KEY
POINTS
เปิดธุรกิจ Seaplane ในไทย ยกโมเดลมัลดีฟส์ เจาะนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก สยามซีเพลน จ่อสยายปีก 10 เส้นทาง 5 ปี ทุ่ม 1.7 พันล้านบาทเพิ่มเครื่องบิน 15 ลำ อวานติ แอร์ รีแบรนด์เป็น‘ไทย ซีเพลน’ รอ กพท.ไฟเขียวกฎหมายบินขึ้น-ร่อนลงบนผิวน้ำบังคับใช้ ทอท. สบช่องสร้าง Seaplane Terminal ในสนามบินภูเก็ตรับธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวลักชัวรี
ยกโมเดลมัลดีฟส์ เปิด Seaplane ในไทย
กระทรวงคมนาคม โดยหน่วยงานด้านคมนาคมทางอากาศ อยู่ระหว่างยกโมเดล มัลดีฟส์ มากำกับดูแลการให้บริการเครื่องบินสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก หรือ Seaplane ในไทย ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อรองรับการเปิดให้บริการธุรกิจซีเพลนในไทย
โดยขณะนี้มี 2 สายการบินใหม่ ได้ยื่นขอใบรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT แล้ว ได้แก่ บริษัท SIAM Seaplane จำกัด และบริษัท Thai Seaplane จำกัด ที่รีแบรนด์มาจากบริษัท อวานติ แอร์ ชาร์เตอร์ จำกัด ที่เดิมให้บริการเครื่องบินชาร์เตอร์เพื่อชมวิวในพื้นที่อันดามัน มายื่นเรื่องขอเปิดให้บริการซีเพลน
สยามซีเพลน จ่อบิน 10 เส้นทาง 5 ปี
นางสาววรกัญญา สิริพิเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามซีเพลน จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสายการบินคาดว่าจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) จากกพท.ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 โดยในช่วง 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการจะใช้เครื่องบิน Cessna Grand Caravan EX 208B จำนวน 3 ลำ ลงทุนราว 300 ล้านบาท จุผู้โดยสาร 8 ที่นั่ง บริการในเครื่องให้ความรู้สึกเหมือนไพรเวทเจ็ท
อีกทั้งยังได้วางแผนจะบินใน 10 เส้นทาง อาทิ พัทยา กระบี่ พังงา เกาะยาวน้อย หลีเป๊ะ ตราด ตั้งราคาขายได้ไว้ที่ 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อ 1 ชั่วโมง
สายการบินเน้นเจาะกลุ่มตลาดพรีเมี่ยม ที่มีความต้องการใช้ซีเพลนเดินทาง เพราะสะดวกและรวดเร็ว อาทิ จากภูเก็ตไปหลีเป๊ะ ใช้เวลา 40-45 นาที กรุงเทพไปพัทยา 25-30 นาที และหากธุรกิจไปได้ดีวางแผนไว้ว่าจะเพิ่มเครื่องบินรวมเป็น 15 ลำภายใน 5 ปี ลงทุนกว่า 1,700 ล้านบาท นางสาววรกัญญา กล่าว
อวานติ แอร์ รีแบรนด์ เป็น Thai Seaplane
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ ไทย ซีเพลน ซึ่งรีแบรนด์มาจาก บริษัท อวานติ แอร์ ชาร์เตอร์ จำกัด ได้ยื่นแผนมายังกพท.ที่จะใช้เครื่องบิน Cessna 208 ติดตั้งทุ่นลอยน้ำของ Wipline 8750 ในช่วง 1-3 ปีแรกจะใช้เครื่องบิน 4-5 ลำ คาดว่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เส้นทางบินจะนำร่องที่พื้นที่อันดามันก่อน ระยะเวลาบินไม่เกิน 1.30 ชั่วโมง
พร้อมบินทันทีหากกพท.คลอดกม.แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ 2 สายการบิน มีเครื่องบิน Seaplane นักบิน และได้ศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแผนทางธุรกิจไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบได้ทันที หากได้รับอนุญาต จาก กพท. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากต้องรอให้กพท.ดำเนินการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสนามบินน้ำ (Water Aerodrome) หรือ ที่ขึ้น-ลงชั่วคราวทางน้ำในพื้นที่ต่างๆที่สายการบินมีแผนจะเปิดบินให้แล้วเสร็จเสียก่อน
