การขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทย ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา“เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” มีเป้าหมายที่จะนำกีฬามาต่อยอดด้านการท่องเที่ยว เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศูนย์กลางกีฬา (Sport Hub) ในระดับภูมิภาค การกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว (Sport Tourism) การผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับ World Class Event เช่น กอล์ฟ วิ่งมาราธอน ไตรกีฬา เรือใบ
ต่อเรื่องนี้ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นสปอร์ต ฮับ ในภูมิภาคนี้ กกท.จะต้องผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยจะยกระดับใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่
โดยจะเร่งพัฒนาศูนย์กีฬาในภูมิภาคต่างๆ อาทิ ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติพรุค้างคาว จ.สงขลา ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ที่มีการยกระดับเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ให้ทัดเทียมส่วนกลางและได้มาตรฐานสากล เพื่อดึงนักกีฬาจากต่างประเทศเข้ามาเทรนนิ่งในไทย ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แต่ในเฉพาะกรุงเทพฯเท่านั้น
นอกจากนี้กกท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ และยกระดับสนามกีฬาแห่งชาติของไทย รวม 3 แห่ง มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการก่อสร้างสปอร์ต คอมเพล็กซ์ (Sport Complex) ใน 2 จังหวัด ได้แก่ สนามกีฬาแห่งชาติ ( National Stadium ) ในพื้นที่บางละมุง จ.ชลบุรี ในพื้นที่เมืองใหม่อีอีซี และบริเวณไม้ขาว จ.ภูเก็ต รวมถึงปรับปรุง (รีโนเวท) สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพฯ ให้เป็นสนามกีฬาที่มีความทันสมัย หรือ ดิจิทัล สเตเดียม
สำหรับแผนการสร้าง “สปอร์ต คอมเพล็กซ์” ในพื้นที่ อีอีซี เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งในขณะนี้ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ไว้แล้ว ว่าจะผลักดันให้อยู่ในเฟสแรกของการพัฒนาเมืองใหม่อีอีซี ที่จะยกระดับศูนย์ฝึกกีฬาภาคตะวันออกของกกท.ในพื้นที่บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งมีพื้นที่อยู่ 200 กว่าไร่ เจรจากับทางอีอีซี ที่จะขอเพิ่มพื้นที่อีกประมาณ 1,200-1,800 ไร่ เพื่อให้ได้พื้นที่รวมเป็นประมาณ 1,500-2,000 ไร่ ในการสร้างสปอร์ต คอมเพล็กซ์ ซึ่งอีอีซี สามารถเวนคืนที่ดิน สำหรับการนำมาพัฒนาโครงการนี้ได้
ทั้งนี้ภายในสปอร์ต คอมเพล็กซ์แห่งนี้ จะประกอบไปด้วย สนามฟุตบอลขนาดใหญ่ จุได้ 8 หมื่นที่นั่ง มากกว่าสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ที่จุได้เพียง 4 หมื่นที่นั่ง เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ ซึ่งจะเป็นเวโลโดรม (Velodromes) รองรับการแข่งขันได้ในหลายชนิดกีฬา และกีฬาใหม่ๆ อาทิ กีฬาขี่ม้า แข่งม้า และยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ในแบบมัลติเพอร์เพิร์ส (Multipurpose) อย่างการจัดคอนเสิร์ต หรือ กิจกรรมต่างๆได้ด้วย มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยจะของบสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเป็นการเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน หรือ PPP
“การที่เราเลือกพื้นที่ตรงนี้ เพราะเดินทางสะดวก เป็นที่มีรถไฟฟ้าเชื่อมต่อในอนาคต ใกล้สนามบิน เพราะถ้ามีสนามกีฬาขนาดใหญ่ การเดินทางทั้งทางบก ทางราง ทางเครื่องบิน มีความสะดวก และพื้นที่ตรงนี้สามารถขยายเชื่อมกับกิจกรรมต่างๆในอีอีซีได้ ทำให้พื้นที่คึกคัก ซึ่งโครงการนี้ได้นำเสนอรมว.ท่องเที่ยวในเบื้องต้นแล้ว เตรียมจะนำเรื่องเข้าบอร์ดกกท.และเสนอครม.ต่อไป หากครม.เห็นชอบก็จะทำ EIA ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเปิดประมูลให้เอกชนมาร่วมลงทุนคาดว่าจะเป็นช่วงปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปีนี้ คาดว่าจะเป็นให้บริการได้ประมาณปี 2572” นายก้องศักด กล่าว
ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการพัฒนาโครงการ “สปอร์ต คอมเพล็กซ์ ภูเก็ต” ในพื้นที่ 238 ไร่ติดทะเล บริเวณ ต.ไม้ขาว จ.ภูเก็ต โดยพื้นที่ดังกล่าวกรมธนารักษ์ได้มอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯครอบครองมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ในขณะนี้เมื่อรัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาภูเก็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว กกท.ก็มีโครงการจะพัฒนาให้พื้นที่สนามกีฬา รองรับได้ 2-3 หมื่นคน มีสนามฟุตบอล ลู่วิ่ง กรีฑา สระว่ายน้ำ อินดอร์สเตเดี้ยม มีศูนย์กีฬาทางนํ้า ทางทะเล มีบริการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา รองรับการแข่งขันกีฬา และดึงดูดนักกีฬาจากทั่วโลกเข้ามาฝึกซ้อมและเก็บตัวรวมถึงหนีหนาวเข้ามาอยู่ในภูเก็ต
โครงการนี้เบื้องต้นใช้เงินลงทุนหลักพันล้านบาท โดยจะใช้แนวทางเปิดประมูลดึงภาคเอกชนมาร่วมลงทุน ซึ่งกกท.ยังจะต้องใช้เวลาจัดทำรายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จ ก่อนจะนำเสนอกระทรวงท่องเที่ยวฯเพื่อนำเสนอครม.ต่อไป ซึ่ง สปอร์ต คอมเพล็กซ์ ที่ภูเก็ต จะมีความโดดเด่นเรื่องกิจกรรมกีฬาทางน้ำ และยังสามารถใช้เป็นพื้นที่จัดคอนเสิร์ตและคอนเวนชั่นได้ด้วย
ขณะที่แผนปรับปรุงสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพฯ กกท.อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลดึงเอกชนเข้ามาร่วมแปลงโฉมสนามกีฬาให้เป็นดิจิทัล สเตเดียม มีระบบรักษาความปลอดภัยระบบเข้า-ออกสนามมีความปลอดภัย รวดเร็วขึ้น การระบายคน การปรับปรุงห้องต่างๆให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น โดยที่ความจุของสนามก็ยังคงอยู่ที่ 4 หมื่นคนเท่าเดิม เนื่องจากไม่สามารถจะขยายได้
การปรับปรุงคาดว่าจะใช้งบลงทุนหลักพันล้านบาท อาจจะถึงหลัก 5,000 ล้านบาทก็ได้ ขึ้นกับเอกชนว่าจะเสนอมาเท่าไหร่ รวมถึงเทคนิคทางวิศกรรมที่จะใช้ในการปรับปรุงครั้งใหญ่ ว่าอาจจะต้องเปิดหรือปิดสนามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ซึ่งแผนการปรับปรุงครั้งใหญ่นี้กำลังจะเข้าบอร์ดกกท.พิจารณา รวมถึงจะต้องตั้งกรรมการขึ้นมาร่างทีโออาร์ กำหนดว่า การปรับปรุงขั้นต่ำต้องมีอะไรบ้าง ต้องปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง เพื่อทำให้เป็นดิจิทัล สเตเดียม
การปรับปรุงครั้งใหญ่นี้จะไม่ใช้งบลงทุนของกกท. การลงทุนจะอยู่ที่การเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาเสนอตัว อีกทั้งในระหว่างนี้กกท.ก็จะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ของสนามราชมังคลา เช่น ห้องน้ำ และระบบสมาร์ท สเตเดียม ซึ่งกกท.ได้ยื่นของบสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ไว้แล้ว 200 ล้านบาท ก่อนเข้าสู่กระบวนการ Bidding ในปลายปีงบประมาณ 2568
“สนามกีฬาราชมังคลา เราให้ความสำคัญในการแข่งฟุตบอลก่อนเป็นอันดับแรก โดยให้การแข่งขันด้านกีฬาจองก่อน ถ้ามีว่าง ถึงจะจัดให้คอนเสิร์ตเข้ามาใช้ ซึ่งเราเก็บค่าเช่ามาก เก็บแค่ค่าน้ำค่าไฟ มีรายได้เล็กน้อย เพราะเห็นว่าการจัดคอนเสิร์ตจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดก็มีหลายคอนเสิร์ตจองพื้นที่เข้ามาจัดงานต่อเนื่อง”
นอกจากนี้กกท.อยู่ระหว่างการปรับปรุงสระว่ายน้ำ ภายในกกท. หัวหมาก รองรับการผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำระดับโลก และมหกรรมกีฬาระดับโลกต่างๆ เช่น ล่าสุดเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเชียนอินดอร์มาร์เชียลอาตส์ เกมส์ หรือการแข่งขันกีฬาในร่ม และศิลปะการป้องกันตัว ในเดือนพ.ย.นี้ ส่วนปีหน้าไทยจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ 2025 และในอนาคตก็จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเยาวชน หรือ Youth Olympic Games เป็นต้น กกท.จะร่วมมือกับสมาคมกีฬาต่างๆเสนอตัวดึงอีเว้นท์กีฬา เข้ามาจัดในไทย ที่ก็จะทำให้เกิดการใช้จ่ายในไทยเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ไทยเป็นสปอร์ต ฮับในภูมิภาคนี้