ปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT หรือ ทอท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อขยายศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิในระยะ 10 ปี (ปี 2567-2577) รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 150 ล้านคนต่อปี ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา วงเงินจัดจ้าง 170 ล้านบาท เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนในปัจจุบัน
โดยในขณะนี้มี 2 โครงการใหม่ที่ชัดเจนแล้วว่าทอท.จะเดินหน้าลงทุนแน่นอน ได้แก่
1. การขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก หรือ East Expansion วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งทอท.จะดำเนินการเปิดประมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 คาดจะรู้ผลและเซ็นสัญญาได้ไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2568 คาดเริ่มก่อสร้างในกลางปี 2568 แล้วเสร็จในเดือนกรกฏาคม 2571
ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ได้อีก 8.1 หมื่นตร.ม. รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน ทำให้ขีดความสามารถรวมของสุวรรณภูมิจาก 65 ล้านคน/ปี เพิ่มเป็น 80 ล้านคน/ปี
2. การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของสนามบิน หรือ South Terminal พร้อมรันเวย์ 4 วงเงินลงทุนรวม 1.7 แสนล้านบาท (เฉพาะการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท) คาดประมูลก่อสร้างในปลายปี 2570 แล้วเสร็จในปี 2575
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารอีก 70 ล้านคนต่อปี เป็นรูปแบบ Mega Terminal เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ใกล้อาคารผู้โดยสาร โดยมีระบบทางด่วนและรถไฟฟ้า เชื่อมเข้าอาคารด้านทิศใต้โดยตรง
ในส่วนของโครงการลงทุนอื่นในสนามบินสุวรรณภูมิ อย่าง ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก หรือ West Expansion เพื่อเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลักเป็น 5.6 แสนตรม. รวมถึงอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2 ) ทอท.อยู่ระหว่างการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อพิจารณาว่าสมควรจะลงทุนใน 2 ส่วนนี้อีกหรือไม่
“ปัจจุบัน AOT มีแผนจะลงทุนส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก รวมถึงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมอยู่แล้ว รวมถึงการก่อสร้างรันเวย์ 4 ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ดังนั้นเราจึงต้องมาทบทวนความเหมาะสม ว่าถ้าเรามีการเพิ่มการลงทุนใหญ่ๆเหล่านี้ไปแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก และ SAT-2 หรือไม่ โดยต้องพิจารณาความต้องการทั้ง Air side และ Land side ด้วย คาดว่าการทบทวนแผนแม่บทจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในเดือนเมษายน 2568” นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ตามแผนเดิม การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีโครงการลงทุนส่วนต่อขยายด้านตะวันตก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (West Expansion) ที่จะเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลักเป็น 5.6 แสนตารางเมตร รวมถึงก่อสร้าง อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2 ) แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวน ซึ่งพื้นที่เดิมที่จะใช้เป็น SAT-2 ก็อาจจะปรับมาให้บริการเที่ยวบินสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้าทางอากาศหรือเที่ยวบินคาร์โก้ โดยเฉพาะ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่การขยายสนามบินที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการก่อสร้างเท่านั้น ในระหว่างเพื่อรองรับดีมานต์ของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง AOT ยังเน้นการทำเทคโนโลยี มาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้โดยสารที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้ง Self Check-in (Kiosk) จำนวน 250 เครื่อง ติดตั้งระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) จำนวน 40 จุด ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) 80 จุด และจะเพิ่มอีก 120 จุดในอนาคต
ทั้งยังมีเป้าหมายจะเปิดใช้ระบบ Autogate ทั้งหมดสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ เหมือนกับสนามบินชางงีที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากที่ปัจจุบันระบบดังกล่าวสามารถช่วยลดระยะเวลารอคอยผู้โดยสารขาออกให้เหลือเพียง 2 นาที/คน จากเดิมที่ 30-40 นาที/คน
นอกจากนี้ทอท. ได้เตรียมศึกษาแผนเปิดใช้งานระบบ Early Check-in ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง สำหรับทุกสายการบินเพื่อลดความแออัดและเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มาก่อนเวลา หากศึกษาแล้วเสร็จคาดว่าจะเปิดใช้ได้ในช่วง ก.พ.68
ทั้งยังเตรียมเปิดให้บริการพื้นที่พักผ่อนใหม่ภายในสนามบิน โดยเป็นพื้นที่ให้ผู้โดยสารพักคอย และ Co-working Space ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางในการให้บริการผู้โดยสารมากขึ้น คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.67 รวมถึงสนามเด็กเล่นมีกำหนดแล้วเสร็จช่วง ก.พ.68 นี้อีกด้วย
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,053 วันที่ 15 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2567