หนึ่งในแนวทางรัฐบาลไทย โดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุถึงการเดินหน้าเจรจากับสหรัฐอเมริกา ต่อกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขึ้นภาษีทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งถูกขึ้นภาษีนำเข้าสูงสุด 36 % เพื่อขอต่อรองการลดอัตราการจัดเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกาของประเทศไทย คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา หนึ่งในนั้นคือ อากาศยาน
ต่อเรื่องนี้ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จริงๆแล้วแผนการจัดหาฝูงบินระยะยาว ที่จะเพิ่มจำนวนเครื่องบินจากปัจจุบัน 85 ลำ เป็น 103 ลำในปี 2569 เพิ่มเป็น 116 ลำในปี 2570 โดยมีเป้าหมายระยะยาวที่ 150 ลำในปี 2576 นั้น
ในส่วนของการจัดหาอากาศยานแบบใหม่จากสหรัฐอเมริกา การบินไทยได้บรรลุข้อตกลงกับทางโบอิ้ง ในการจัดหาเครื่องบิน โบอิ้ง 787 Dreamliner ลำใหม่ 45 ลำ พร้อมเครื่องยนต์ GEnx รวมทั้งสิทธิในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมสูงสุดรวมเป็น 80 ลำ ในงานสิงคโปร์ แอร์โชว์ 2024 สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีช่วยหนุนรัฐบาลต่อรองลดภาษีกับทางสหรัฐอเมริกาได้
โดยการบินไทย ได้ตกลงกับโบอิ้ง ในการจัดหาเครื่องบิน 787 Dreamliner หรือ โบอิ้ง 787-9 ลำใหม่ 45 ลำ (Firm Order) ซึ่งเบื้องต้นได้จ่ายมัดจำไปแล้ว ยืนยันว่าจัดหาแน่นอน เครื่องบินโบอิ้ง 787 จะเข้าประจำการในฝูงบินภายใต้กรอบระยะเวลา 10 ปี นับจากปี 2567 ซึ่งโบอิ้งจะเริ่มทยอยส่งมอบเครื่องบินล็อตแรกตั้งแต่กลางปี 2570 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ยังมีอยู่ในแผนจัดหาอีกจำนวน 35 ลำ เป็น (Option) ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะพิจารณาจัดหาหรือไม่ ต้องให้สอดรับกับสถานการณ์ของตลาด
"การจัดหาเครื่องบินทั้งหมด การบินไทยอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการจัดหาเครื่องบิน ทั้งการเช่าและเช่าซื้อ โดยต้องพิจารณาถึงฐานะการเงิน และประสิทธิภาพสูงสุดในบริหารฝูงบิน เพื่อสร้างรายได้ในการดำเนินธุรกิจเป็นสำคัญ เพราะการบินไทยเป็นบริษัทเอกชน"
อีกทั้งการที่การบินไทยบรรลุข้อตกลงข้อตกลงกับโบอิ้ง ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ให้ความยืดหยุ่นในการเลือกแบบเครื่องบินต่างๆ ในตระกูล Dreamliner เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่แตกต่างกัน
รวมถึงทางเลือกในการปรับเปลี่ยนแบบเครื่องบินบางส่วนเป็นโบอิ้ง 777X เครื่องบินลำตัวกว้างรุ่นใหม่ล่าสุดที่มาพร้อมกับพิสัยการบิน ความจุผู้โดยสาร และสมรรถนะขั้นสูงสุด
ความยืดหยุ่นในการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้จะส่งผลให้การบินไทย สามารถบริหารจัดการฝูงบิน เส้นทางบิน และต้นทุนดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวเพื่อตอบรับโอกาสและความท้าทายในอนาคต