สมาคมนักบินไทยร้องรัฐบาลแก้ปัญหา Pay to Fly สายการบินเก็บ 6 ล้าน แลกงานนักบิน

03 ก.ย. 2567 | 21:00 น.

สมาคมนักบินไทยร้องรัฐบาลใหม่ แก้ปัญหา Pay to Fly กรณีบางสายการบิน เปิดรับสมัครนักบิน แต่จะต้องจ่าย 6 ล้านบาท เพื่อให้ได้งานนักบิน รวมถึงกรณีบางสายการบินขอใช้นักบินต่างชาติที่มาพร้อมกับเครื่องบินแบบ Wet Lease กระทบนักบินไทยที่ยังว่างงานกว่า 2 พันคน เสี่ยงไทยติดธงแดง

กัปตัน ธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมนักบินไทย เผยว่า สมาคมนักบินไทย อยากเสนอรัฐบาลและครม.ใหม่ใน 3 เรื่องหลัก เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจด้านการบินของไทย ได้แก่

1.อยากให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนสายการบิน จัดหาเครื่องบินแบบ Dry Lease  (เช่าเครื่องบินเปล่า) มากกว่า Wet Lease (เช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน) ในปัจจุบันการจัดหาเครื่องบินในตลาดโลกที่ขาดแคลน เหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทยในปัจจุบัน

เนื่องจากในขณะนี้มีสายการบินหนึ่งของไทย ได้ทำเรื่องไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอใช้นักบินต่างชาติ ซึ่งเป็นการเช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน (Wet Lease) เพื่อทำการบินในประเทศเป็นการชั่วคราว ซึ่งไม่เพียงผิดกม.แรงงานที่กำหนดว่านักบินเป็นอาชีพสงวนของคนไทย

กัปตัน ธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ

แต่ยังจะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ไทยกลับมาติดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพราะอนุสัญญาชิคาโก มาตรา 83 ที่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในประเทศภาคีที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ 

ประกอบกับปัจจุบันไทยยังมีนักบินที่ตกงานอยู่กว่า 1,736 คน จากผลกระทบของโควิด-19  และนักเรียนที่จบใหม่และยังว่างงานอยู่ จากการผลิตนักบินใหม่ของโรงเรียนการลินที่เกินความต้องการของตลาดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วมีรวมกันกว่า 2 พันคน จึงควรจะพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนด้วย

ไม่ใช่อ้างแต่เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้วจะมาปลดล็อกกม.หรือยกเว้นให้ชั่วคราว แล้วมาสร้างผลกระทบตามมา เพราะต่อไปถ้าสายการบินนี้ทำได้ ต่อไปสายการบินอื่นก็ทำได้เช่นกัน

2. อยากให้รัฐบาลมีการยกเว้นประเด็นในบางเรื่องของการผลิตบุคคลากรด้านการบิน ตามกฏระเบียบใหม่ Thailand Civil Aviation Regulation ด้าน Personnel Licensing (TCAR) ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT  โดยสมาคมฯอยากขอให้มีการยกเว้นข้อกำหนดที่ต้องใช้ใบสำคัญทางการแพทย์ ในการต่อใบอนุญาตินักบิน ให้กับกลุ่มนักบินที่เกษียณแล้ว  แต่มาทำหน้าที่สอนบิน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้ขึ้นบิน อยากมากก็สนอในเครื่องฝึกบินจำลองเท่านั้น ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนครูผู้สอนได้เพิ่มขึ้น 

3. อยากให้รัฐบาลลงมาให้ความสนใจกับปัญหา Pay to Fly อย่างจริงจัง ซึ่งบางสายการบิน เริ่มเปิดรับสมัครนักบิน แต่จะต้องจ่ายต่อคนรวมกว่า 6 ล้านบาท  เป็นค่าเรียนนักบินพาณิชย์ตรี 3 ล้านบาท ค่า Type rating (สอบการฝึกบินในเครื่องบินในแบบที่จะทำการบิน) อีก 3 ล้านบาท ทำให้เป็นกำแพงที่กีดกันคนที่มีความรู้ความสามารถไม่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมได้

เรื่องนี้เป็นการใช้ช่องว่างทางกฏหมาย ที่จะส่งผลต่อคุณภาพ เกิดการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม และความปลอดภัยในระยะยาว จากการที่นักบินต้องเป็นหนี้กว่า 6 ล้านบาท โดยยอมจ่ายเงินไปก่อน ก็จะทำให้เป็นความเครียดของนักบินได้ หากไม่มีเงินเพียงพอต่อค่าครองชีพ

ดังนั้นจึงอยากให้มีเจ้าภาพมาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เพราะยังมีบางโมเดลในอดีตที่พอจะรับได้ เช่น บางสายการบินจัดหาแหล่งเงินทุนให้นักบิน มาฝึกบิน แล้วไปผ่อนจ่ายกับสถาบันการเงิน ซึ่งเรื่องนี้สมาคมฯเข้าใจได้ เพราะสายการบินคงไม่สามารถให้ทุนนักบินทุกคนได้ ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น