ความคืบหน้าการก่อสร้างขยายท่าอากาศยานนานาชาติตรัง เมื่อเร็วๆนี้สมาชิกจากสมาคมท่องเที่ยวและโรงแรมจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม กว่า 30 คนได้เข้าเยี่ยมชมอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง โดยมีตัวแทนฝ่ายผู้รับจ้างบริษัท พอร์ตแอนมารีน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าว พร้อมด้วยตัวแทนของบริษัทที่ปรึกษา ได้มาบรรยายสภาพอาคารและความคืบหน้าในการก่อสร้าง อาคารหลังใหม่ มูลค่า 1,070ล้านบาท
สำหรับอาคารพักผู้โดยสารหลังใหม่ แยกเป็น 2ส่วน บริการผู้โดยสารในประเทศและผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศ มีสะพานเทียบเครื่องบินจำนวน 2 ตัว อาคารมี 2 ชั้น ภายในใช้บันไดเลื่อน รองรับผู้โดยสารได้ 1,200คนต่อชั่วโมง ผู้โดยสารขาเข้า 600คน ผู้โดยสารขาออก 600คน ปีละ 4,000,000.คน มีห้องน้ำ 10โซล มีลานจอดรถยนต์จำนวน 1,100คัน มีกล้องวงจรปิดหรือ CCTV จำนวน 220ตัว
สำหรับภายในในอาคารหลังใหม่จะมีพื้นที่ให้บริการ แก่ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการภายในอาคารหลังใหม่อย่างพร้อมเพรียง มีพื้นที่ร้านค้า จำหน่ายอาหาร ของฝาก แยกเป็นส่วน ๆ เพื่อง่ายต่อการเข้าใช้บริการ ในส่วนของผู้โดยสารระหว่างประเทศจะมีด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ด่านกักกันพื้นโรคและสัตว์และด่านตรวจสุขภาพของผู้โดยสารทั่วไป อาคารที่พักผู้โดยสารอาคารหลังใหม่พร้อมลานจอดเครื่องบิน อยู่ฝั่งตรงข้ามกับอาคารปัจจุบัน เป็นอาคารเก่าคับแคบ ไม่มีสะพานเทียบเครื่องบิน เครื่องบินจอดได้ 3 ลำเท่านั้น ทางวิ่งเครื่องบินหรือรันเวย์ยาว 2,100เมตรเท่านั้น
ส่วนอาคารและลานจอดเครื่องบินหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ ชั่วโมงละ 1,200คน ปีละ 4,000,000 คน รองรับเครื่องบินระหว่างประเทศและในประเทศ เครื่องบินจอดพร้อมกันได้ 10 ลำ แบบโบอิ้ง 737-800 และแอร์บัส 320-200 มีสะพานเทียบเครื่องบินจำนวน 2 ตัว จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางยิ่งขึ้นโดยเฉพาะช่วงหน้าฝนหรือช่วงที่มีแดดร้อน อาคารมีการออกแบบให้สามารถติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบินได้ 4 ตัว ในโครงการและงบประมาณที่ผ่านมาจัดให้มีจำนวน 2 ตัว
ทั้งนี้ ทางผู้รับจ้างคาดว่าจะส่งมอบอาคารหลังใหม่ ให้กับกรมท่าอากาศยานได้ประมาณสิ้นเดือนเมษายน 2567 นี้ หลังจากนั้นสำนักงานการบินพลเรือนกรมท่าอากาศยานจะต้องเข้ามาทดสอบระบบต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมในการใช้งานและตรวจรับและให้ สำนักงานการบินพลเรือนประกาศเปิดใช้อาคารใหม่ และลานจอดเครื่องบินใช้ได้พร้อมกันในช่วงเดือนกันยายน 2567 นี้
สำหรับท่าอากาศยานตรังได้รับงบประมาณแผ่นดินรวม 4,800 ล้านบาท โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มาตรวจโครงการขุดคลองลัดแม่น้ำตรัง พื้นที่ ต.บางรัก อ.เมืองตรัง จังหวัดตรังและเยี่ยมประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ลงเครื่องบินสนามบินตรังพบสภาพสนามบินตรังเก่า คับแคบ เสื่อมโทรม ไม่มีการพัฒนาใด ๆ
