วันนี้(วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลัง
การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) แนวทางความร่วมมือหน่วยงานด้านการบิน เพื่อบรรลุสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถระบบขนส่งทางอากาศของประเทศให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สอดคล้องกับที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) คาดการณ์ไว้ว่า ภายหลังสถานการณ์ COVID ฟื้นตัว อุตสาหกรรมการบินของไทยจะเติบโตเป็นอันดับ 9 ของโลก ผู้โดยสารจะเติบโตถึง 200 ล้านคนต่อปี ในปี 2574
กระทรวงคมนาคมพร้อมผลักดันนโยบายสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศของประเทศ จึงมีแนวคิดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ระหว่างหน่วยงานด้านการบินในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานร่วมกันเสนอข้อคิดเห็น แนวทางการพัฒนาศักยภาพด้านการบิน
ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงาน เพื่อยกระดับการเดินทางและการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคในอนาคต
ทั้งนี้ ในการ Workshop ได้มีการหารือประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างหน่วยงานด้านการบินในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานภายนอก อาทิ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ด้านหลักสูตรและการขับเคลื่อนงานวิชาการอื่น ๆ
รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาด้านมาตรฐานสนามบิน ด้านค่าบริการ ค่าภาระ ค่าตอบแทน และโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน การแก้ไขปัญหาด้านกฎหมายและการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับดูแลสนามบิน และการแก้ไขปัญหาการออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบิน
นางมนพร กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตบุคลากรด้านการบินพิจารณาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับกฎหมาย และร่วมกับหน่วยงานด้านการบินในการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรให้มีความครบถ้วน ครอบคลุม ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) จัดทำแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการบินทางอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane Operations ทั้งด้านแผนงาน โครงการ อุปกรณ์ และสถานที่ โดยเฉพาะด้านบุคลากรที่ต้องเตรียมความพร้อมด้านหลักสูตรที่เกี่ยวกับการบินน้ำ เพื่อผลักดันให้ Seaplane Operations เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทยโดยเร็ว
เพราะไม่เป็นเพียงการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ด้านการช่วยเหลือสนับสนุนทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการบรรเทาภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วด้วย
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานประสานงานด้านการบิน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและให้การประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มการบูรณาการข้อมูลแผนการพัฒนาและการดำเนินงานต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้น
เช่น การแจ้งข้อมูลการปิดซ่อมหรือการก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า เพื่อให้สามารถวางแผนการรองรับได้ทันท่วงที ซึ่งจะส่งผลต่อความตรงต่อเวลา ความล่าช้าของเที่ยวบิน สภาพคล่องของการจราจรทางอากาศ และความเชื่อมั่นในการเป็นศูนย์กลางการบินของประเทศ