โดยจำเป็นต้องหารือร่วมกับ หน่วยงานอนุญาตภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อการใช้พื้นที่ขึ้น/ลงทางน้ำ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อกำหนดของกฎหมาย ประกอบด้วย กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ก็จะให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ ในรูปแบบ Visual Flight Rule (VFR) ซึ่งเป็นการควบคุมจราจรทางอากาศ ในพื้นที่ห้วงอากาศหลังจากเครื่องบินบินขึ้นจากพื้นน้ำ ไปจนกระทั่งก่อนที่เครื่องบินจะร่อนลงสู่พื้นน้ำ ซึ่งในบางพื้นที่ห่างไกลในทะเล บวท.ได้ศึกษาวิเคราะห์และตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบการติดต่อสื่อสาร ระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศและระบบติดตามอากาศยาน เพื่อสามารถรองรับการให้บริการอย่างปลอดภัยต่อไปได้
ทอท.จ่อสร้าง Seaplane Terminal สนามบินภูเก็ต
ขณะเดียวกันจากการเปิดธุรกิจซีเพลนในไทย ทอท.ก็มองเห็นโอกาสนี้เช่นกัน โดยนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท.หรือ AOT เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในขณะนี้ทอท.มีแผนจะพัฒนาสนามบินน้ำ (Water Aerodrome) หรือ Seaplane Terminal ภายในท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อรองรับการเปิดให้บริการธุรกิจซีเพลน (Seaplane) ในไทย และตอบโจทย์การดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรีของรัฐบาล
นายกีรติ กล่าวต่อว่า เดิมการพัฒนา Seaplane Terminal ทอท.วางแผนไว้รวมอยู่กับแผนพัฒนาสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 มูลค่าการลงทุนราว 8 พันล้านบาท ที่จะมีการสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 6 ล้านคนต่อปี และสร้าง Seaplane Terminal ซึ่งจะเปิดประมูลในช่วงต้นปี 2568
แต่ในขณะนี้จะมีการศึกษาที่จะแยกโครงการนี้ออกมาจากแผนพัฒนาสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 เพื่อจะได้เร่งดำเนินการก่อน การลงทุนก็ไม่ได้มากมาย เพียงแต่สร้าง Jetty ท่าเทียบเรือสำหรับเป็นที่ขึ้น-ลง ยื่นลงไปในทะเลเท่านั้นใช้เวลา 1 ปีก็จะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ผู้โดยสารที่เดินทางมาลงที่สนามบินภูเก็ต จะสามารถเดินทางเชื่อมจากอาคารผู้โดยสาร ออกไปใช้บริการเครื่องบินซีเพลน ที่ให้บริการอยู่ที่ Seaplane Terminal ได้เลย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางต่อไปเที่ยวหรือเข้าพักโรงแรมที่ตั้งอยู่ตามเกาะต่างๆทั้งบริเวณอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งจะลดระยะเวลาในการเดินทางไปได้มาก
อาทิ จากปัจจุบันนักท่องเที่ยวเมื่อมาลงสนามบินภูเก็ต ต้องเดินทางไปขึ้นเรือสปีดโบ๊ท ที่โอเชียน มารีน่า ใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง รอขึ้นเรือต่อไปอีก ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงกว่าจะไปถึง แต่หากใช้บริการ Seaplane จะสะดวกและประหยัดเวลาไปได้มาก ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรี จ่ายในราคา 3 หมื่น 5 หมื่นบาท หรือ 1 แสนบาท เขาก็พร้อมจ่ายอยู่แล้ว
ส่วนการคิดค่าบริการกับสายการบินที่จะมาใช้บริการที่ Seaplane Terminal ก็จะถูกกว่าสายการบินปกติที่มาใช้บริการสนามบินภูเก็ตมาก เพราะทอท.ไม่ได้ใช้งบลงทุนในส่วนนี้มากมายเหมือนการสร้างอาคารผู้โดยสาร นายกีรติ กล่าวทิ้งท้าย