ศึกชิงธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน 2.2 แสนล้านบาท การบินไทยจับมือบางกอกแอร์เวยส์ จ่อทุ่ม 1 หมื่นล้านบาท ลงทุน MRO อู่ตะเภา ด้านอีอีซี ยันจะใช้วิธีเปิดให้เช่าพื้นที่ เชิญเข้ามาลงทุน ขณะที่ CAAT-ทอท.วางแผนแม่บทดึงลงทุนศูนย์ซ่อมสนามบินสุวรรณภูมิ ด้าน ฟอร์ท เอ็มอาร์โอ สนามบินดอนเมือง รวมถึงโรงซ่อมเครื่องบินที่เชียงราย จะเริ่มก่อสร้างในปีนี้
การลงทุนธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยานในไทย
ก่อนโควิด-19 แอร์บัส ประเมินว่า ภายในปี 2030 การซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้นประมาณ 64,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่มีฝูงบินใหญ่ ทั้งสายการบินแห่งชาติของอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย 141 ลำ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ 111 ลำ การบินไทย 89 ลำ มาเลเซีย 72 ลำ ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ 55 ลำ และ เวียดนาม แอร์ไลน์ 87 ลำ
รวมถึงฝูงบินของสายการบินต้นทุนต่ำในอาเซียน ที่มีจำนวนมาก ส่งผลให้ MRO ในอาเซียน มีมูลค่าตลาดมากกว่า 6,570 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 2.2 แสนล้านบาท โดยประเทศสิงคโปร์ยังคงเป็นเจ้าตลาดอยู่ที่ 25%
ล่าสุดการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul)หรือMRO ในประเทศไทย เริ่มขยับตัวครั้งใหญ่ เมื่อบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีแผนจะร่วมมือกับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บางกอกแอร์เวย์ส พัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา
ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศ หรือ CAAT และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. มีแผนจะเปิดพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อดึงให้เกิดการลงทุนMRO เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค
รวมทั้งทอท.ยังได้ร่วมทุนจัดตั้ง Forth MRO ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และการให้บริษัท เชียงรายเอเวชั่น โฮวดิ้งส์ จำกัด เช่าพื้นที่เพื่อลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ท่าอากาศยานเชียงราย ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเช่นกัน
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การบินไทย ได้ยื่นแสดงเจตจำนงค์ไปยังสำนักงานคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ถึงความประสงค์ในการเข้าร่วมลงทุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา
โดยการบินไทย และบางกอกแอร์เวย์ส ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือทางธุรกิจโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งนี้ร่วมกันแล้ว เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ชาย เอี่ยมศิริ
รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการบิน โดยคำนึงถึงรูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โอกาสและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ คาดว่าจะใช้เวลาจะศึกษาแล้วเสร็จราว 3 เดือน
นายชาย ยังกล่าวต่อว่า นอกจากการสร้างรายได้จากธุรกิจการบินแล้ว ในปีนี้การบินไทยจะให้ความสำคัญในการลงทุนและสร้างรายได้จากหน่วยธุรกิจ หรือ บิสิเนส ยูนิต ให้เพิ่มขึ้น ไฮไลท์การลงทุนใหญ่ในปีนี้ คือ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งการบินไทย จึงเสนอตัวเข้าลงทุนในโครงการนี้
ทั้งยังสอดรับกับความต้องการของอีอีซี ที่ต้องการให้ศูนย์ซ่อมแห่งนี้เป็นการลงทุนของคนไทยเป็นหลัก และมีความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ ก็ดำเนินศูนย์ซ่อมอยู่แล้วในปัจจุบัน
ทั้งนี้หากเปิดศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา ก็จะมีลูกค้าทันที เพื่อมารองรับการขยายฝูงบินของการบินไทยและการซ่อมบำรุงเครื่องบินของบางกอกแอร์เวย์ส ทั้งยังสามารถรองรับการซ่อมบำรุงของสายการบินต่างๆได้ โดยไม่ต้องนำเครื่องบินไปซ่อมที่ต่างประเทศ
ตามแผนของการบินไทยการลงทุน MRO สนามบินอู่ตะเภา พื้นที่ 220 ไร่ จะใช้งบลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกใช้งบลงทุนประมาณ 70% คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2568 เริ่มต้นด้วย 3 โรงซ่อมอากาศยาน 1 โรงซ่อม สามารถจอดซ่อมเครื่องบินได้ 3 ลำพร้อมกัน และยังมีโรงซ่อมทำสีเครื่องบินอีก 1โรงซ่อม
โดยศูนย์ซ่อมแห่งนี้จะมีศักยภาพในการซ่อมเครื่องบินได้ทุกประเภท ทั้งเครื่องบินลำตัวกว้าง (Wide Body) และเครื่องบินลำตัวแสบ (Narrow Body) ส่วนเฟส 2 ก็จะสร้างเพิ่มอีก 1 โรงซ่อม ซึ่งเฟสแรกคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2571 สร้างรายได้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ
ต่อเรื่องนี้นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กล่าวว่า โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา ทางอีอีซี ได้ทำเรื่องเสนอครม.ไปพักใหญ่แล้ว เพื่อขอให้ยกเลิกการให้สิทธิการบินไทย ลงทุนในโครงการนี้ เนื่องจากการบินไทยพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว
