การท่องเที่ยวไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นช่วงไฮซีซันนี้ ประกอบกับเครื่องบินมีไม่เพียงพอต่อการรองรับความต้องการในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตั๋วเครื่องบินมีราคาสูง ส่งผลให้ครม.ไฟเขียวสายการบินของไทยสามารถจัดหาเครื่องบินแบบ Wet Lease (เครื่องบินรวมนักบินต่างชาติ) เป็นการชั่วคราว เพื่อนำมาทำการบินเส้นทางบินในประเทศได้ แม้สมาคมนักบินไทย จะคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด
จุดเริ่มต้นการอนุมัติให้นักบินต่างชาติ เข้ามาทำการบินเส้นทางบินในประเทศ เป็นการชั่วคราว ทั้งๆที่นักบินเป็นอาชีพสงวนของคนไทย เกิดจากสายการบิน “ไทยเวียตเจ็ท” มีความต้องการที่จะเช่า เครื่องบินแบบ Wet Lease (เครื่องบินรวมนักบินต่างชาติ) เป็นการชั่วคราว เพื่อนำมาทำการบินในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ จึงทำเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้มีการปลดล็อคข้อจำกัดนี้เป็นการชั่วคราว และได้ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้กระทรวงแรงงานมีมติอนุญาต และนำเรื่องเสนอครม.พิจารณา
ครม.จึงมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 อนุญาตให้สายการบินทำการจัดหาเครื่องบินแบบ Wet Lease เป็นการชั่วคราว โดยจะหมดสัญญาภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ซึ่งการอนุญาตในครั้งนี้ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 เมื่อปี 2562 จึงทำให้เครื่องบินของแต่ละสายการบิน มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้โดยสารที่ในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ขยายระยะเวลาบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เพิ่มจำนวนที่นั่งแล้วก็ตาม แต่ราคาตั๋วยังคงอยู่ในระดับสูง
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การอนุญาตให้สายการบินทำการจัดหาเครื่องบินแบบ Wet Lease เป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 1 ปีจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 จะเป็นการต่ออายุให้ครั้งละ 6 เดือน เป็นจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งในขณะนี้มีสายการบินไทยเวียตเจ็ท เพียงสายการบินเดียวที่ทำเรื่องนี้เข้ามา เนื่องจากเครื่องบินที่จะเช่าระยะยาว จะส่งมอบในปีหน้า ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งขับเคลื่อนการเดินทางเที่ยวในประเทศ แต่ก็มีปัญหาเที่ยวบินไม่เพียงพอ และตั๋วเครื่องบินมีราคาแพง
ทำให้กระทรวงคมนาคม จึงขอให้กระทรวงแรงงานผ่อนคลาย นักบินต่างชาติ ที่มาพร้อมเครื่องบินเช่าระยะสั้น สามารถทำการบินเส้นทางบินในประเทศได้ ซึ่งการมีเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินมีราคาถูกลง ช่วยบู้ธเรื่องการท่องเที่ยวได้ และหากสายการบินอื่นๆของไทยจะดำเนินการเหมือนไทยเวียตเจ็ทก็ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการยกเว้นให้ชั่วคราวในปีหน้า ส่วนปีถัดๆไปก็คงต้องพิจารณากันอีกครั้ง
ส่วนกรณีที่นักบินไทยส่วนหนึ่งยังมีปัญหาเรื่องการว่างงาน ขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้ประสานกับสายการบินต่างๆของต่างประเทศ ที่ทำการบินเส้นทางบินระหว่างประเทศ เจรจาให้สายการบินต่างๆรับสมัครนักบิน และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่เป็นคนไทย ซึ่งที่เจรจาจบแล้วมีหลายสายการบิน อาทิ คาเธ่ย์ แปซิฟิกของฮ่องกง บางสายการบินก็เริ่มมีการเซ็นสัญญาแล้วด้วย
จากมติครม.ดังกล่าว ส่งผลสายการบินไทยเวียตเจ็ท (เวียตเจ็ท ไทยแลนด์) จะนำเครื่องบินเช่าระยะสั้น แอร์บัส เอ 321 จำนวน 2 ลำ เข้ามาเปิดให้บริการในช่วงไฮซีซัน ที่จะเริ่มในเดือนธันวาคมนี้ ในเส้นทางบินเชียงใหม่ , เส้นทางบินภูเก็ต หลังจากได้วางมัดจำไปแล้วก่อนหน้านี้ เพิ่มจากฝูงบินในปัจจุบันที่มีอยู่ 18 ลำ
ไทยเวียตเจ็ท มองว่า การที่ต้องการนำเครื่องบินแบบ Wet Lease ซึ่งเป็นแพ็คเกจที่รวมนักบินต่างชาติมาใช้ เพราะเป็นช่องทางที่จะนำเครื่องบินเข้ามาทำการบินเส้นทางบินในประเทศได้เร็วที่สุด เนื่องจากในช่วงไฮซีซันของไทย ตรงกับฤดูหนาวของยุโรป ซึ่งหลายสายการบินในยุโรป ไม่ได้ใช้เครื่องในการทำการบินมากนัก ทางบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบิน (ลิซซิ่ง) จึงสามารถเปิดให้เช่าเครื่องบินเหล่านี้ได้ โดยมาเป็นแพ็คเกจรวมนักบิน จากนั้นพอในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป สายการบินเจ้าของเครื่องบินก็จะนำเครื่องบินกลับไปทำการบิน
