วันนี้(วันที่ 21 สิงหาคม 2567) กรมท่าอากาศยานร่วมกับจังหวัดตรัง โดยมีนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธาน และผู้แทนกรมท่าอากาศยาน ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ผู้แทนบริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด และผู้แทนบริษัท เดฟินิท เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด ร่วมแถลงชี้แจงกรณีอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง
ภายหลังจากที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวลงสื่อออนไลน์เป็นวงกว้าง และมีข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งกรมท่าอากาศยานขอเรียนชี้แจง ดังนี้
สำหรับท่าอากาศยานตรัง มีโครงการพัฒนารวมทั้งสิ้นจำนวน 4 โครงการ คือ
โดยโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง เป็นการก่อสร้างอาคารพื้นที่ขนาด 30,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คน/ชั่วโมง หรือ 3.4 ล้านคน/ปี สะพานเทียบเครื่องบิน 2 ชุด ลานจอดรถยนต์ 1,000 คัน และสิ่งอำนวยความสะดวกประกอบอาคารอื่น ๆ
เช่น ลิฟต์โดยสาร บันไดเลื่อน สายพานลำเลียงสัมภาระ สะพานเทียบเครื่องบิน เป็นต้น เดิมคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้งานได้ภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567
แต่เนื่องจากผู้รับจ้างงานก่อสร้างขาดสภาพคล่อง ทำให้ประสบปัญหาไม่สามารถส่งมอบงานตามกำหนดของสัญญาได้ และไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ทำให้ขาดการดูแลระบบระบายน้ำเกิดการอุดตัน
ส่งผลให้น้ำไหลลงมาที่ฝ้าเกิดการชำรุดเสียหาย ซึ่งกรมท่าอากาศยานได้แจ้งผู้รับจ้างถึงเงื่อนไขตามกฎหมาย และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างได้มีการติดตามถึงกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมติดตามเร่งรัดงานจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ท่าอากาศยานตรัง ณ กรมท่าอากาศยาน มีผู้เข้าร่วมประชุมคือ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุฯ ผู้ให้บริการควบคุมงาน ผู้รับจ้าง ซึ่งผู้รับจ้างได้รับทราบเงื่อนไขตามสัญญา
ตามที่คณะกรรมการแจ้งให้ทราบ ซึ่งยังแสดงความประสงค์ที่จะทำงานส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จ โดยให้ดำเนินการจัดทำแผนการทำงานส่วนที่เหลือ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา
ปัจจุบันผู้รับจ้างอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้เกี่ยวข้อง คือ ธนาคารเจ้าของหลักประกันสัญญา ผู้ขายสินค้า อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทดสอบระบบ เก็บงานส่วนที่เหลือ ตลอดจนซ่อมแซมงานที่มีความชำรุด ให้แล้วเสร็จ
ทั้งนี้เพื่อเร่งให้สามารถเปิดใช้งานอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ให้ประชาชนได้ใช้บริการโดยเร็วที่สุดต่อไป ปัจจุบันท่าอากาศยานตรังสามารถบริหารจัดการเพื่อให้บริการผู้โดยสาร และเที่ยวบินได้ตามปกติ