28 มีนาคม 2567 ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค คณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายสมศักดิ์ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วันนี้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยบูรณาการแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2570) ซึ่งมีกลยุทธ์ที่ 2 เป็นการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่มป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล
ภายใต้แนวคิดรณรงค์ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" เพื่อการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยอื่น ๆ พร้อมทั้งให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติมีพื้นที่เล่นน้ำอย่างปลอดภัย
"ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ขอวิงวอนให้พ่อแม่พี่น้องครอบครัวช่วยกันทำความเข้าใจกับคนในครอบครัวว่า การดื่มแล้วขับมีอันตรายมาก พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำการประสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามที่จะให้ทุกคน ลด ละ เลิก ดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ ๆ มีการเล่นสงกรานต์" นายสมศักดิ์ กล่าว
สำหรับปีนี้รัฐบาลมีจุดเน้นในการป้องกัน 5 ข้อ ดังนี้
1.กำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์
2.เพิ่มจำนวนด่านชุมชน เพิ่มความถี่การเรียกตรวจ เพื่อการคัดกรองคนเมาสุรา
3.ตรวจระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย ถ้าพบผู้บาดเจ็บอายุต่ำกว่า 20 ปี เมาสุรา ให้สอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับร้านค้าที่จำหน่าย
4.กวดขันการปฏิบัติตามกฎหมาย ห้ามดื่มแอลกอฮอล์บนทาง ตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522
5.ส่งต่อผู้ถูกคุมความประพฤติ ฐานขับรถขณะเมาสุราทุกราย เข้าสู่กระบวนการบำบัด
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์ และขอให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด/กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ร้านค้าและประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
เทศกาลสงกรานต์ 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุยังมาจากการดื่มแล้วขับ โดยข้อมูลวันที่ 11-17 เมษายน 2566 ระบบรายงานการบาดเจ็บและเสียชีวิตช่วงเทศกาล กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้ดื่มแล้วขับจำนวนทั้งหมด 4,340 ราย เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 502 ราย ส่วนมากดื่มแล้วขับและเกิดอุบัติเหตุล้มเอง อุบัติเหตุเกิดบนถนนสายรองมากกว่าถนนสายหลัก และยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่ คือ รถจักรยานยนต์
พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ว่าด้วยการเลือกและการแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พ.ศ. …. โดยระเบียบดังกล่าว เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้แทนองค์กรที่เป็นนิติบุคคลและการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