ไฟเขียว "นกแอร์" กู้เงินผู้ถือหุ้นใหญ่ วงเงินไม่เกิน 2 พันล้าน ฟื้นฟูกิจการ

12 มิ.ย. 2567 | 14:27 น.

ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการสายการบินนกแอร์ มีมติเห็นชอบให้นกแอร์ กู้เงิน หทัยรัตน์ จุฬางกูร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท วงเงินกู้ยืมไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินธุรกิจ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจ่ายดอกเบี้ย 7 %

วันนี้ (วันที่ 12 มิถุนายน 2567) นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ล่าสุดผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการสายการบินนกแอร์ มีมติอนุมัติ และให้นกแอร์ดำเนินการเข้าทำรายการเกี่ยวโยงของบริษัทกับ นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท กรณีรับความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้วงเงินกู้ยืมไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยเบิกใช้ตามความเหมาะสม

วุฒิภูมิ จุฬางกูร

ทั้งนี้เป็นวงเงินกู้ เพื่อจะนำมาใช้เพิ่มสภาพคล่อง เนื่องจากปีนี้มีซ่อมเครื่องยนต์ของเครื่องบิน และเตรียมสำหรับเปิดเส้นทางบินต่างประเทศใหม่ๆเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 นี้

อย่างไรก็ตาม นกแอร์ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่องการเข้าทำรายการเกี่ยวโยงของบริษัท กรณีการรับความช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าว ตามมติที่ประชุมแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยอ้างอิงตามแผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) มีอำนาจในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมในรูปแบบการกู้ยืมเงิน สินเชื่อเงินสดหมุนเวียน และ/หรือ ตราสารในรูปแบบอื่นๆ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ค่าใช้จ่ายตามปกติของบริษัท โดยวงเงินกู้ยืมจะมีมูลค่าไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และมีอัตราดอกเบี้ยไม่เกินอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะนั้น

การเข้าทำรายการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.21/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ. 2546 (“ประกาศรายการที่เกี่ยวโยงกัน”)

ทั้งนี้ เนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิ (“NTA”) มีมูลค่าตํ่ากว่าศูนย์ จึงไม่สามารถคำนวณขนาดรายการตามสัดส่วนของ NTA ได้ อย่างไรก็ตาม ขนาดของรายการเกี่ยวโยงในครั้งนี้มีมูลค่า 140 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นรายการขนาดใหญ่

"นกแอร์" กู้เงินผู้ถือหุ้นใหญ่ วงเงินไม่เกิน 2 พันล้าน

โดยคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องและความสัมพันธ์กับบริษัท สายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) ได้แก่ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ/ผู้บริหารที่มีส่วนได้เสีย คือ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ส่วนผู้ให้กู้ คือ นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท จำนวน 983,864,225 หุ้น (26.383%) เป็นญาติสนิทของ ดร.วุฒิภูมิ จุฬางกูร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นญาติสนิทของ นายณัฐพล จุฬางกูร และ นายทวีฉัตร จุฬางกูร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท

ทั้งนี้ ลักษณะโดยทั่วไปของรายการเป็นวงเงินกู้ยืม จำนวน 2,000,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 12 เดือน มูลค่ารวมตลอดระยะเวลาสัญญากู้ยืม เท่ากับ 140,000,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยในทุกวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน และชำระเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดของตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยไม่มีหลักประกัน


สำหรับวัตถุประสงค์การทำรายการ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานทั่วไปของบริษัทและการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเงินกู้ยืมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ และได้รับการอนุมัติจากศาลล้มละลายกลาง

ลักษณะและขอบเขตของส่วนได้เสียของบุคคลที่เกี่ยวโยงกันในการตกลงเข้าทำรายการในรายการที่เกี่ยวโยงกัน การเข้าทำรายการดังกล่าวถือเป็นการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ประเภทรายการรับความช่วยเหลือทางการเงินตามประกาศรายการที่เกี่ยวโยงกัน 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาขนาดรายการของรายการดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขประกาศเรื่อง รายการเกี่ยวโยงกันแล้ว รายการดังกล่าวมีขนาดรายการขนาดใหญ่ มากกว่า 20 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทจะต้องขออนุมัติการเข้าทำรายการจากที่ประชุมบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และเปิดเผยรายการดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ รายการกู้ยืมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ และได้รับการอนุมัติจากศาลล้มละลายกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ขณะที่ความเห็นของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ เกี่ยวกับการตกลงเข้าทำรายการผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่รวมผู้มีส่วนได้เสีย (ดร.วุฒิภูมิ จุฬางกูร) และไม่มีผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง เห็นสมควรให้กู้ยืมเงินจาก นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานทั่วไปของบริษัท 

การชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยการรับความช่วยเหลือทางการเงินในครั้งนี้ บริษัทได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เทียบเคียงได้กับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของสถาบันการเงินในปัจจุบัน และมีความยืดหยุ่นในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินและการเบิกใช้เงินตามแผนการใช้เงิน