CAAT เตรียมออกกฏบังคับสายการบินออกจากไทย ต้องใช้เชื้อเพลิง SAF 1% ในปี 2569

07 ต.ค. 2567 | 21:04 น.

CAAT เตรียมประกาศแผนบังคับใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF โดยจะออกข้อกำหนดให้สายการบินที่ทำการบินออกจากประเทศไทย ต้องใช้เชื้อเพลิง SAF คิดเป็นสัดส่วน 1% ในปี 2569 และค่อยๆ เพิ่มเป็น 3-5% ในปีถัดไป ข้บเคลื่อนการบินยั่งยืน

อุตสาหกรรมการบินของโลก มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นสัดส่วนประมาณ 2-2.5% ของโลก และตั้งแต่ปี 2533-2562 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2.3% ต่อปี กระทั่งเกิดวิกฤติโควิด 19 ส่งผลให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก ทำให้มีการปล่อย CO2 จากภาคการบินลดลงไปด้วย 

ในปี 2562 ปล่อยสูงสุดมากกว่า 1 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และในปี 2563 ลดลงมาเป็น 600 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ในปี 2564 กลับมาเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 720 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกินระดับที่ปลดปล่อยสูงสุดเมื่อปี 2562ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดว่า ในปี 2593 อุตสาหกรรมการบินของโลกจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เติบโต 3 เท่าจากที่ปล่อยในปีนี้ ดังนั้น เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ที่วางแผนให้ภาคพลังงานทั่วโลกปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) 

ICAO จึงจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การบินหว่างประเทศ ไม่ให้เกินระดับที่เคยปล่อยในปี 2562 และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593

เป้าหมาย netzero ของไทย

 

ปัจจุบันมีประเทศที่ประกาศมาตรการบังคับใช้ SAF แล้ว ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นต้น โดยในปี 2568 อียูยังออกมาตรการว่า สายการบินที่บินเข้ายุโรปต้องใช้น้ำมัน SAF ราว 3% และเพิ่มเป็น 15% ในสเต็ปต่อไป และจะปรับสัดส่วนเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2593 

ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ออกประกาศว่าเครื่องบินขาออกทั้งหมด จะใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ตั้งแต่ปี 2569 โดยสิงคโปร์ตั้งเป้าใช้เชื้อเพลิง SAF คิดเป็น 1% ของเชื้อเพลิงเครื่องบินทั้งหมดที่ใช้ที่สนามบินชางงี และสนามบินเซเลตาร์ภายในปีดังกล่าว และเพิ่มเป็น 3-5% ภายในปี 2573

สำหรับในประเทศไทยล่าสุดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมออกกฏให้สายการบินที่ทำการบินออกจากประเทศไทย ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF เริ่มต้นในสัดส่วน 1% ในปี 2569 และค่อยๆ เพิ่มเป็น 3-5% ในปีถัดไป ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่เคยจะเป้าให้สายการบินเติม SAF สัดส่วน 2% ภายในระยะเวลา 3 ปี

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT กล่าวว่า CAAT เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินไทยสู่ความยั่งยืน ด้วยการประกาศแผนบังคับใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) สำหรับสายการบินที่ทำการบินออกจากประเทศไทย 

สุทธิพงษ์ คงพูล

ปัจจุบัน CAAT กำลังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน ทำงานร่วมกันเพื่อศึกษาความเป็นไปและกำหนดแนวทางการใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของ SAF มาใช้ในภาคการบินอย่างเป็นรูปธรรม

โดย CAAT จะออกกฏหมาย กำหนดให้สายการบินที่ทำการบินออกจากไทย ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF เริ่มต้นในสัดส่วน 1% ในปี 2569 และค่อยๆ เพิ่มเป็น 3-5% ในปีถัดไป อย่างไรก็ดีในช่วงแรกที่มีการวางแผนจะลดการใช้เชื้อเพลิง SAF ความท้าทายหลัก ๆ คือการเพิ่มต้นทุนในการใช้ SAF อาจจะต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้สายการบินสามารถปรับตัวและรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ SAF ถือเป็นการเพิ่มต้นทุน อาจจะเพิ่มได้หากว่ามีการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องนี้ ปัจจุบันมีการหารือกันหลายมิติมาก เพราะฉะนั้นต่อไปจะบังคับว่าสายการบินต้องใช้น้ำมันเท่าไหร่ก็จะมาจากการตกผลึกเรื่องพวกนี้ แต่ตอนนี้ตัวเลขแรกเราคงใช้สัดส่วน 1% ไปก่อน”

รวมถึงยังจะต้องมีการหารือถึงการพัฒนาความสามารถในการผลิต SAF จะต้องมีการพัฒนาให้เพียงพอเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะต้องมีการพิจารณาถึงราคาที่เหมาะสมและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโรดแมปนี้จะต้องมีการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ เพื่อให้สามารถก้าวทันการพัฒนาในระดับสากลได้

การใช้ SAF นับเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดย SAF ผลิตจากวัตถุดิบที่ยั่งยืน เช่น น้ำมันพืช น้ำมันใช้แล้ว และขยะชีวมวล ซึ่งเมื่อนำมาเผาไหม้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียม

การผลักดันให้เกิดการใช้ SAF ในวงกว้าง จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ SAF นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มกำลังการผลิต SAF เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคการบิน

..ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (บาฟส์) กล่าวว่า วันนี้เอกชนมองเห็นโอกาส สายการบินก็มีความต้องการใช้ SAF แต่ที่ยังขาดอยู่ คือ นโยบายภาครัฐ เพราะ SAF เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นโมเดลความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ คือ การตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้ว กับการตั้งคณะกรรมการยานยนต์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ

“การตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อทำให้นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน มีการนำทุกภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่ง SAF จะเป็นโปรดักซ์แชมป์เปี้ยนของไทย วันนี้เป็นจุดเปลี่ยน ถ้าไม่ทำอะไร อีก 10 ปีไม่ทัน สุดท้ายก็ต้องซื้อจากต่างชาติ จึงต้องมีความร่วมมือเกิดขึ้นในทุกฟันเฟือง”

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์สจะนำร่องเริ่มใช้น้ำมัน SAF ที่สัดส่วน 1% ของการใช้น้ำมันทั้งหมดในปี 2569 ซึ่งอยู่ที่ความพร้อมของฝั่งซัพพลายเออร์ด้วย โดยปัจจุบันเฉลี่ยใช้ 10 ล้านลิตรต่อเดือน ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นสัดส่วนที่หนักหนามากมาย ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ก่อนจะทยอยเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นตามลำดับในอนาคต

CAAT เตรียมออกกฏบังคับสายการบินออกจากไทย ต้องใช้เชื้อเพลิง SAF 1% ในปี 2569

ทั้งนี้ แม้ราคาน้ำมัน SAF จะแพงกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับน้ำมันเครื่องบิน Jet A1 แต่เรามีคาร์บอนเครดิตหักล้างเกิดผลบวกก็ทำไม่ได้กระทบต่อราคาตั๋วเครื่องบินมากมายขนาดนั้น เพราะถ้าคิดจากต้นทุนจริงๆอาจต้องปรับราคาตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้นหลัก 500 บาทต่อเที่ยวบิน แต่เราก็ยังไม่ได้ขึ้นราคาตั๋วเครื่องบิน เพราะต้องดูสภาพตลาดด้วย และหากไทยผลิต SAF ได้ สายการบินก็จะมีต้นทุนในส่วนนี้ลดลง

สำหรับข้อกำหนดของภาครัฐที่เตรียมประกาศบังคับใช้ในปี 2569 ให้สายการบินต้องเพิ่มสัดส่วนใช้น้ำมัน SAF  1% คงต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันดังกล่างเป็นต้นทุนที่แพงกว่าเชื้อเพลิงปกติ 3 เท่า 

ดังนั้นการทยอยเอามาเป็นส่วนผสมเล็กน้อย ถือเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้บริหารจัดการต้นทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ดี ในฐานะภาคเอกชนยังคงหวังว่าภาครัฐจะมีแนวทางทำให้ต้นทุนเหล่านี้ปรับลดลงได้ ไม่ว่าจะเกิดจากวิธีลดต้นทุนการผลิต หรือภาครัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุนต้นทุน เพื่อทำให้สายการบินเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมายต่อไปได้

ขณะที่ในส่วนของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ก็ได้เริ่มมองเห็นโอกาสในการผลิต SAF เช่นกัน เพื่อรองรับการใช้เชื้อเพลิง SAF ของสายการบินที่จะเกิดขึ้น

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. กล่าวว่า ปัจจุบัน AOT ได้ตั้งบริษัทลูก ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยาน พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด หรือ AEA โดยเป็นการร่วมลงทุนกับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ดำเนินกิจการแทงค์ฟาร์ม และระบบการผสมเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ทั้งนี้เพื่อผลิตและจัดให้มีเชื้อเพลิงอากาศยานที่ เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจากวัตถุดิบชีวมวล (Sustainable Aviation Fuel: SAF) สำหรับเติมน้ำมันอากาศยานให้แก่สายการบิน ที่บินออกจากประเทศไทย AOT ถือหุ้น 25% เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบในการลงทุนราว 3,000 ล้านบาท ตั้งเป้าศูนย์การผลิต SAF และการจำหน่าย เพื่อใช้ในภูมิภาคนี้ 

การลงทุนของ AOT ในบริษัท AEA เราจะดูแลเรื่องการลงทุนแทงค์ฟาร์ม และระบบการผสมเชื้อเพลิง SAF เพื่อผสมเชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วน 1% 2% หรือ 3% ตามที่สายการบินต้องการ ส่วนพาร์เนอร์ จะดูเรื่องของการผลิตน้ำมัน SAF เป็นหลัก ซึ่งสายการบินพร้อมจะเติม SAF แต่ปัญหาคือไทยยังไม่มีบริการนี้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 

ประกอบกับต่อไปประเทศไทยจะออกมาตรการให้สายการบินใช้เชื้อเพลิง SAF จึงต้องมีความพร้อมในการรองรับมาตรการนี้ด้วย ขณะเดียวกันยังเป็น Next S-Curve สําหรับการลงทุนใหม่ใหม่ของ AOT ด้วยในอนาคต

นอกจากนี้ AOT ยังจะให้ความร่วมมือกับบริษัทปิโตเคมีชั้นนำ ทั้ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เพื่อทําการวิจัยในการปลูก และผลิต SAF ด้วย โดย AOT มีเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี AOT จะมีน้ำมัน SAF มาให้บริการอากาศยานที่ออกจากประเทศไทย 

ทั้งหมดล้วนเป็นการเตรียมพร้อมในการรองรับกฏกติกาของโลกที่เกิดขึ้น แม้ไทยอาจจะมาช้ากว่าประเทศอื่น แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา เพราะถ้าประเทศอื่นใช้มาตรการบังคับให้สายการบินต้องเติม SAF แต่ไทยไม่มี ก็จะทำให้เกิดการกีดกันการค้าในอนาคตได้เช่นกัน

หน้า 10 ฉบับที่ 4,034 วันที่ 10 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2567