AOT ร่วมทุน EA ผลิต SAF กพท.จ่อออกกฎสายการบิน ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ 2%

29 ก.ย. 2567 | 21:31 น.

AOT ร่วมทุน EA ตั้งบริษัท ท่าอากาศยาน พลังงานบริสุทธิ์ ปูทางสู่กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF เร่งศึกษารูปแบบการลงทุนแทงค์ฟาร์ม ระบบการผสมเชื้อเพลิง SAF ลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท ด้านกพท.จ่อออกกฎสายการบิน ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ 2% ใน 3 ปี

AOT ร่วมทุน EA ตั้งบริษัท ท่าอากาศยาน พลังงานบริสุทธิ์ ปูทางสู่กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF เร่งศึกษารูปแบบการลงทุนแทงค์ฟาร์ม ระบบการผสมเชื้อเพลิง SAF ลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท ล่าสุดบาฟส์ แสดงความสนใจลงทุน ดันไทยเป็นศูนย์การผลิตและการจำหน่าย เพื่อใช้ในภูมิภาคนี้ พร้อมรองรับกพท.เตรียมออกกฏสายการบินออกจากไทยต้องใช้น้ำมัน SAF 2% ใน 3 ปี

เมื่ออุตสาหกรรมการบินโลก กำลังวางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้กำหนดเป้าหมายให้เชื้อเพลิงของเครื่องบิน จะต้องมีเชื้อเพลิง SAF ผสม 2% ในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปี 2573 และ 37% ในปี 2583 และ 85% ในปี 2593

ทำให้หลายประเทศมีมาตรการกำหนดให้สายการบินใช้เชื้อเพลิง SAF แล้ว AOT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสนามบิน ก็จำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือ รวมถึงมองโอกาสในการลงทุน

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบัน AOT ได้ตั้งบริษัทลูก ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยาน พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด หรือ AEA โดยเป็นการร่วมลงทุนกับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ดำเนินกิจการแทงค์ฟาร์ม และระบบการผสมเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน

ทั้งนี้เพื่อผลิตและจัดให้มีเชื้อเพลิงอากาศยานที่ เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจากวัตถุดิบชีวมวล (Sustainable Aviation Fuel: SAF) สำหรับเติมน้ำมันอากาศยานให้แก่สายการบิน ที่บินออกจากประเทศไทย AOT ถือหุ้น 25% เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบในการลงทุนราว 3,000 ล้านบาท ตั้งเป้าศูนย์การผลิต SAF และการจำหน่าย เพื่อใช้ในภูมิภาคนี้ 

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ปัจจุบันบริษัท AEA เปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EV charging station ชาร์ตรถแท็กซี่ EV และในส่วนของ airside ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มี 3 จุดที่ให้บริการ คือ

  1. อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 เป็นที่ชารจ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป
  2. TBT คือ ที่ชารจ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป
  3. คองคอร์ส B ที่ชารจ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป

ทั้งเตรียมขยายการให้บริการไปยังสนามบินให้ครบทั้ง 6 แห่งของ AOT ส่วนการจัดทำแทงค์ฟาร์ม และผลิตเชื้อเพลิง SAF ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทุกรูปแบบการลงทุนที่เป็นไปได้ คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือนจึงจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ

ล่าสุดบริษัท บริการ เชื้อเพลิง การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบาฟส์ ซึ่งเป็นเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันสู่อากาศยานในปัจจุบัน ก็แสดงความสนใจที่จะร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน 

นอกจากนั้น AOT ยังจะให้ความร่วมมือกับบริษัทปิโตเคมีชั้นนำ ทั้ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เพื่อทําการวิจัยในการปลูก และผลิต SAF ด้วย โดย AOT มีเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี AOT จะมีน้ำมัน SAF มาให้บริการอากาศยานที่ออกจากประเทศไทย

การลงทุนของ AOT ในบริษัท AEA เราจะดูแลเรื่องการลงทุนแทงค์ฟาร์ม และระบบการผสมเชื้อเพลิง SAF เพื่อผสมเชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วน 1% 2% หรือ 3% ตามที่สายการบินต้องการ ส่วนพาร์เนอร์ จะดูเรื่องของการผลิตน้ำมัน SAF เป็นหลัก

โดยสายการบินพร้อมจะเติม SAF แต่ปัญหาคือไทยยังไม่มีบริการนี้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ประกอบกับต่อไปประเทศไทยจะออกมาตรการให้สายการบินใช้เชื้อเพลิง SAF จึงต้องมีความพร้อมในการรองรับมาตรการนี้ด้วย ขณะเดียวกันยังเป็น Next S-Curve สําหรับการลงทุนใหม่ใหม่ของ AOT ด้วยในอนาคต

นายกีรติ ยังกล่าวต่อว่า ในขณะนี้รัฐมีนโยบายชัดเจนเรื่องมาตรการการใช้น้ำมัน SAF ในไทยแล้ว โดยจะกำหนดให้สายการบินที่ทำการบินออกจากประเทศไทย สำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศ ต้องใช้เชื้อเพลิง SAF คิดเป็นสัดส่วน 2% ภายใน 3 ปี

โดยทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.จะก็กำลังเตรียมการในการออกกฏเพื่อให้สายการบินต่างๆดำเนินการ ซึ่งก็จะเหมือนกับอีกหลายประเทศ ที่กำหนดให้สายการบินต้องใช้น้ำมัน SAF

AOT ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพราะในเรื่องของการให้บริการท่าอากาศยาน ไม่ใช่แค่ประเทศไทยทําประเทศเดียว เราเป็นส่วนหนึ่งของ Network ที่เชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก หากเราไม่ตระหนักในเรื่องของ Net Zero วันนึงที่ท่าอากาศยานอื่นเริ่มเก็บค่าใช้จ่ายทางเชิงภาษีกับอากาศยานที่จะบินมาประเทศไทย เพราะบอกว่าเราไม่ให้ความสําคัญในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก

ฉะนั้นวันนี้หาก AOT ไม่รีบดำเนินการ จะเสียโอกาสในด้านต่างๆ ทำให้องค์กรขาดขีดความสามารถในการที่จะเป็น player ในต่างประเทศได้ นายกีรติ กล่าวทิ้งท้าย 

ปัจจุบันมีประเทศที่ประกาศมาตรการบังคับใช้ SAF แล้ว ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นต้น โดยในปี 2568 อียูยังออกมาตรการว่า สายการบินที่บินเข้ายุโรปต้องใช้น้ำมัน SAF ราว 3% และเพิ่มเป็น 15% ในสเต็ปต่อไป และจะปรับสัดส่วนเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2593

ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ออกประกาศว่าเครื่องบินขาออกทั้งหมด จะใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ตั้งแต่ปี 2569 โดยสิงคโปร์ตั้งเป้าใช้เชื้อเพลิง SAF คิดเป็น 1% ของเชื้อเพลิงเครื่องบินทั้งหมดที่ใช้ที่สนามบินชางงี และสนามบินเซเลตาร์ภายในปีดังกล่าว และเพิ่มเป็น 3-5% ภายในปี 2573