ทิศทางการท่องเที่ยวของไทยในปี 2568 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 7.5 % สร้างรายได้อยู่ที่ 2.8 -3.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2567
แม้ว่าในปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของไทย จะปิดรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติเที่ยวไทย และคนไทยเที่ยวในประเทศ อยู่ที่ 2.62 ล้านล้านบาท พลาดเป้าไปราว 3.8 แสนล้านบาท จากเป้าหมาย 3 ล้านล้านบาทก็ตาม แต่ในปีที่ผ่านมาก็นับว่าเป็นปีที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาใกล้กับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มากแล้ว และเติบโตกว่าปี 2566 อย่างมีนัยสำคัญ
ในแง่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยในปีที่ผ่านมา ทะลุเป้าหมาย 35 ล้านคน ตามที่วางไว้ ซึ่งปิดอยู่ที่ 35.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26.27 % สร้างรายได้ 1.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 34 % โดยอันดับ 1 ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจีน 6.73 ล้านคน ตามมาด้วย มาเลเซีย 4.95 ล้านคน อินเดีย 2.12 ล้านคน เกาหลีใต้ 1.86 ล้านคน รัสเซีย 1.74 ล้านคน ขณะที่ไทยเที่ยวไทยอยู่ที่ 198.69 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 7.02% สร้างรายได้ 9.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.03 %
ขณะที่การเริ่มต้นปี 2568 ก็ยังพบว่าการท่องเที่ยวยังคงเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1-5 มกราคม 2568 พบว่า ต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยแล้ว 505,411 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.20 % สร้างรายได้ 25,299 ล้านบาท โดยอันดับ 1 ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวไทย คาดว่าจะมีจำนวน 2.85 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวไทยแล้วประมาณ 13,710 ล้านบาท
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป้าหมายการท่องเที่ยวและกีฬา ในปีนี้ จะอยู่ภายใต้แคมเปญ “Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025” โดยในแง่ของการท่องเที่ยว ผมยังจะให้ททท.ยังคงเป้าหมายเดิมในการสร้างรายได้รวมอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท
ถ้าทำได้ก็มอบหมายให้ททท.ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยให้ได้ 40 ล้านคน แม้ปี 2567 จะทำได้ 2.67 ล้านล้านบาท หลุดเป้าสูงสุดที่วางไว้ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะเราพยายามทุกอย่างที่จะทำให้ถึงเป้า ปีนี้ก็ต้องพยายามอย่างต่อเนื่อง
ไฮไลท์ในปีนี้จะเป็นปี “Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025” กระทรวงฯจะผสมผสานระหว่างการท่องเที่ยวและกีฬาไปพร้อมๆกัน อย่างในด้านกีฬา ก็จะมีการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติหลายรายการ อาทิ การแข่งขันกอล์ฟ LPGA ,โมโตจีพี ,วอลเลย์บอลเวิลด์แชมเปียนชิพ ,ซีเกมส์ ที่ถูกบรรจุไว้แล้ว
นอกจากนี้ระหว่างทางก็อาจจะมีการจัดการแข่งขันอื่นๆเข้าเมาเสริม เช่น ก่อนจะมีซีเกมส์ อาจจะมีงานวิ่งงานใหญ่ เหมือนวิ่งผ่าเมือง เมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้จะเป็นลีก ซึ่งอาจจะเป็นของ “อิลิอุด คิปโชเก้” ตำนานนักวิ่งมาราธอนโลก ซึ่งกําลังหารือกันอยู่
ในด้านของการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ กำลังเร่งหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำโครงการที่คล้ายๆกับ“เราเที่ยวด้วยกัน” เฟสใหม่ โดยขณะนี้ให้ททท.ไปทำกรอบโครงการขึ้นมา เบื้องต้นหารือว่ารัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พักให้ 50 % และประชาชนจ่ายเอง 50 % ที่จะนำมากระตุ้นในช่วงโลว์ซีซัน โดยน่าจะใช้วงเงินใกล้เคียงกับเราเที่ยวด้วยกันในยุคอดีตนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งงวดที่แล้วใช้งบไปประมาณ 28,000 ล้านบาท
การจัดทำโครงการที่คล้ายๆกับเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะเกิดขึ้น ในรัฐบาลนี้ ก็จะแบ่งการลงทะเบียนออกเป็นเฟสเหมือนครั้งก่อน เพื่อให้คนเกิดความกระตือรือร้น และเป็นเรื่องของการตลาดด้วย แต่ครั้งนี้เราจะต้องมีการปรับปรุงระบบ และอุดช่องโหว่ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1 ปีนี้
