ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ สำนักงาน อีอีซี เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนิน โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO)
“เดิมทีการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุง MRO นี้ มีลักษณะเป็น PPP คือ บมจ.การบินไทย ร่วมกับแอร์บัส แต่ปัจจุบันการบินไทยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้ว สำนักงาน อีอีซี จึงเตรียมนำเอาโครงการมาพัฒนาเอง เพื่อให้ทันกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และรันเวย์ที่ 2 สร้างเสร็จ เครื่องบินจะได้เข้ามาใช้ศูนย์ซ่อมได้ทันที โดยจะขอปลดล็อคมติครม.ก่อน เพื่อให้พื้นที่กลับมาเป็นของอีอีซี แล้วจากนั้นจึงนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป” ดร.จุฬา ระบุ
ดร.จุฬา กล่าวว่า การขอยกเลิกมติครม. เกี่ยวกับการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ครั้งนี้ มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ โดยสำนักงานอีอีซี จะเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจจากทั่วโลก เข้ามาร่วม ประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) เบื้องต้นสำนักงานฯ จะนำรายละเอียดเสนอให้บอร์ด กพอ. พิจารณาได้ในเร็ว ๆ นี้ จากนั้นจึงเสนอที่ประชุมครม. พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ยืนยันว่า ในการดึงนักลงทุนที่สนใจเกี่ยวกับการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานนั้น จะเปิดให้นักลงทุนทุกราย และถ้าบมจ.การบินไทย ยังสนใจเข้ามาลงทุนในโครงการ MRO ก็สามารถเข้ามาร่วมประมูลได้ตามปกติ เพื่อให้มีการแข่งขันกันอย่างโปร่งใสเป็นธรรม
เลขาธิการ อีอีซี ระบุว่า ปัจจุบันสายการบินในภูมิภาคต้องมีความต้องการใช้บริการศูนย์บำรุงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินแบบลำตัวแคบ ซึ่งในภูมิภาคมีอยู่ไม่กี่แห่ง ดังนั้นถ้าเร่งดำเนินโครงการ MRO ซึ่งเดิมมีแผนอยู่แล้วให้เกิดขึ้นทันกับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จะช่วยสร้างโอกาสให้กับประเทศ และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินของไทยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภานั้น ก่อนหน้านี้ ได้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมครม. ไปแล้วเมื่อปี 2561 โดยโครงการศูนย์ซ่อมฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 7,000 – 8,000 ล้านบาท โดยรายละเอียดของงานการก่อสร้างของศูนย์ซ่อมฯ ประกอบไปด้วย
ส่วนการให้บริการและการซ่อมบำรุงรักษาของโครงการศูนย์ซ่อมฯ ประกอบไปด้วย การให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน การสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการให้คำแนะนำ หรือการฝึกอบรมในเรื่องการบำรุงอากาศยานให้กับศูนย์ฝึกอบรมซ่อมบรุงอากาศยานในพื้นที่เมืองการบิน รวมไปถึงงานซ่อมบำรุงรักษาต่าง ๆ ด้วย