ปิดฉากท่องเที่ยวไทยปี 2567 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่า ประเทศไทยจะมีรายได้ จากการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท ไม่ถึง 3 ล้านล้านบาท อย่างที่ต้องการ
อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลก เงินบาทแข็งค่า และหลายประเทศออกมาตรการแข่งขันในการดึงดูดนักท่องเที่ยว อาทิ วีซ่าฟรี การอ่อนค่าของเงินเยน แต่ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย ถือว่า ทะลุเป้า 35 ล้านคนที่วางไว้
นี่เองจึงทำให้เป้าหมายการท่องเที่ยวของไทยใน ปี 2568 ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าการเติบโตอยู่ที่ 7.5% จากฐานรายได้ปี 2567 ส่งผลเป้าหมายการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้จึงอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท ยังไม่กลับมาแตะระดับ 3 ล้านล้านบาทเหมือนในปี 2562
ขณะที่ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวททท.ได้รับเป้าหมายเชิงนโยบายจากรัฐบาลในการขับเคลื่อนให้ต่างชาติเที่ยวไทย 40 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1 ล้านคน จากเป้าหมายของททท.ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 39 ล้านคน
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ททท.ตั้งเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวในปี 2568 อยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท เติบโต 7.5% จากฐานรายได้จริงตลอดปี 2567 ที่น่าจะปิดรายได้ที่ 2.6 ล้านล้านบาท
โดยแบ่งเป็นรายได้ตลาดต่างประเทศ 1.7 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเกิน 35 ล้านคน และรายได้ตลาดในประเทศ คาดว่าจะปิดที่ราว 9 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวชาวไทยราว 198 ล้านคน-ครั้ง
แม้เป้าหมายรายได้ในปี 2568 จะยังไม่กลับไปแตะระดับ 3 ล้านล้านบาทเท่าปี 2562 ก่อนโควิด-19 แต่ประเทศไทยก็ยังติดอันดับประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุดติด 1 ใน 14 ของโลก
เนื่องจากมีปัจจัยท้าทายเรื่องภาวะสงครามในหลายพื้นที่ ภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน ที่มีมาตรการยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยว (วีซ่า) รวมไปถึงการอ่อนค่าของเงินเยน เป็นตัวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเยือนมากขึ้น
ดังนั้นในปี 2568 การท่องเที่ยวของไทยจะต้องมุ่งทำตลาดนักท่องเที่ยวใช้จ่ายสูงมากขึ้น เจาะกลุ่มลักชัวรีมากขึ้น หลังในบางพื้นที่ เช่น ภูเก็ต ที่ผู้ประกอบการสะท้อนภาพว่าแม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว ต่างชาติน้อยลง แต่ในเชิงมูลค่าหรือรายได้ ถือว่าได้มาสูงขึ้น
สำหรับในแง่ของนักท่องเที่ยว ททท.ตั้งเป้าหมายปี 2568 ในกรณีดีที่สุดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 39 ล้านคน แต่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้มอบเป้าหมายเชิงนโยบายผลักดันไปให้ถึง 40 ล้านคน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวไทย
ส่วนเป้าหมายคนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศ หรือ ไทยเที่ยวไทย ตั้งไว้ที่ 20 ล้านคน-ครั้ง โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมคิกออฟโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ในปี 2568
นอกจากนี้กระทรวงการคลังเตรียมออกมาตรการ Easy e-Receipt 2568 อีกครั้ง เริ่มลดหย่อนภาษีตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. – 28 ก.พ. 2568 โดยต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ลดหย่อนภาษี ในวงเงิน 50,000 บาท
แบ่งการใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การใช้สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค วงเงิน 30,000 บาท ส่วนวงเงินอีก 20,000 บาท เป็นการใช้จ่ายผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและโอท็อป
สำหรับแคมเปญใหญ่ในปี 2568 ททท.จะส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้ “Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025” มุ่งยกระดับประเทศไทยสู่ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและกีฬาระดับโลก” ด้วยการขับเคลื่อนกิจกรรม และนโยบายที่มุ่งสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทย
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าว ปี 2568 จะเป็นปีที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในด้านการขยายฐานนักท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศและตลาดภายในประเทศ
โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ (ประเทศในเอเชีย) จะมีจำนวนราว 29 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 77.5% และจากตลาดระยะไกล (ตลาดยุโรป, อเมริกา) จำนวน 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 22.5%
ประเทศไทยต้องเป็น Tourism Hub และเป็น Destination ของนักท่องเที่ยว ทั่วโลกสอดรับกับ Thailand Aviation Hub โดยแผนของในการส่งเสริมและกระตุ้นท่องเที่ยวในปี 2568 ของททท. จะเปิดแคมเปญ “Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025” การกระตุ้นความถี่ และการใช้จ่ายในการเดินทางของคนไทย
ปักธงพื้นที่ตลาดใหม่ กระตุ้นความถี่และการใช้จ่ายตลาดหลัก การขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ การผลักดันอย่างต่อเนื่อง ด้าน Ease of Travelling และการสร้างสมดุลย์การขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน อาทิ การขยายพื้นที่โครงการ Sustainabel Tourism Goal (STAR)
การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในปี 2568 ททท. ได้เตรียมแผนการจัดกิจกรรมใหญ่ภายใต้แคมเปญ “Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025” ซึ่งจะมีความร่วมมือจากกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยมี 5 Grand เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ได้แก่
1. Grand Festivity : จัดให้มีกิจกรรมใหญ่ตลอดทั้งปี เพราะจะเป็นจุดขายหลักในการดึงนักท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ครบทุกช่องทางมากที่สุด
2. Grand Moment : การนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวมอบประสบการณ์ใหม่ ๆที่ไม่เคยมีมาก่อนและพิเศษสุดแบบ Very VIP
3. Grand Privilege : รวมช็อปปิ้ง แพ็กเกจทัวร์ ตั๋วเครื่องบิน และช่องทางการจ่ายเงินที่สะดวกและไร้รอยต่อ
4. Grand Invitation : การเชิญบุคคลระดับโลกมาเยือนประเทศไทยตลอดปี อาทิ นักร้อง นักดนตรีระดับโลก นักกีฬาระดับตำนาน นักเขียน รางวัลโนเบล มาท่องเที่ยวและแชร์ประสบการณ์
5. Grand Celebration : การจัดงานเฉลิมฉลองในเทศกาลต่าง ๆ การฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต และความร่วมมือกับพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ รวมถึงการฉลองความสำเร็จในด้านต่างๆ
การเปิดตัวกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มจำนวนการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย พร้อมสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครให้แก่นักท่องเที่ยว
อีกทั้งททท. ยังเน้นการขับเคลื่อนเมืองน่าเที่ยวด้วยพลัง Soft Power เสน่ห์ไทย สร้างกระแสการเดินทาง ท่องเที่ยว 5 ภูมิภาค ชูเสน่ห์ไทย และ 5 Must Do In Thailand ได้แก่ Must Taste, Must Try,Must Buy,Must Seek,Must See เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม เพิ่มเติมลูกค้าใหม่
รวมทั้งตั้งเป้าส่งเสริมให้มีการเพิ่มเที่ยวบินเข้าไทย และยกระดับเส้นทางการบินเพื่อเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,057 วันที่ 29 ธันวาคม 2567 - 1 มกราคม พ.ศ. 2568