แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าสายการบินไทยสมายล์ (Thai Smile) จะทำการบินเที่ยวบินสุดท้ายในวันที่ 31 ธันวาคม 2666 ปิดตำนาน 11 ปี สายการบินรอยยิ้มคู่ฟ้า ซึ่งเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจการบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ที่ได้ทยอยโอนเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำของไทยสมายล์มารวมอยู่
ทั้งนี้สายการบิน ไทยสมายล์จะทำการบินวันสุดท้ายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จะมีทำตารางบินตามปกติตลอดทั้งวัน แต่จะมี 4 เส้นทางบินสุดท้ายของวันดังกล่าว ที่ผู้บริหารของการบินไทย จะมีกิจกรรมเพื่ออำลาเที่ยวบินสุดท้ายของไทยสมายล์ ได้แก่
4 เส้นทางบินสุดท้ายของสายการบินไทยสมายล์
เที่ยวบินขาออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ
เที่ยวบินขาเข้า สนามบินสุวรรณภูมิ ได้แก่
ทั้งนี้หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เครื่องบิน การให้บริการ และเส้นทางบินของสายการบินไทยสมายล์ทั้งหมดจำนวน 20 ลำก็จะถูกโอนย้ายไปยังการบินไทย หลังจากก่อนหน้านี้ทยอยโอนมาแล้วบางส่วน ซึ่งกระบวนการควบรวมสายการบินทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567
การบินไทยทำการบินแทนไทยสมายล์
โดยการบินไทยจะกลับมาเปิดบินเส้นทางบินในประเทศอีกครั้งแทนสายการบินไทยสมายล์ ในตารางบินฤดูหนาวนี้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 และต่อเนื่องถึง 1 มกราคม 2567 อาทิ
ปิดตำนาน 11ปี สายการบินไทยสมายล์ ขาดทุน 2 หมื่นล้าน
ทั้งนี้กว่า 11 ปีที่ผ่านมาสายการบินไทยสมายล์ ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (ไทยสมายล์) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 17 ต.ค.2556 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 99.99% ซึ่งเป็นสายการบินลูกที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศในเส้นทางบินระยะสั้น
สายการบินไทยสมายล์เกิดขึ้นในสมัย 'ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์' เป็น DD การบินไทย ครม.มีนโยบายให้สร้างความชัดเจนระหว่าง Full Service Carriers และ Low Cost Carriers แต่เมื่อสายการบินเปิดให้บริการ ในช่วงหลังก็ปรับตำแหน่งทางการตลาดเป็นสายการบินสไตล์ Light Premium ที่มีสีสันความสดใส
ขณะที่ผลการดำเนินงานของไทยสมายล์ นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2556 ถึง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีผลการขาดทุนสะสมต่อเนื่องรวม 20,012 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 18,166 ล้านบาท และมีความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไปหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากการบินไทย
การบินไทยจึงโอนพนักงานของสายการบินไทยสมายล์ ที่มีอยู่ราว 800 คน เข้ามาเป็นพนักงานของการบินไทย โดยการโอนย้ายที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อโครงสร้างค่าตอบแทน สภาพการจ้าง และอายุงานของพนักงานแต่อย่างใด
รวมถึงโอนสิทธิบริหารฝูงบิน 20 ลำ การบินไทยจะต้องดำเนินการแจ้งไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT และกระทรวงคมนาคม ซึ่งเมื่อโอนเครื่องบินทั้งหมดกลับมาที่การบินไทยแล้ว ก็ต้องยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการการเดินอากาศ (AOL) ซึ่งจะส่งผลให้รหัสการบินภายใต้โค้ด WE ของสายการบินไทยสมายล์สิ้นสุดลง ประกอบกับใบอนุญาตของไทยสมายล์ก็มีกำหนดหมดอายุในเดือนมกราคม 2567 ด้วยเช่นกัน
หลังการปรับโครงสร้างดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราการใช้งานเครื่องบิน A 320 เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นจาก 8.92 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 11.28 ชั่วโมงต่อวัน ภายในปี 2568
ขณะที่อัตราการใช้งานเครื่องบินในฝูงบินของการบินไทยรวมทุกแบบอากาศยานจะปรับตัวสูงขึ้นจาก 11.18 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 11.52 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วง 6 เดือนแรก และปรับตัวสูงขึ้นเป็น 12.76 ชั่วโมงต่อวัน ภายในปี 2568 และมีผลตอบแทนจากการจำหน่ายบัตรโดยสารต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจาก 2.23 บาทเป็น 2.27 บาทส่งผลให้การบินไทยมีผลประกอบการในภาพรวมช่วงปี 2566-2568 ปรับตัวสูงขึ้น
