จากกรณีที่กองทัพอากาศ (ทอ.) มีแผนจะส่งมอบพื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือ ที่เรียกกันว่า “สนามงู” จำนวน 355 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ที่ได้มอบให้กองทัพอากาศดูแล โดยเป็นพื้นที่ด้านข้างทางวิ่ง (รันเวย์) ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้กับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. ไปใช้ประโยชน์ เพื่อสนับสนุนแผนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคนี้ หรือ Aviation Hub ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาพิจารณาการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพฯ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
เบื้องต้นกองทัพอากาศ ได้ประเมินไว้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในช่วง 30 ปีอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 90-100 ล้านบาทต่อปี จากผลกระทบต่อบุคลากรที่ทำงานอยู่ในสนามกอล์ฟ อาทิ พนักงานถือถุงกอล์ฟ (แคดดี้) รวมทั้งต้องสูญเสียรายได้จากการเปิดให้บริการสนามกอล์ฟ ซึ่งทอท.อาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยที่เกิดขึ้น
ต่อเรื่องนี้นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนการส่งมอบพื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือ สนามงู ประมาณ 355 ไร่ ให้ทอท.ใช้ประโยชน์ในด้านการบินนั้น เรายินดีที่จะรับพื้นที่นี้มาพัฒนา แต่โดยหลักการต้องมีการเจรจากับทอ.ถึงการจ่ายค่าชดเชยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องมีการเจรจาในรายละเอียดให้เหมาะสม และพิจารณาเรื่องผลกระทบทางด้านการเงินด้วย
การจะจ่ายค่าชดเชย 3,000 ล้านบาทคงไม่ใช่ เพราะหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชย หลักๆ ก็พิจารณาถึงผลกระทบของรายได้จากสนามกอล์ฟที่หายไป ซึ่งเฉลี่ยปีละ 5 ล้านบาท ชดเชยเป็นเวลา 30 ปีตรงนี้ก็จ่ายได้ แต่ค่าใช้จ่าย อื่นๆ เช่นการชดเชยบุคลากรที่ทำงานอยู่ในสนามกอล์ฟ อาทิ แคดดี้ การจ่ายค่าชดเชย 6 เดือนก็น่าจะเพียงพอ คาดว่าต้องใช้เวลาพอสมควร จึงจะประเมินเพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงวงเงินการจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสม
ทั้งนี้หากตกลงกันได้ทอท.ก็พร้อมจะรับคืนพื้นที่ดังกล่าวจากกองทัพอากาศ และจะรื้อสนามกอล์ฟออก เพื่อสร้างเป็นทางขับ(Taxi Way) หรือ แท็กซี่ เวย์ ทำให้สนามบินดอนเมือง มีพื้นที่ทางขับเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริหารจัดการเที่ยวบินในส่วนของรันเวย์ 1 และรันเวย์ 2 ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5% จากเดิม 55 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 65 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ก็จะทำให้ทอท.มีรายได้เพิ่มขึ้น และนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยได้มากขึ้นด้วย เพราะเครื่องบินจะทำการบินได้เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันยังทำให้สนามบินดอนเมือง มีมาตรฐานด้านปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ผ่านมาแม้สถาบันการบินพลเรือน และองค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO) จะรับรองความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็ตาม แต่ที่ผ่านมา จากรายงานสถิติของท่าอากาศยานดอนเมือง พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เช่น มีรถกอล์ฟ ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ นักกอล์ฟไม่ระมัดระวังในการเดินตัดจุดผ่านของรันเวย์สนามบิน มียานพาหนะฝ่าฝืนสัญญาณไฟแจ้งเตือน นักกอล์ฟไม่ทราบวิธีการปฏิบัติในการขับรถกอล์ฟ และหอบังคับการบินมองไม่เห็นทางขับช่วงดังกล่าว เนื่องจากมีต้นไม้ของสนามกอล์ฟบดบัง แม้จะอยู่ในมาตรฐานความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แต่หากไม่มีสนามกอล์ฟ ก็จะมีความปลอดภัยสูงมากกว่า
นายกีรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ทอท.ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 ภายใต้การลงทุน 36,829.499 ล้านบาท เพื่ออัพเกรด สนามบินดอนเมือง รองรับผู้โดยสาร จาก 30 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 50 ล้านคนต่อปี เพื่อเป็นสนามบินหลักสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ในภูมิภาค เปลี่ยนสนามบินดอนเมืองให้เป็นสนามบินแบบ POINT-TO-POINT ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด (Detail Design) คาดว่าจะเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ในต้นปี 2568 และทยอยเปิดให้บริการในปี 2572
โดยการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 จะเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 หลังใหม่ ตรงบริเวณอาคารที่เคยให้บริการภายในประเทศเดิม ซึ่งจะทุบทิ้งสร้างใหม่ให้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีพื้นที่ใช้สอย 155,000 ตร.ม. เมื่อสร้างแล้วเสร็จก็จะย้ายการให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศจากอาคาร 1 มาอยู่ที่อาคาร 3 ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี
จากนั้นจะมีการปิดอาคาร 1 เพื่อปรับปรุง หลังจากไม่ได้ปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2560 และเมื่อปรับปรุงอาคาร 1 แล้วเสร็จ ก็จะเชื่อมต่อกับอาคาร 2 ที่ปัจจุบันให้บริการเที่ยวบินในประเทศอยู่ เพื่อรวมทั้ง 2 อาคาร ให้รองรับการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ ส่งผลให้มีพื้นที่ในการให้บริการผู้โดยสารในประเทศเพิ่มขึ้น 2.25 เท่า รวมเป็น 2.4 แสนตารางเมตร
การปรับปรุงระบบการจราจรเข้า และออกสนามบินดอนเมือง โดยการก่อสร้างสะพานเชื่อมทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์กับถนนภายในสนามบินดอนเมือง ทั้งขาเข้า และขาออก เพิ่มเติม 2 จุด และปรับปรุงขยายช่องทางจราจร หน้าอาคารผู้โดยสาร เป็น 6 ช่องทาง พร้อมปรับปรุงช่องทางออกด้านทิศใต้เพื่อลดการติดขัดของระบบจราจรภายในสนามบิน การขยายพื้นที่ลานจอดอากาศยาน ปรับปรุงอาคารสินค้า อาคารสํานักงาน และระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับกิจกรรมทางการบิน และการขนส่งทางอากาศ
รวมถึงยังมีโครงการก่อสร้างอาคาร JUNCTION BUILDING ที่จะเป็นอาคารที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ระหว่างจุดที่เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อเข้าระหว่างอาคารระหว่างประเทศและในประเทศ โดยจะเป็นอาคารให้บริการเชิงพาณิชย์ มีร้านค้า ร้านอาหาร ให้ใช้บริการก่อนไปบิน โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนสัมปทาน 30 ปี
ทั้งในระยะเร่งด่วนทอท.ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวกในการให้บริการสนามบินดอนเมือง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เครื่องโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (Self-Boarding Gate: SBG) และระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger Validation System: PVS) ทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องรอคิวนาน ตามคอนเซ็ป “Fast and Hassle Free Airport” อีกด้วย