นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าปัจจุบันการบินไทย ได้เซ็นสัญญาขายเครื่องบิน ไปได้แล้วรวม 18 ลำ โดยทั้งหมดเป็นเครื่องบินปลดระวาง ได้แก่
ส่งผลให้ในงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2567 การบินไทยมีการบันทึกการด้อยค่าของเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียนอยู่ที่ 3,338 ล้านบาท
การบันทึกด้อยค่าครั้งนี้ ถือว่าเป็นการบันทึกด้อยค่าจำนวนสูงสุดของปีนี้แล้ว แต่ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ การบันทึกด้อยค่าจะลดลง เหลือเพียงบันทึกด้อยค่าจากอุปกรณ์การบิน เครื่องยนต์ที่ไม่ได้ใช้ เนื่องจากเครื่องบินปลดระวาง 12 ลำได้ขายหมดแล้ว
การขายเครื่องบินที่ปลดระวางเป็นหนึ่งในการดำเนินงานของแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งการบินไทยได้ดำเนินการแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงคาดการณ์ว่าจะสามารถยื่นกลับซื้อขายหลักทรัพย์และออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามเป้าหมายในปี 2568 หลัง EBITDA เป็นบวกต่อเนื่อง สะสมมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนสินทรัพย์ประเภทสำนักงานที่เหลืออยู่ที่ฮ่องกง 2 แห่ง สำนักงานขายของการบินที่จ.เชียงใหม่ สำนักงานขายของการบินไทย ที่จ.พิษณุโลก รวมแล้วจำนวน 4 แห่ง ยังอยู่ระหว่างการประกาศขาย
ขณะที่การดำเนินธุรกิจตลอดปี 2567 นี้บริษัทฯ ยังคงคาดการณ์ว่าจะสามารถทำรายได้รวมอยู่ 1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการดำเนินงาน 1.6 แสนล้านบาท ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) คาดว่าจะอยู่ในระดับ 75%
นายชาย ยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 การบินไทยและบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 73 ลำ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 8 ลำ โดยเป็นการทยอยรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ที่จัดหาและนำมาปฏิบัติการบินระหว่างปี มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.8 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.1%
ขณะที่ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 10.1% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.5% ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งเฉลี่ยที่ 80.8% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.88 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.2%
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 การบินไทยและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,423 ล้านบาท และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 14,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินจำนวน 14,054 ล้านบาท
มีรายได้บัตรโดยสารรวม 38,517 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากผู้โดยสารทั่วไป 38,387 ล้านบาท และจากส่วนราชการภายในประเทศ 130 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.3% ของรายได้บัตรโดยสารรวม โดยเป็นรายได้จากเส้นทางยุโรป 34.5% เอเชียเหนือ 32.8% เอเชียตะวันตกและตะวันออกกลาง 11.9% ออสเตรเลีย 7.2% อาเซียน 7.7% และเส้นทางภายในประเทศ 5.9%
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 257,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 18,119 ล้านบาท (7.6%) หนี้สินรวมจำนวน 297,829 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 15,696 ล้านบาท (5.6%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบ 40,719 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 2,423 ล้านบาท มีเงินสดรวมตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 72,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 5,595 ล้านบาท
จากปริมาณความต้องการเดินทางที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้ดำเนินการบริหารจัดการตารางเวลาขึ้น-ลงของเที่ยวบิน (Slot Time) ที่ได้รับการจัดสรรตามมาตรฐานกระบวนการในระดับสากล ทั้งในส่วนการใช้ตารางเวลาที่ได้รับจัดสรรเพื่อรองรับความต้องการการเดินทางและเชื่อมต่อเครือข่ายเที่ยวบินของผู้โดยสาร และการคืนตารางเวลาในเส้นทางและเที่ยวบินที่ไม่ได้อยู่ในแผนการบินของบริษัทฯ
สำหรับการวางแผนเส้นทางการบินในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปีนี้ ก็จะเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น ในเส้นทางบินออสเตรเลีย ได้แก่ การเพิ่มเที่ยวบิน 2 เที่ยวบินต่อวัน ในเส้นทางบินสู่ซิดนีย์ เมลเบิร์น เส้นทางบินสู่เพิร์ท 1 เที่ยวบินต่อวัน จะทำให้เครือข่ายครบถ้วนมากขึ้น
นอกจากนี้ 2 ตลาดที่เป็นกำลังหลักคือ ยุโรป ในเดือนกรกฎาเป็นต้นไป จะมีเที่ยวบินใหม่สำหรับออสโล นอร์เวย์ 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ และมีมิลาน จะเสริมให้รายได้ของฝั่งยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีรายได้อยู่ 34.5% แข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนี้จีน ที่มี 2 เมืองที่จะมีเข้าไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ปักกิ่งจาก 7 เที่ยวบินเป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เซี่ยงไฮ้จาก 7 เที่ยวบิน เป็น 11 เที่ยวบิน
ทั้งยังมองยาวไปถึงปลายปีนี้ว่าจะมีเส้นทางบินอย่างบรัสเซลเข้ามาเสริมเส้นทางยุโรปในช่วงไตรมาส 4 และจะใช้โอกาสเรื่องของวีซ่าฟรีของอินเดีย เพิ่มความถี่เที่ยวบินของบางเมือง และเส้นทางใหม่ เช่น อมาริสา ในประมาณ Q 4 เรื่องของความถี่ความจุที่มีปัจจุบัน เพียงพอต่อการรับนักท่องเที่ยวอินเดียที่เป็นอันดับ 3 ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทย
“ปัจจุบันผลการดำเนินงานของการบินไทยเป็นบวกต่อเนื่อง 6 ไตรมาสแล้ว เป็นตัวเลขที่ดีกว่าในแผนฟื้นฟู แต่จุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงมองว่าอุปกรณ์ที่ให้บริการยังเป็นจุดอ่อน ปัญหาของอุปกรณ์อยู่ในกระบวนการที่กำลังแก้ไข อะไหล่ต่าง ๆ ที่อยู่บนเครื่องบินยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข ต่อให้มีอำนาจการต่อรองกับเวนเดอร์ แต่ไม่ถึงกับมีอำนาจต่อรองสูงขนาดนั้น แต่มีการต่อรองให้มีการปรับปรุงอะไหล่เก้าอี้ มีมาตรการปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคต” นายชาย กล่าว
อย่างไรก็ตามในส่วนการส่งมอบประสบการณ์ผู้โดยสาร บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสาร รวมถึงเก้าอี้โดยสารมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา และได้เพิ่มมาตรการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 นี้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 บริษัทฯ ได้เปิดตัวโมบายแอปพลิเคชัน “Thai Airways” เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารในการใช้งานมากยิ่งขึ้น พร้อมปรับรูปลักษณ์ใหม่เพื่อความทันสมัยและเข้าใจง่าย ตอบโจทย์การใช้งาน ด้วยข้อมูลการจัดการเที่ยวบิน และการเข้าถึงบริการออนไลน์ของ รอยัล ออร์คิด พลัส (ROP) อีกทั้งเพิ่มช่องทางในการให้บริการผู้โดยสารและเข้าถึงผู้โดยสารให้มากยิ่งขึ้น