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการปรับโครงสร้างดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ทั้งของการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งขั้นตอนการโอนเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำ มารวมเป็นฝูงบินของการบินไทย จะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567
สาเหตุหลักที่การบินไทยยุบสายการบินไทยสมายล์
1.เป็นการใช้ทรัพย์สินอย่างมีมูลค่ามากขึ้น
2.ทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับเวนเดอร์ ในการซื้อบริการต่างๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้น เพราะขนาดธุรกิจของไทยสมายล์ คิดเห็น 10% ของการบินไทย การปรับโครงสร้างนี้ก็จะทำใหมีการใช้ซัพพลายต่างๆใช้ร่วมกันได้
3. แก้ปัญหาการขาดทุนของไทยสมายล์ ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทย และไทยสมายล์ ถือใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศAir Operator Certificate หรือ AOC คนละบริษัท ทำให้การบินไปบางประเทศทำไม่ได้ เพราะมีเรื่องของสิทธิการบิน และไทม์สล็อตที่ไม่สามารถโอนข้ามกันได้
ส่งผลให้ไทยสมายล์มีการใช้งานเครื่องบินไม่ถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูง ขณะที่การบินไทยใช้เครื่องบิน(Aircraft Utilization) อยู่ที่ 12-13 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นถ้าแบ่งเครื่องบินลำตัวแคบของไทยสมายล์มาให้การบินไทยใช้ทำการบิน การใช้ประโยชน์ของเครื่องบินต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ชั่วโมงกว่า ซึ่งสูงกว่าอยู่ที่ไทยสมายล์ 2 ชั่วโมงกว่าต่อวัน
ทำให้ต้นทุนต่อชั่วโมงลดลง 20 % แค่นี้ผลประกอบการ ที่ใช้เครื่องบินเอ 320 ก็จะดีขึ้นแล้ว เพราะการบินไทยมีไทม์สล็อต สามารถนำเครื่องบินที่จะรวมเข้ามา เพื่อนำมาใช้บินในตอนกลางคืนได้
อีกทั้งยังทำให้การบินไทยมีฝูงบินเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ จากปัจจุบันที่การบินไทยมีเฉพาะเครื่องบินลำตัวกว้างที่ให้บริการได้เพียง 45 ลำ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารเส้นทางบินให้เชื่อมต่อกัน บริหารเวลาการบินและสิทธิการบินในเส้นทางการบินต่างๆเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการจำหน่ายบัตรโดยสารในรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายเที่ยวบิน ( Network Sale) และเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านการบริหารจัดการต้นทุน
ล่าสุดบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การบินไทยพร้อมดูแลลูกค้าของสายการบินไทยสมายล์ให้ได้รับความสะดวกสบายอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ และโอนย้ายการปฏิบัติการบินและบริการต่างๆ ทั้งหมดจากไทยสมายล์ไปยังการบินไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป
โดยเว็บไซต์ของไทยสมายล์ ได้ปิดให้บริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา และศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Smile Contact Center) จะให้บริการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับท่านผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารของไทยสมายล์ที่ยังประสงค์เดินทางตามกำหนดเดิม บริษัทฯ จะดำเนินการจัดการด้านบัตรโดยสารและการสำรองที่นั่ง
โดยท่านผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด สำหรับท่านที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการเดินทาง หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ในช่องทาง ดังนี้
บริษัท การบินไทยฯ และบริษัท ไทยสมายล์ฯ ขอขอบพระคุณผู้โดยสารทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและให้ความไว้วางใจในบริการของไทยสมายล์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะได้รับความสะดวกสบายจากการให้บริการของการบินไทยต่อไป