“ผมมองว่าโครงการนี้จะกระตุ้นไทยเที่ยวไทยในปีนี้ได้มาก หลังจากปีที่ผ่านมา เรามีรายได้จากไทยเที่ยวไทยราว 9 แสนล้านบาท ไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท จากปัญหาของสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก แต่ในปีนี้จากปัจจัยสนับสนุนด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท และนโยบายต่าง ๆที่จะออกมา จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน และเที่ยวได้มากขึ้นแน่นอน”
นายสรวงศ์ ยังกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันในปีนี้ กระทรวงท่องเที่ยวฯ เตรียมปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายต่างๆที่ไม่เอื้อกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบัน โดยจะเสริมเติมแต่งปรับปรุง เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และดึงธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้มากที่สุด
เพราะผมมองว่าถ้าสามารถนำคนที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบให้มากที่สุด จะทำให้สามารถดึงรายได้เข้ามารวมอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้ เพราะที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเลขที่หายไป จะออกไปอยู่นอกระบบค่อนข้างมาก เราจึงอยากจะทำให้เกิดความคล่องตัว
โดยเฉพาะกฏหมาย หรือพ.ร.บ.โรงแรม ที่ปัจจุบันเอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก โฮมสเตย์ และที่พักประเภท Airbnb ก็ไม่สามารถเข้ามาอยู่ในระบบได้ ทำให้ไม่ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆเหมือนโรงแรมใหญ่ อย่าง เรื่องการเยียวยา การจัดหาแหล่งทุน soft loan ต่างๆ ในกรณีประสบภัยพิบัติ ซึ่งต้องปรับใหม่
โดยอาจจะแก้พ.ร.บ.โรงแรม ให้อัพเดตกับปัจจุบัน และจะมีการออกกฏหมายลูกเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย เช่น โฮมสเตย์ และที่พักประเภท สามารถเข้าสู่ระบบได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้การจัดเก็บรายได้จากภาคการท่องเที่ยวมีความครอบคลุมและสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงมากขึ้น
อีกทั้งสิ่งที่จะผลักดันในปีนี้ คือ การโปรโมทการเชื่อมโยงเมืองใหญ่ ไปยังเมืองน่าเที่ยว เพื่อกระจายการเดินทางท่องเที่ยวสู่เมืองน่าเที่ยว โดยได้มีการหารือกับหน่วยงานต่างๆและผู้ประกอบการเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ระบบขนส่งมวลชนต่างๆในการเชื่อมเมืองใหญ่ไปรอบๆเมืองน่าเที่ยวต่างๆ การกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวไทยตลอดทั้งปี ไม่อยากให้มีช่วงโลว์ซีซัน โดยจะจัดกิจกรรมต่างๆสำหรับหน้าฝน เพื่อดึงให้เกิดการท่องเที่ยว
รวมไปถึงการนำเรื่องเสนอรัฐบาลที่จะต่อระยะเวลาการยกเว้นวีซ่าเที่ยวไทย หรือ วีซ่าฟรี ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้ ออกไปอีก อย่าง จีน ซึ่งถือเป็นปีสำคัญ เพราะครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน อีกทั้งยังต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน ระหว่าง การท่องเที่ยว การกีฬา และวัฒนธรรม ให้มากขึ้น รวมถึงหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการเปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้รองรับการท่องเที่ยวมากขึ้น ภายใต้มาตรการควบคุมที่เหมาะสม
ด้านนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ ททท. ตั้งเป้าการเติบโตอยู่ที่ 7.5% จากฐานรายได้ปี 2567 ส่งผลเป้าหมายการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้จึงอยู่ที่ 2.8 -3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งททท.จะต้องพยายามผลักดันให้ได้ 3 ล้านล้านบาท
ททท.ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวกรณีดีที่สุด 39 ล้านคน ขณะที่เป้าเชิงนโยบายอยู่ที่ 40 ล้านคน โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ อาทิ เอเชีย จะมีจำนวนราว 29 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 77.5% และจากตลาดระยะไกล อาทิ ตลาดยุโรป, อเมริกา จำนวน 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 22.5%