กลุ่มทุนน้ำเมาลั่น เปิดผับถึงตี 4 กระตุ้นท่องเที่ยว ได้จริงหรือ?

13 พ.ย. 2566 | 10:22 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2566 | 10:49 น.

ส่องมุมคิด นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ฯ หลังรัฐบาลไฟเขียวนำร่องขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 ใน 4 จังหวัด หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวท้ายปี เชื่อไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา บ่นอุบ “กฎหมายมีแต่กีดกันและทำลาย ไม่มีการสนับสนุน ส่งเสริมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งที่สร้างเม็ดเงินมหาศาล”

หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมหารือแผนบูรณาการการท่องเที่ยวและเห็นชอบให้ขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 ชั่วคราว โดยนำร่องใน 4 จังหวัดท่องเที่ยว ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ชลบุรี และภูเก็ต ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทย แต่เป็นเพียงการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงและสถานบริการเท่านั้น เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ไม่ได้ขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต่างมองว่า ไม่ใช่แนวแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และไม่เชื่อว่าจะกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวได้จริง

รัฐบาล ประกาศแผนนำร่องขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ใน 4 จังหวัด กระตุ้นการท่องเที่ยวโค้งท้ายปี

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นโยบายของรัฐที่ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 นั้น เรื่องนี้มองว่าไม่ควรที่จะกำหนดแค่ 4 จังหวัด ซึ่งต้องบอกว่าทุกวันนี้ที่การท่องเที่ยวในเมืองไทยปลุกไม่ขึ้น ดันไม่ฟื้น เนื่องจากเวลารัฐบาลลงไปสัมภาษณ์หรือสอบถามผู้คนในนามของหน่วยงานราชการนั้น ทุกคนก็จะพูดในเชิงที่ดี แต่ถ้าลองไปฟังความเห็นของนักท่องเที่ยวถึงเหตุผลที่พวกเขาตัดสินใจไปเที่ยวที่ประเทศอื่น เช่น กัมพูชา โฮจิมินห์ (เวียดนาม) ลาว หรือเมียนมา

เพราะเมื่อชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย พวกเขาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ได้เหมือนน้ำเปล่า พวกเขาจึงมองว่าทำไมถึงต้องมาปิดกั้นเวลาขาย รวมถึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังปิดตาตัวเอง ดังนั้นหากอยากที่จะทำให้ธุรกิจฟื้นกลับมาได้ ราชการต้องยอมรับความจริงก่อนว่า นักท่องเที่ยวไม่ได้มาเมืองไทยเพื่อเที่ยวในกรุงเทพฯ ไหว้พระ หรือดูวัฒนธรรมอย่างเดียว

ในส่วนของมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 ต้องไปดูที่กฎหมายของสถานบริการซึ่งเป็นกฎหมายที่มีออกมานานแล้ว การที่นำมาบังคับใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน มองว่าไม่ค่อยเหมาะสม ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่เป็นมุสลิมยังมีการเปิดสถานบริการ 24 ชม. ทั้งที่พวกเขาเคร่งศาสนามากกว่าไทย

แต่บ้านเรามักชอบอ้างศาสนาพุทธและเอามาใช้เพื่อควบคุม ซึ่งไม่สามารถที่จะควบคุมอะไรได้มาก รวมถึงกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐหาประโยชน์ และที่สำคัญคือเป็นการบั่นทอนนักท่องเที่ยว จากที่พวกเขาจะอยู่เที่ยวต่อก็ต้องมาลุ้นว่าอยู่ต่อแล้วจะถูกจับหรือไม่

“การนำร่องเปิด 4 จังหวัดนั้นดีอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ก็ใช่ว่าให้เปิดได้ถึงตี 4 แล้วจะสามารถทำได้เลย เนื่องจากสิ่งที่บังคับอยู่จริงๆ ก็คือเรื่องกฎหมายกำหนดเวลาซื้อขายแอลกอฮอล์ ที่กำหนดให้สามารถขายได้เฉพาะ 2 ช่วงเวลาคือ 11.00 น.- 14.00 น. และ 17.00 น.- 24.00 น. ต่อให้จะสามารถเปิดผับได้ถึงตี 4 แต่ถ้าไม่แก้กฎหมายตัวนี้ก็ทำอะไรไม่ได้

และหากจะแก้แค่ใน 4 จังหวัดก็มองว่าไม่ได้ เพราะถึงนักท่องเที่ยวจะพากันมาเที่ยวตาม 4 จังหวัดนี้จริง แต่บางทีพวกเขาก็ไปจังหวัดรอง หรือแวะจังหวัดอื่นระหว่างเดินทาง อาจก่อให้เกิดความสับสนในเรื่องของกฎหมายที่แต่ละจังหวัดกำหนดต่างกันได้ เนื่องจากระยะห่างในบางจังหวัดของไทยไม่ได้ไกลกันมากนัก”

นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ฯ กล่าวอีกว่า ถ้าจะแก้กฎหมายในส่วนนี้ ควรจะแก้ทั้งหมด ไม่ใช่แก้เฉพาะแค่ในจังหวัดเหล่านี้ และควรทำให้ต่อเนื่องเปรียบเสมือนการรักษาโรค แต่ให้ยาแค่ครึ่งโดส แล้วหวังว่าอาการจะดีขึ้น ต้องให้ยาเต็มโดส ผู้ป่วยถึงจะสามารถสู้กับโรคและแข็งแรงได้ วิธีเดียวที่ควรทำ คือการให้ความรู้เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เยอะขึ้น เหมือนอย่างการให้ความรู้เรื่องคอลเซ็นเตอร์ หรือความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ มากกว่าปิดกั้น จนสุดท้ายก็ไม่สามารถทำอะไรในเชิงที่จะดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ ซึ่งควรจะมีการปลดหรือปรับในเรื่องของกฎหมายให้ทันโลกได้แล้ว ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่าอยากจะค่อยๆ ไปทีละสเต็ป แต่ถ้าอยากจะแก้ปัญหาต้องมีความเด็ดขาด ไม่ใช่ดำเนินไปทีละส่วน

การท่องเที่ยวของไทย ณ ตอนนี้ต้องบอกว่าหนัก เพราะตอนแรกเราหวังว่าจะได้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามา แต่พอเศรษฐกิจภายในประเทศจีนไม่ดี นักท่องเที่ยวก็ไม่มา จึงต้องมีการมองหานักท่องเที่ยวจากประเทศ อื่นๆ ซึ่งการขยายเวลาเปิดผับได้ถึงตี 4 นั้นช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่การที่มีนโยบายที่ใช้ได้แค่ใน 4 จังหวัดนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวที่วางแผนจะไปเที่ยวในจังหวัดหรือพื้นที่นอกเหนือจากนี้ก็ยังคงไม่สามารถทำได้ ทำให้นักท่องเที่ยวหันไปเที่ยวประเทศอื่นที่ไม่ได้มีข้อกำหนดที่วุ่นวาย

ซึ่งในส่วนของกฎหมายที่ออกมา ตนเข้าใจว่าทำเพื่อป้องกันและปกป้อง แต่มองเป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้มากกว่าที่จะออกกฎควบคุมเหมือนเด็ก ยกตัวอย่าง เรื่องที่คนไทยห้ามโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้าคนไทยไปต่างประเทศสามารถทำได้ ชาวต่างชาติโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งเข้ามาในเมืองไทย ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่คนไทยทำไม่ได้ มองเป็นกฎหมายที่รัฐบาลคิดอยู่ฝ่ายเดียว

“หากถามว่า การเปิด 4 จังหวัดสามารถกระตุ้นได้หรือไม่ คงบรรเทาอาการปวดได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่สามารถแก้ได้ทันที เพราะไม่ใช่แค่การบอกให้เปิดผับได้ถึงตี 4 แล้วนักท่องเที่ยวจะกลับมา พวกเขารู้กันดีว่าสถานบริการไทยปิดเที่ยงคืน ต่อให้จะเดินทางมาก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ผับบาร์จะเปิดถึงตี 4 กันได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงรัฐบาลไม่ได้มองในภาพองค์รวมว่าคนทำงานจะทำได้แค่ไหน เพราะหากเปิดผับได้ถึงตี 4 ต้องมีการจ้างพนักงานเพิ่ม แล้วหลังเลิกงานตี 4 พวกเขาจะกลับบ้านหรือจะใช้ชีวิตกันอย่างไร”

การจะกระตุ้นการท่องเที่ยวหลังขยายเวลาเปิดสถานบริการอาจจะกระตุ้นคนในประเทศได้ก่อน เพราะพวกเขารู้ว่าสามารถกินดื่มได้ถึงเช้าใน 4 จังหวัดนี้ ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างประเทศนั้น พวกเขามีการวางแผนการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่กันไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง รวมถึงการประกาศมาตรการขยายเวลาเปิดสถานบริการเพื่อดึงนักท่องเที่ยวออกมาภายใต้ระยะเวลาที่อีก 2 เดือนจะหมดไตรมาส 4 ของปี ซึ่งถือเป็นช่วงวาระแห่งชาติ และกำหนดเริ่มใช้ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 66 นั้น มองว่าเป็นการประกาศที่ล่าช้าเกินไป เพราะนักท่องเที่ยวมีการวางแผนการเที่ยวล่วงหน้ากันไปแล้ว ทั้งในเรื่องของการจองตั๋วเครื่องบินและจองที่พัก หากต้องการที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยว ควรรีบทำ

นายอาชิระวัสส์ กล่าว ตราบใดที่ยังมีกฎหมายด้านการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่มันกดทุกอย่างหมด ต่อให้ปลดตรงนี้ได้ก็เพียงแค่ช่วยให้หายใจได้เท่านั้น ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นและไม่โตไปมากกว่านี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยสนับสนุนธุรกิจแอลกอฮอล์ อย่างที่เห็นคือ เข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้และ BOI ไม่มี ทุกวันนี้ผู้ประกอบการต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ทั้งที่เป็นธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินมหาศาล แต่

“กฎหมายมีแต่กีดกันและทำลาย ไม่มีการสนับสนุนและส่งเสริม” 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,939 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566