ทุเรียนตราด ราคาดีต่อเนื่อง หลังจีนสั่งซื้อไม่อั้น

27 พ.ย. 2566 | 06:57 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2566 | 07:21 น.

ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด เผยภาพรวมการเกษตรเติบโตเพิ่ม ชี้ทุเรียนตราดส่งออกได้มาก ปี 67 ยังดีต่อเนื่อง หลังจีนเปิดรับเต็มที ขณะคลังจังหวัดระบุราคาทุเรียนใกล้เคียงปี 65 แต่จำนวนเพิ่มขึ้น

นายเรือง ศรีนางราง  ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ในปี 2565  ภาพรวมของภาคการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้   มีผลผลิตค่อนข้างดี  โดยเฉพาะทุเรียน  เงาะ  มังคุด  ซึ่งทุเรียน จะเป็นตัวชูโรงที่ทำให้ส่งไปขายในต่างประเทศได้เงินมีมูลค่านับแสนล้านและราคาเป็นที่น่าพอใจของเกษตรกร  โดยมีราคาอยู่ระหว่าง 100-200  บาท/กิโลกรัม   และแนวโน้มในปี 2567 ยังดี เพราะตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง เนื่องจากทุเรียนและผลไม้ของประเทศไทยมีคุณภาพมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้  ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  ผู้บริโภคจากประเทศจีนสั่งซื้อจำนวนมาก  สำหรับทุเรียนที่มีราคาอยู่ประมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 150-180 กว่าบาท/กก.แต่มีต้นทุน 30-40 บาท/กก.นับว่าเป็นราคาที่พึงพอใจของเกษตรกร

นายเรือง ศรีนางราง  ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด

สำหรับเงาะ  ราคายังไม่ตกแม้ผลผลิตจะลดลง  ทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาดและมีการออกเป็นช่วง ๆ  กระจายกันไป  ส่วนมังคุดเป็นผลไม้ที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมการผลิตได้เนื่องจากการออกดอกผลขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละปี  บางปีออกกันกระจุกทีเดียวส่งผลให้ราคาตกต่ำ  แต่ปีนี้มังคุดออกมาในช่วงที่ดี ราคาเป็นที่น่าพอใจแม้จะไม่สูงเหมือนปีที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 60-70  บาท เกษตรกรอยู่ได้  โดยภาพรวมแล้วผลไม้ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ส่งไปยังต่างประเทศทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดเพราะมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของ  ผู้บริโภค

ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด กล่าวอีกว่า   สำหรับมูลค่าของผลไม้ในปี 2565  เมื่อเทียบกับปี 2566  ราคาผลไม้มีราคาสูงขึ้นโดยเฉพาะทุเรียน  แม้จะมีผลผลิตและมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นโดยมีการโค่นล้มต้นยางพาราเพื่อเพิ่มพื้นที่การปลูก  รวมทั้งในปีหน้าอาจจะเกิดผลกระทบจากภาวะแอลนิโย่  ที่น้ำอาจจะน้อย  ดังนั้นโครงการชลประทานตราดจึงต้องบริหารจัดการเรื่องน้ำให้ดี  

ทุเรียนตราดราคาดีต่อเนื่อง หลังจีนสั่งซื้อไม่อั้น

สำหรับอ่างเก็บน้ำทั้ง 7-8  แห่งของจังหวัดตราดยังมีปริมาณน้ำเก็บสะสมอยู่พอสมควร  แต่หากสามารถระบายไปช่วยเกษตรกรในช่วงที่มีการขาดแคลนน้ำ  ก็อาจจะทำให้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในระดับหนึ่ง  ทั้งนี้ในปี 2567-2568  ผลไม้จาก 3 จังหวัดในภาคตะวันออก  หากควบคุมคุณภาพได้ดีก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกไปยัง  ต่างประเทศ ซึ่งคู่แข่งอย่างประเทศเวียดนามที่มีความได้เปรียบจากค่าแรงถูก  และมีพื้นติดกับประเทศจีนก็ยังอยู่กับประเทศไทยไม่ได้เพราะคุณภาพผลไม้ไทยนั้นสามารถแข่งขันกับทุกประเทศได้

ทุเรียนตราดราคาดีต่อเนื่อง หลังจีนสั่งซื้อไม่อั้น

สำนักงานคลังจังหวัดตราด รายงานว่า ปริมาณทุเรียน ในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 - 4.2 เท่ากับที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนมิถุนายน 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7) เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากต้นทุเรียนอยู่ในช่วงอายุให้ผลผลิตได้เพิ่มขึ้น จากต้นทุเรียนใหม่เริ่มให้ผลผลิตได้ปีแรก และปีนี้ทุเรียนออกดอกดีมาก อีกทั้งปีนี้ราคาทุเรียนปรับสูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการดูแลรักษาต้นทุเรียนให้มีความสมบูรณ์เพื่อให้ออกผลได้เพิ่มขึ้น

