เปิดอาณาจักรมิราเคิล กรุ๊ป “อัศวิน อิงคะกุล” ต่อยอดโรงแรมสู่ธุรกิจสนามบิน

03 ส.ค. 2567 | 01:05 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2567 | 01:06 น.

เปิดอาณาจักรมิราเคิล กรุ๊ป บอสใหญ่ “อัศวิน อิงคะกุล” ต่อจิกซอว์โรงแรมสู่ธุรกิจสนามบิน เจ้าของห้องรับรองในสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง 18 แห่ง ศูนย์อาหารแมจิกฟู้ด ขายถูกที่สุดในสนามบิน ล่าสุดเปิด ไพร์ม สลีป ห้องพักรายชั่วโมง-รายวัน รับผู้โดยสารรอเช็คอินขึ้นเครื่องบิน

กว่าจะเป็นอาณาจักร มิราเคิล กรุ๊ป ในทุกวันนี้  จุดเริ่มต้นโรงแรมเล็กๆในซอยวิภาวดี 64 ซึ่งมีห้องพักเพียง 88 ห้อง อย่าง หลุยส์ แทเวิร์น เมื่อปี 2535 วันนี้ “อัศวิน อิงคะกุล” ในวัย 80 ปี ไม่เพียงสร้างอาณาจักรมิราเคิล กรุ๊ป จนมีโรงแรมในมือรวม 4 แห่ง รวมห้องพักกว่า 647 ห้องเท่านั้น

แต่ยังต่อจิกซอว์ ขยายธุรกิจในสนามบินทั้งที่ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ จนมีเล้าจญ์มากถึง 18 แห่ง รวมไปถึงที่พักสำหรับผู้โดยสารในสนามบิน และแมจิกฟู้ด ศูนย์อาหารที่ขายถูกที่สุดในสนามบิน

อาณาจักร มิราเคิล กรุ๊ป

อัศวิน อิงคะกุล” ประธานกรรมการบริหาร มิราเคิล กรุ๊ป เปิดใจว่า การดำเนินธุรกิจของเรา เรียกได้ว่า เป็นธุรกิจของคนไทย 100% ที่ผ่านมาเราผ่านร้อนผ่านหนาวในธุรกิจนี้มาโดยตลอด เพื่อดูแลพนักงานในเครือทั้งหมดที่เรามีกว่า 1,400 คน แม้กระทั่งช่วงโควิด-19 หลายโรงแรมปิด แต่ผมก็ไม่ปิด ไม่มีเอาพนักงานออก

อัศวิน อิงคะกุล

หรือแม้แต่วันนี้เมื่อธุรกิจกลับมาผมก็ให้สวัสดิการพนักงานเต็มที่ เจ็บปวดก็รักษาให้หมด แม้แต่เป็นมะเร็งผมก็รับผิดชอบให้ เพราะผมมองว่าคนพวกนี้ทำงานอยู่กับเรามานาน เราต้องดูแล

ผมคิดว่าทำไมเราบริจาคทำบุญกันได้มากมาย แต่ทำไมจะไปดูแลลูกน้องไม่ได้ อีกทั้งผมเป็นคนเชื่อมั่นเรื่องความกตัญญู แม้แต่ผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุไปแล้ว ผมก็ยังให้การต้อนรับทุกท่านเป็นอย่างดี

เปิดอาณาจักรมิราเคิล กรุ๊ป “อัศวิน อิงคะกุล” ต่อยอดโรงแรมสู่ธุรกิจสนามบิน

โรงแรมมิราเคิล

อีกทั้งผมยังมองว่าเราจะทำอะไรหรือให้บริการอะไรต้องนำเสนอบริการที่ดีที่สุด อย่างตอนที่ผมสร้างโรงแรมอัศวิน แกรนด์คอนเวนชั่น ลงทุนไปกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงแรมมิราเคิลมาก หลายก็มองว่าทำไมมาสร้างใกล้กันจะเป็นการแย่งตลาดกัน

แต่จริงๆ แล้วทั้ง 2 โรงแรมก็เสริมกันและกัน ส่งต่อลูกค้าให้กัน เพราะลูกค้าคนละกลุ่มกัน ทำให้ธุรกิจโรงแรมของเรา จึงได้รับการตอบรับจากลูกค้าคนไทยเป็นอย่างดี ซึ่งลูกค้าหลักของโรงแรมก็จะเป็นคนไทย 80-90 % และเป็นในลักษณะปากต่อปาก

จุดเด่นของธุรกิจโรงแรมของเราจะไม่เหมือนคนอื่น เพราะรายได้หลักจะมาจากอาหารและเครื่องดื่มมากกว่ารายได้จากการเข้าพัก จึงมีงานจัดประชุม สัมมนา และงานแต่งงานเข้ามาต่อเนื่อง แม้การดำเนินธุรกิจโรงแรมในวันนี้จะไม่เหมือนในอดีต

เพราะมีเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าไฟ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้า ทำให้การดำเนินธุรกิจโรงแรมวันนี้จะมีอัตรากำไรสุทธิ (มาร์จิ้น) ต่ำกว่าในอดีตเคยทำได้อยู่ประมาณ 20-30% แต่ในปี 2567 นี้ คาดว่าอยู่ประมาณ 10% กว่าๆ ก็ถือว่าดีแล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจตอนนี้กำลังซื้อของคนไม่เหมือนเดิม และผมก็มีการจัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