ดังนั้นในช่วงนี้สายการบินจึงมองเป็นโอกาสในการเช่าเครื่องบินมาให้บริการในไทย แม้ราคาเช่าเครื่องบินระยะสั้นแบบ Wet Lease (เช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน) จะแพงกว่าการเช่าเครื่องบินระยะยาวที่ปกติจะเช่าแบบ Dry Lease (เช่าเฉพาะเครื่องบิน) เป็นเวลา 10 ปีก็ตาม แต่ทั้งนี้ด้วยการเช่าระยะสั้น สำหรับการนำนักบินต่างชาติมาบินในประเทศ ก็ติดข้อกม.ห้ามนักบินต่างชาติบินเส้นทางบินในประเทศ
สายการบินจึงได้ทำเรื่องไปยังกระทรวงแรงงานและกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้ยกเว้นชั่วคราว ซึ่งจริงๆสายการบินอยากจะเริ่มบินตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยครม.เพิ่งมีมติ ก็ทำให้สายการบินจะนำเครื่องบินมาให้บริการได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2567-มกราคม 2568 นี้ อันจะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในประเทศไป-กลับ เพิ่มได้อีก 10 เที่ยวบินต่อวัน
จากมติครม. ดังกล่าว ส่งผลให้สมาคมนักบินไทยมีความกังวลว่าอาจนำไปสู่การอนุญาตในลักษณะเดียวกันอย่างต่อเนื่องในอนาคต หากมีการอนุญาตให้นักบินต่างชาติเข้ามาทำการบินในประเทศเป็นระยะเวลา 6 เดือนในทุกปี อุตสาหกรรมการบินไทยจะต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กระทบการจ้างงานของนักบินไทย และบั่นทอนศักยภาพด้านการบินของประเทศในระดับภูมิภาคและที่ผ่านมาทางสมาคมนักบินไทย ก็มีความพยายามเรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างไร
กัปตัน ธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมนักบินไทย กล่าวว่า การเช่าเครื่องบินแบบ Wet Lease รวมนักบินต่างชาติ เพื่อนำมาใช้ทำการบินในช่วงไฮซีซันนี้ หากนำเครื่องบินไปใช้บินในเส้นทางระหว่างประเทศ ทางสมาคมก็ไม่ได้ขัดอะไร เพราะตามกฏหมายสามารถดำเนินการได้ อย่าง ปัจจุบันสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ก็เช่าเครื่องบินแอร์บัส 2 ลำ (Wet Lease) ระยะสั้น 6 เดือน ภายในปี 2567 นี้ โดยเริ่มทำการบินในเส้นทางบินระหว่างเดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางที่สูงขึ้นช่วงไฮซีซั่น
แต่สมาคมไม่เห็นด้วยที่จะยกเว้นให้นักบินต่างชาติ มาทำการบินเส้นทางบินในประเทศ ซึ่งสิ่งที่สมาคมนักบินไทย มีความกังวลจะมีใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่
1. ส่งผลให้นักบินต่างชาติเข้ามาแย่งนักบินไทยที่ว่างงานอยู่ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT หรือ กพท. พบว่าใน ปี 2566 นักบินในสายการบินพาณิชย์ของไทยมีจำนวน 3,024 คน มีนักบินพาณิชย์ที่มีประสบการณ์ที่ถูกให้ออกจากงานช่วงโควิด-19 กว่า 1,026 คน นักบินที่เรียนจบโรงเรียนการบิน ที่ถือใบอนุญาต CPL และยังรองานสายการบิน 1,219 คน ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนนักบินแต่อย่างใด
2. หวั่นว่าไทยจะกลับมาติดธงแดง จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อีกครั้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อตกลงตามอนุสัญญาชิคาโก 1944 และภาคผนวก ที่ใช้เป็นกรอบในการทำการตรวจสอบการดำเนินการด้านการกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของรัฐภาคี ตามโครงการ USOAP หรือ (Universal Safety Oversight Audit Program) ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินการดำเนินการของรัฐภาคี ว่าเป็นไปตามข้อตกลงตามอนุสัญญาและมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การการบินพลเรือนหรือไม่
โดยมติเกี่ยวกับเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ทางเลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)ได้เคยทำหนังสือทวงถามท่าทีของประเทศไทย ต่อมติที่แจ้งเตือนให้รัฐภาคีเข้าร่วมลงนามให้สัตยาบันในมาตรา 83 อนุ ของอนุสัญญาดังกล่าว และนำมาออกเป็นกฎหมายภายในประเทศ เพื่อรองรับข้อมติดังกล่าวในเรื่องการถ่ายโอนอำนาจและขอบเขตในการกำกับดูแลและความรับผิดชอบของรัฐในกรณีมีการเช่าเครื่องบินที่จดทะเบียนในรัฐหนึ่งมาดำเนินการในอีกรัฐหนึ่ง
ทางสมาคมนักบินไทย ในฐานะสมาคมวิชาชีพด้านการบิน ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงกังวลว่าหากมีการอนุญาตให้มีการดำเนินการเช่าเหมาลำตามเงื่อนไขดังกล่าว ด้วยการพิจารณาอนุญาตให้ทำการเช่าเครื่องบินจากรัฐอื่นเข้ามาทำการบินในนามของผู้ได้รับใบอนุญาตดำเนินการเดินอากาศที่ออกให้ โดยที่ประเทศไทยที่ยังมิได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาในมาตราดังกล่าวนั้น อาจทำให้ไทยเสี่ยงติดธงแดงอีกครั้งได้ โดยสมาคมยังยืนยันว่ารัฐบาลไทยต้องเข้าร่วมเป็นภาคีมาตรา 83 อนุ และออกกฎหมายที่สอดคล้องกับ ICAO ในเรื่องนี้นั่นเอง
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,052 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567