ทั้งนี้หากครม.มีมติเห็นชอบ ทางอีอีซี ก็จะเปิดให้เช่าพื้นที่ โดยใช้วิธีเชิญให้บริษัทที่มีใบรับรองการดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อมที่ได้มาตรฐานในไทย ให้เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะเชิญผู้ประกอบการไทยก่อน เนื่องจากมีฐานในการซ่อมบำรุงในไทยอยู่แล้ว ทั้งการบินไทย และบางกอกแอร์เวย์ส ทั้ง 2 รายก็ไลเซ้นท์ในการดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยานในไทยอยู่แล้ว
ขณะที่พล.อ.อ.มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เปิดเผยว่า กพท. มีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul) หรือ MRO ให้เกิดขึ้นในท่าอากาศยานของไทย โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ตามนโยบายรัฐบาล
พล.อ.อ.มนัท ชวนะประยูร
สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดบริการมา 18 ปีแล้ว แต่กลับไม่มี MRO ที่จะให้บริการกับสายการบินต่างๆ โดยปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในการซ่อมบำรุงอากาศยานค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก CAAT จึงเตรียมจัดทำแผนแม่บท (Master Plan)เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานไทยประมาณ 1 ปี เบื้องต้นประกอบด้วย การส่งเสริมการซ่อมบำรุงขนาดเล็ก ขนาดกลาง และการยกเครื่อง โดยจะใช้พื้นที่ในเขตสนามบินสุวรรณภูมิด้านใต้ประมาณ 700 ไร่ แบ่งมาใช้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดเล็ก ขนาดกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกสายการบินต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาตรวจเช็กเบื้องต้น
อาทิ เครื่องบินมาถึงไทยเย็นๆ ค่ำๆ ตรวจเช็กเบื้องต้น และบินออกไปช่วงเช้า รวมถึงจะให้เป็นแหล่งฝึกอบรมทุกมิติเกี่ยวกับการบิน อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการฝึกบินจำลองสำหรับวิศวกรรมการบิน ศูนย์ฝึกช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะเป็นการดึงให้สายการบินจากทั่วโลกมาใช้ สนามบินสุวรรณภูมิเป็นฮับการบิน การลงทุนก็อาจเป็นในรูปแบบ PPP ระหว่างทอท.กับเอกชน
ส่วนที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา จะจัดเป็นพื้นที่การซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ หรือซ่อมแบบยกเครื่อง ทั้งนี้อุตสาหกรรม MRO จะช่วยลดการสูญเสียรายได้ในการส่งอากาศยานไปซ่อมบำรุงที่ต่างประเทศ และยังดึงดูดผู้ประกอบการทั้งใน และต่างประเทศให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย จะทำให้ท่าอากาศยานของไทยเป็นท่าอากาศยานที่ครบวงจร แผนการขับเคลื่อนการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินสุวรรณภูมิ
สอดคล้องกับทอท.ที่มีแผนในการเปิดพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาลงทุนธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน ในสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่การบินไทย เปิดให้บริการอยู่แล้ว เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินของสายการบินต่างๆได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ Maintenance Repair Overhaul ( MRO)
โดยทางสนามบิน มีพื้นที่ทั้งด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ในการผลักดันการลงทุนให้เกิดขึ้น โดยพื้นที่ด้านทิศใต้ 3.5 แสนตรม.สามารถรองรับเครื่องบินได้ 18 ลำ ส่วนทางทิศเหนือ จะมีพื้นที่ 1.25 แสนตรม. สามารถทำศูนย์ซ่อม MRO รองรับเครื่องบินได้ 6 ลำ และ พื้นที่ราว 1.5 ตรม. สามารถสร้างโรงซ่อมอากาศยาน รองรับเครื่องบินได้ 8 ลำ
ขณะเดียวกัน ทอท.แตกไลน์ธุรกิจมาร่วมลงทุนในธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน ที่สนามบินดอนเมือง บนพื้นที่ 20,136 ตรม.(พื้นที่เช่าตามสัญญา) ภายใต้ชื่อ บริษัท ฟอร์ท เอ็ม อาร์โอ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งทอท.ร่วมลงทุนกับ Forth MRO ทอท.ถือหุ้น 25% Forth ถือหุ้น 75% เพื่อดำเนินธุรกิจโรงเก็บอากาศยาน และซ่อมบำรุงอากาศยานระดับ A-check (Light Maintenance) ถึง C-check (Heavy Maintenance) สำหรับเครื่องบินลำตัวแคบ อาทิ แอร์บัส เอ 320 หรือเล็กกว่า ลงทุน 905.41 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้ออาคารคลังสินค้าหมาย 3 เพื่อก่อสร้างโครงการ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาส 1 ปี 2568 ประมาณ เปิดให้บริการไตรมาส 2 ปี 2571
อีกทั้งทอท.ยังให้เปิดพื้นที่ให้เอกชนลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ที่จ.เชียงราย พื้นที่ 80,000 ตรม.(พื้นที่เช่าตามสัญญา) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เชียงราย เอเวชั่น โฮลดิ้ง จำกัด เงินลงทุนประมาณ 817.17 ล้านบาท โดยขอบเขตการให้บริการ การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับ A-check (Light Maintenance) ถึง C-check (Heavy Maintenance) จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 3 ปี 2568 คาดว่าจะเปิดให้บริการในไตรมาส 2 ปี 2570