ทั้งยังสร้างรายได้จากท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใน พื้นที่อันดามัน เพิ่มขึ้น 6.2 หมื่นล้านบาทต่อปี (ไม่น้อยกว่า 10% ของรายได้ ในปี 62)
รวมถึงการพัฒนาจุดเด่นต่างๆ ทั้งเรื่องของ Sustainable High-Value Agriculture และ Andaman Seafood Paradise เพื่อสร้างรายได้ในกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน
การจะขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวได้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจึงมีความสำคัญมาก นี่เองจึงทำให้ นายกเศรษฐา จึงลงพื้นที่ต่อเนื่องในการเร่งรัดติดตามแผนพัฒนาระบบโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอันดามัน ซึ่งหลักๆ จะมี 7 โครงการตั้งแต่ระยะสั้นและระยะยาว มูลค่าการลงทุนร่วม 1.48 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่เคยศึกษาและผลักดันกันมาอย่างยาวนานแต่ยังไม่สำเร็จเป็นรูปธรรม
สำหรับโครงการเร่งด่วนที่นายกให้ความสำคัญ หลักๆ จะเป็น “โครงการทางพิเศษเมืองใหม่-เกาะแก้วกะทู้-ป่าตอง” โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง หรือ “อุโมงค์ป่าตอง” ใช้งบประมาณ 14,670 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 5,000 ล้าน และค่าก่อสร้างอุโมงค์ 8,878 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้การทางพิเศษฯได้เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลร่วมลงทุน แต่ปรากฏว่าไม่ผู้สนใจร่วม ลงทุน การทางพิเศษจึงได้ปรับแผน การลงทุนใหม่
โดยการทางพิเศษจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนของงานด้านโยธาเอง และควบควบกับโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ขณะนี้ได้ทำการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการแล้วเสร็จ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งโครงการนี้จะใช้งบประมาณราว 35,000 ล้าน บาท เพื่อแก้ปัญหาการจราจร
รวมไปถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขยายศักยภาพการรองรับของสนามบินฝั่งอันดามัน 3 แห่ง ได้แก่
1. โครงการพัฒนาขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ระยะที่ 2 ขยายรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 18 ล้านคน ใช้งบลงทุนราว 6,211 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2570
2. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ขยายรับผู้โดยสาร 5 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 17 ล้านคน ลงทุน 2,700 ล้านบาท
3. โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพังงา หรือท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา บนพื้นที่ 6,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราชพัสดุ รับผู้โดยสาร 40 ล้านคน ลงทุน 80,000 ล้านบาท ตามแผนจะเวนคืนที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน ทอท.จะใช้เวลาก่อสร้างสนามบินราว 7 ปี
ทั้งหมดล้วนเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการสร้างรายได้ภูเก็ตและคลัสเตอร์อันดามัน ที่่จะเกิดขึ้น