นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมพร้อมรับฟังความคืบหน้าการก่อสร้างหอควบคุมการจราจรทางอากาศเชียงใหม่ ของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) โดยมี นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงคมนาคม และ ดร. ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ในพื้นที่เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 24 ธันวาคม 2566
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตามนโยบาย Quick-Win เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล และเพื่อรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมทั้งท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ขยายเวลาเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
ดังนั้น บวท. จึงเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจราจรทางอากาศให้ครอบคลุมช่วงเวลา และให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งบวท. ได้มีโครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและควบคุมการจราจรทางอากาศเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว
นอกจากนั้น บวท.มีแนวทางการบริหารจัดการจราจรทางอากาศและห้วงอากาศท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานดอนเมือง รองรับการเพิ่มปริมาณเที่ยวบินและกระตุ้นเศรษฐกิจ ในรูปแบบการบริหารห้วงอากาศ (Flexible Use of Airspace : FUA) และออกแบบเส้นทางการบินคู่ขนาน ระหว่างกรุงเทพฯ (ดอนเมือง/สุวรรณภูมิ) - เชียงใหม่ โดยได้มีการประสานขอใช้พื้นที่ห้วงอากาศของกองทัพอากาศ (ทอ.) เพื่อสร้างเส้นทางบินให้สามารถใช้ประโยชน์สำหรับเครื่องบินพลเรือน
ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน เนื่องจากมีจุดร่วม จุดตัด และความซับซ้อนบนเส้นทางบินลดลง ทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ และหน่วยงานความมั่นคงยังสามารถใช้ห้วงอากาศเพื่อตอบสนองต่อภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับส่งเสริมและพัฒนา การใช้ห้วงอากาศร่วมกันระหว่างหน่วยงานความมั่นคงและพลเรือน ให้เกิดการใช้ห้วงอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ บวท. อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารหอควบคุมการจราจรทางอากาศ และอาคารสำนักงาน ณ ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ เนื่องจากอาคารหอควบคุมการจราจรทางอากาศเดิมใช้งานมานานกว่า 55 ปี พื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอ และเพื่อรองรับระบบอุปกรณ์ในอนาคต ลดความเสี่ยงจากภัยแผ่นดินไหว และรองรับระบบปฏิบัติการสำรองแบบต่างพื้นที่ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ (Offsite Backup)