 

สำหรับแนวโน้มในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9. - 10.8) เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาทุเรียนที่ปรับขึ้นในปี 2566 จูงใจให้เกษตรกร ขยายพื้นที่เพาะปลูก และบำรุงรักษาต้นทุเรียนเป็นอย่างดี ประกอบกับพื้นที่ให้ผลของทุเรียนในปี 2567เพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าผลผลิตทุเรียนจะเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน

ทั้งนี้ สำนักงานคลังจังหวัดตราดระบุว่า ราคาทุเรียนโดยเฉลี่ย ในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 131,997 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน(โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 131,422 - 132,572 บาท/ตัน เท่ากับที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนมิถุนายน 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 131,997 บาท/ตัน) เนื่องจากปริมาณผลผลิตทุเรียนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกไปยังประเทศจีนมีความต้องการทุเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

แนวโน้มในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.2 - 1.2) เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผลผลิตทุเรียนของประเทศไทยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศจีน และยังไม่มีตลาดใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับผลผลิตทุเรียนที่จะออกปริมาณเพิ่มขึ้นในปี 2567 อีกทั้งประเทศจีนมีทางเลือกในการบริโภคเพิ่มขึ้นจากผลผลิตทุเรียนของประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มผลผลิตแล้ว ทำให้ราคาทุเรียนในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวจากปีก่อน

นายธำรงค์ศักดิ์ นคราวงศ์ ผู้อำนวยการชลประทานจ.ตราด

นายธำรงค์ศักดิ์ นคราวงศ์ ผู้อำนวยการชลประทานจ.ตราด เปิดเผยว่า สถานการณ์การขาดแคลนน้ำของจังหวัดตราดในช่วงนี้ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆเนื่องจากทางชลประทานตราดได้เก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ 7 แห่ง โดยมีความจุอยู่ที่ร้อยละ 80 ของความจุทั้งหมด ซึ่งการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ชลประทานจะไม่มีปัญหาแต่ประการใด ซึ่งปัญหาที่ฝนตกน้อยในปี 2566 ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ปริมาณน้ำฝนตกสะสมในรอบ 30 ปีของจังหวัดจะมีมากถึง 3,000 พันมม.

แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนตกสะสมที่มีการรายงานจากสถานีอุตุนิยมวิทยาคลองใหญ่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 มีเพียง 1,754.9มม.เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับสถิติในรอบ 30 ปีในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2565 มียอดสะสมมากถึง 3,659.6 มม.ต่ำกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 52.33 ซึ่งหากเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม 2566 ไม่มีฝนลงมาอาจจะส่งผลกระทบต่อการเกิดภัยแล้งในช่วงปี 2567 ได้ในขณะนี้ น้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำตอนบนระดับน้ำยังไม่ท่วมองค์พระพุทธสิริภูวดลมงคลชัย(พระจมน้ำ)เหมือนที่เคยท่วมในระยะเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งหรือการขาดแคลน้ำในปีนี้จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำสะสมเพียงพอ แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานอาจจะต้องเตรียมความพร้อมไว้ เนื่องจากช่วงนั้นจะมีความต้องการน้ำมากทั้งผลไม้และพืชผลอื่นๆ

ทุเรียนตราด ราคาดีต่อเนื่อง หลังจีนสั่งซื้อไม่อั้น

"ในปี 2567 ทางชลประทานตราดเป็นห่วงเพราะอาจจะเกิดการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน ดังนั้นในช่วงฤดูฝนปี 2566 นี้ ชลประทานตราดจะต้องทำการเก็บกักน้ำให้มากที่สุดเหมือนปี 2564 จะได้ไม่เกิดปัญหา ส่วนระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำตอนบนที่มีปริมาณลดลงนั้น ไม่เป็นปัญหา เพราะหลังจากนี้มีการเก็บกักน้ำขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าระดับน้ำเพิ่มขึ้น หลังเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งในเดือนมิถุนายนเมื่อฝนตกลงมาน้ำเริ่มเพิ่มขึ้นตามลำดับ จึงไม่ต้องกังวลในพื้นที่ชลประทาน

แต่นอกพื้นที่ชลประทานตราดในแต่ละอำเภอได้มีการแจ้งให้องค์กรปกครองท้องถิ่นและเกษตรกรได้ดำเนินการเก็บกักน้ำในพื้นที่ตามคู คลอง หรือสระ เพื่อรองรับน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน รวมทั้งเกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำควรใช้อย่างประหยัด

ส่วนที่เป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ พื้นที่เพาะปลูกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนมีพื้นที่ปลูกขึ้นมาก อาจกระทบต่อปริมาณน้ำที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น  ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ไข และป้องกันเสียแต่เนิ่นๆเพื่อไม่ให้เกิดปัญหามากในพื้นที่นอกเขตชลประทาน"