เปิดอาณาจักรมิราเคิล กรุ๊ป “อัศวิน อิงคะกุล” ต่อยอดโรงแรมสู่ธุรกิจสนามบิน

นายอัศวิน ยังกล่าวต่อว่า จากจุดแข็งด้านอาหารและเครื่องดื่มของมิราเคิล กรุ๊ป ทำให้เรานำจุดนี้มาขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบิน ซึ่งการเข้าไปทำธุรกิจในสนามบิน จะลงทุนในนามบริษัทมาสเตอร์ มายด์ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากผู้บริหารของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ขอให้เราเข้าไปช่วยลงทุนในส่วนที่ไม่มีบริการเหล่านี้ในสนามบิน ตั้งแต่การไม่มีห้องพักสำหรับรองรับผู้โดยสารต่อเครื่องบิน

มิราเคิล เลานจ์

เราจึงเข้าไปลงทุนมิราเคิล ทรานซิท หรือ เดย์รูม ที่สนามบินดอนเมือง และมิราเคิล เลานจ์ (ห้องรับรองผู้โดยสาร) ที่สนามบินดอนเมือง ตั้งแต่ปี 2536 จากนั้นในสนามบินไม่มีอาหารราคาถูกเลย เราก็ไปเข้าลงทุนศูนย์อาหารเมจิก ฟู้ด ทำให้ปัจจุบันเรามีมิราเคิล เลานจ์ ทั้งที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ รวมกว่า 18 แห่ง

โดยโครงการล่าสุดที่เข้าไปลงทุนเปิดให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ คือ “ไพร์ม สลีป แอนด์ คาเฟ่ บาย มิราเคิล” (Prime Sleep & Café by Miracle) จำนวน 25 ห้อง เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา พื้นที่ 600 ตารางเมตร

โดยเป็นพื้นที่แลนด์ไซด์ บริเวณ ชั้น 6 ตึกอาคารจอดรถโซน 3 ติดกับพิพิธภัณฑ์ ตรงข้าม Gate 8 อาคารผู้โดยสารขาออก ภายใต้สัญญาเช่าพื้นที่จากทอท. 7 ปี และสามารถต่อสัญญาได้ ใช้เงินลงทุนกว่า 30 ล้านบาท

จำนวนห้องพักมีขนาด 20 ตารางเมตร พร้อมห้องน้ำในตัว เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ราคาขายห้องพัก 2 ชั่วโมงแรก ราคา 1,200 บาท ชั่วโมงต่อไป 700 บาท ถ้าใช้บริการ 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 14,000 บาท

ลูกค้าสามารถเข้าพักได้ 2 คนต่อห้อง ทั้งแบบรายชั่วโมงและรายวัน เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่มีเที่ยวบินเดินทางช่วงเช้าตรู โดยเป็นสลีพ บ็อกซ์ แห่งแรกในสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากที่เราเปิดให้บริการสลีพ บ็อกซ์ อยู่แล้วที่สนามบินดอนเมือง

ไพร์ม สลีป แอนด์ คาเฟ่ บาย มิราเคิล

ขณะเดียวกันเรายังมีโครงการลงทุนอีก 2 โครงการบริเวณอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเปิดใช้อาคารมาตั้งแต่เดือนก.ย.2566 โดยเราได้เปิดให้บริการมิราเคิลเลาจน์ บนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ล้านบาท และ Miracle Transit Hotel (เดย์รูม) 35 ห้อง ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 200 ล้านบาท แต่ปัญหาคือ มีสายการบินไปใช้บริเวณ SAT-1 น้อยมาก

ทำให้ไม่มีผู้โดยสารมาใช้บริการที่เราได้ลงทุนไปมากนัก อาจะเป็นเพราะเมื่อ 3-4 ปีก่อน การออกแบบ อาคาร SAT-1 วางแผนเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ของนักท่องเที่ยวที่บินระหว่างประเทศ จึงต้องมีห้องพักรองรับนักท่องเที่ยวที่รอต่อเครื่อง แต่พอเปิดอาคารนี้กลับกลายเป็นเอาสายการบินโลว์คอสต์มาลงแทน

ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวทรานซิทเลย ห้องพักที่สร้างมาก็ไม่มีลูกค้า เจ็บปวดที่สุด และผมก็ถูกเรียกเก็บเงินค่าใช้พื้นที่มาตลอด จริงๆ เราฟ้องก็ได้แต่ไม่ใช่นิสัยของผม ทำธุรกิจด้วยกันมานาน อยากให้ทำอะไรผมก็ทำให้มาตลอด

ล่าสุดได้ทำหนังสือไปถึงทอท.เพื่อขอให้พิจารณาหยุดการเรียกเก็บเงินในส่วนของ Miracle Transit Hotel ไว้ก่อน ส่วนมิราเคิล เลานจ์ ที่เปิดในอาคารนี้ มีคนใช้บริการวันละ 3-5 คน ผมก็ขาดทุนไป ก็ต้องรอให้มีสายการบินทรานซิสเข้ามาใช้บริการเพิ่ม ขณะที่เลาจน์ในสนามบินในส่วนอื่นๆของสนามบิน ก็พอไปแล้ว

เปิดอาณาจักรมิราเคิล กรุ๊ป “อัศวิน อิงคะกุล” ต่อยอดโรงแรมสู่ธุรกิจสนามบิน

การทำธุรกิจของผมถ้าการลงทุนมองแต่เรื่องขาดทุนหรือกำไรเป็นหลัก หลายโครงการก็ไม่ได้เกิด อย่าง อาหารในสนามบินผมขายจานละ 30-40-50 บาท บางทีเราก็จ่ายหน้ามืดเลย บางทีก็ขาดทุนซะชินเลย แต่ด้วยเรามีหลากหลายธุรกิจ รวมๆกัน ทำให้ทุกธุรกิจก็ถือว่าพออยู่ได้ และผมเป็นคนไม่ยอมแพ้ จึงสามารถสร้างมิราเคิล กรุ๊ป จนอยู่ได้อย่างมั่นคงถึงทุกวันนี้