ดังนั้นจึงมอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยไพศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ลงมาตรวจราชการสนามบินตรังและหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม รมว.คมนาคมจึงจัดงบมาเพื่อพัฒนาสนามบินตรัง งบประมาณก้อนแรก จำนวน 2,000 ล้านบาทสำหรับสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่งบประมาณ 1,200ล้าน และ 800ล้านบาท เป็นงบสำหรับสร้างหลุดจอดหรือลานจอดอากาศยานจำนวน 10 ลำ
จากนั้นรัฐบาล พลเอกประยุทธ ให้งบผูกพัน ขยายทางขับ ทางวิ่งยาว 2,990เมตร กว้าง 45 เมตร พร้อมเครื่องนำร่องการบิน ไฟสัญญาณ โดยปลายทางวิ่งทิศตะวันตกอยู่เหนือ เส้นทางรถไฟสายตรัง ทุ่งสง-กันตัง ขบวนรถไฟวิ่งลอดใต้ทางวิ่งเรื่องบินเป็นลักษณะอุโมงค์ยาว 300เมตร งบสร้างทางวิ่ง อีก 1,800.ล้านบาทและงบค่าเวนคืนที่ดินอาสินของประชาชนอีกประมาณ 800 ล้านบาท
ก่อนการระบาดโรคโควิด-19 มีผู้ประกอบการนำเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสายการบิน หลายคณะ เช่น จีนแผ่นดินใหญ่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ได้มาติดต่อสอบถามศักยภาพท่าอากาศยานตรัง ที่จะนำนักท่องเที่ยวบินมาเที่ยวจังหวัดตรัง แต่ก็ต้องยกเลิกไปเพราะ ความไม่พร้อมของสนามบิน คือ อาคารที่พักผู้โดยสาร เที่ยวบินระหว่างประเทศและในประเทศ ทางวิ่งเครื่องบินสั้น ไม่มีเครื่องนำร่องการบินที่ทัยสมัย ไม่มีสถานีบริการนำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน
นางจงกลณี อุตสาหะ นายกสมาคมการท่องเที่ยวและโรงแรมตรัง เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่าจากการบรรยายสรุปของเจ้าหน้าที่ฝ่ายผู้รับจ้างและบริษัทที่ปรึกษาทราบว่าอาคารการก่อสร้างมีความคืบหน้าก่อสร้างไปแล้ว 98% อาคารใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่ท่าอากาศยานจังหวัดตรัง สมาชิกสมาคมการท่องเที่ยวและโรงแรมจังหวัดตรัง ได้มาเยี่ยมชมอาคารและภูมิใจภูมิใจแทนคนจังหวัดตรังเป็นอย่างมากที่เราจะได้อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่สนามบิน เราพร้อมทุกด้านเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับจังหวัดตรังเชื่อแน่ว่าผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวจะร้อง " ว้าว" เพราะเป็นสนามบินนานาชาติ
ส่วนสะพานเทียบเครื่องบินนี้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวรอมานาน เพราะในช่วงหน้าฝนเมื่อลงหรือขึ้นเครื่องก็จะมีลมและฝนค่อนข้างลำบากที่ผ่านมา เมื่อมีสะพานเทียบเครื่องบินแล้วผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวก็จะได้รับความสะดวกสบาย สิ้นเดือนเมษายนนี้ ผู้รับจ้างจะส่งมอบอาคารให้กับกรมท่าอากาศยาน และสำนักงานการบินพลเรือนที่จะตรวจสอบระบบ ก่อนประกาศเปิดใช้สนามบินแต่ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน
ขณะเที่ยวบินระหว่างประเทศ จะมีเครื่องเช่าเหมาลำหรือชาร์เตอร์ไพลท์เข้ามาบินหรือเดลี่ไฟลท์บินเข้ามาช่วงไหนก็ต้องรอดู ส่วนความยาวทางวิ่งหรือรันเวย์ ที่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมเท่าที่ทราบยังมีการเวนคืนเรื่องที่ดินยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นยังต้องใช้เวลาอีกกว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ต่อจากนี้เราจะต้องทำงานร่วมกับ ททท.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและท่องเที่ยวและกีฬามากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว ช่วงเดือนเมษายนช่วงเทศกาลเช็งเม้งและเทศกาลสงกรานต์ มีวันหยุดยาว นักท่องเที่ยวจะต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 85% จะเห็นนักท่องเที่ยวในท่าเรือและบนเกาะชายหาด ที่เข้ามาท่องเที่ยวกันแต่อาจจะไม่เห็นนักท่องเที่ยวในตัวเมืองตรัง
ส่วนเรื่องของตัวเครื่องบินแพงช่วงเดือน มีนาคม เมษายน พฤษภาคมนั้น เช่นที่สนามภูเก็ตเครื่องบินเต็มทุกเที่ยวบิน นักท่องเที่ยวไม่สามารถบินจากภูเก็ตเข้ากรุงเทพได้ มีนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งนั่งรถยนต์จากภูเก็ตมาขึ้นเครื่องบินที่ตรัง ตั๋วเครื่องบินขายดีก็เลยทำให้ไม่มีการปรับขึ้นราคา
ทางด้านนายสมชาย สุธรรม วิศวกร ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจว่า ความคืบหน้าก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ คืบหน้า98% ในอาคารจะมีการตรวจสอบระบบอัตโนมัติ เช่นการตรวจจับความร้อนหรือควันเพื่อป้องกันเพลิงไหม้ อีกทั้งระบบปรับอากาศจะเป็นระบบอัตโนมัติเครื่องจะตรวจวัดอุณหภูมิและประหยัดพลังงานไฟฟ้า ให้เครื่องปรับอากาศทำงานลดน้อยลง เมื่อความเย็นได้ระดับ
สำหรับสะพานเทียบเครื่องบินในโครงการนี้มีด้วยกัน 2 ตัวตอนนี้สะพานมาครบแล้วได้มีการติดตั้งและทดสอบระบบอยู่เพื่อดูการหมุนของล้อ การยืดตัวของสะพานโดยอาคารนี้มีการออกแบบเพื่อให้สามารถติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบินได้จำนวน 4 ตัว โดยในโครงการและสัญญานี้ติดตั้ง 2 ตัว ลานจอดเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 และ 320-200 จอด ได้พร้อมกันจำนวน 10 ลำ หากเครื่องบินมาจอดเต็มและสะพานเทียบเครื่องบินไม่เพียงพอ ก็จะให้ผู้โดยสารใช้ประตูบัสเกต ซึ่งนำผู้โดยสารขึ้นรถบัสไปส่งยังเครื่องบินที่รออยู่ อาคารผู้โดยสารหลังใหม่จะส่งมอบได้สิ้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้กรมท่าอากาศยานมาทดสอบระบบในเบื้องต้น
ต่อจากนั้นสำนักงานการบินพลเรือนก็จะมาทดสอบระบบอีกครั้ง เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อยทั้งหมดสำนักงานการบินพลเรือนก็จะประกาศให้เปิดใช้อาคารและลานจอดเครื่องบินใหม่ได้ พื้นที่ที่มีความสำคัญคือพื้นที่แอร์ไซด์คือบริเวณลานจอดอากาศยานหรือเครื่องบิน ซึ่งจะต้องมีความพร้อมด้านความปลอดภัย ซึ่งอาคารนี้จะใช้ได้จริงต้องประมาณสิ้นเดือนกันยายน 2567 ได้เปิดใช้อย่างแน่นอน
นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผย ราคาตั๋วเครื่องบินโลว์คอสต์แพง เช่นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสาร ซึ่งในช่วงหน้าร้อน นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวทะเลภาคใต้และจังหวัดตรัง อาจจะมีความคิดไม่มาเที่ยว หันไปเที่ยวต่างประเทศแทน หากจะมาเที่ยวทะเลจริงๆ ก็จะขับรถยนต์ส่วนตัวมาเที่ยวมากกว่านั่งเครื่องบิน สายการบินก็เสียลูกค้าไป ตั๋วเครื่องบินราคาแพงส่งผลกระทบทุกกลุ่มที่โดยสารเครื่องบิน ทั้งนักท่องเที่ยว กลุ่มการค้า อุตสาหกรรมและอื่น ๆ ตั๋วราคาส่งผลกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบินเอง จะให้การท่องเที่ยวตรังเกิดสายการบินต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3984 วันที่ 18 –20 เมษายน พ.ศ. 2567